ส่องการเมืองใหม่กัมพูชา จากพ่อสู่ลูก ‘ฮุน มาเนต’

ส่องการเมืองใหม่กัมพูชา   จากพ่อสู่ลูก ‘ฮุน มาเนต’

ประเทศไทยจัดเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ถึงวันนี้ยังไม่ได้นายกรัฐมนตรี แต่กัมพูชาเลือกตั้งถัดมาสองเดือนวันที่ 23 ก.ค. ได้นายกฯ ใหม่เรียบร้อยแล้ว เขาคือ ฮุน มาเนต บุตรชาย ฮุนเซน ผู้นำที่ครองอำนาจนานที่สุดในโลกคนหนึ่ง

แม้ฮุนเซนจะลงจากตำแหน่งนายกฯ แต่ก็ไม่ได้หนีไกลไปจากการเมืองกัมพูชา เขายังเป็นประธานพรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) เป็นประธานวุฒิสภา และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หากกษัตริย์เสด็จต่างประเทศ การมีอำนาจถึงระดับนี้เมื่อมองย้อนไปในอดีตเห็นได้ว่าเส้นทางชีวิตที่ผ่านมาของฮุนเซนไม่ธรรมดาเลย

1952-1977 ปฏิวัติและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ฮุนเซนเกิดเมื่อปี 1952 ในอำเภอเล็กๆ ริมแม่น้ำโขง สมัยวัยรุ่นเคยเข้าร่วมกับเขมรแดง หรือพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา หลังจากนายพลลอนนอลรัฐประหารในปี 1970โค่นรัฐบาลกษัตริย์สีหนุ

ห้าปีต่อมากองกำลังเขมรแดงยึดกรุงพนมเปญ เนรเทศประชาชนออกจากเมืองหลวงจนกลายเป็นเมืองร้าง เขมรแดงสถาปนาลัทธิเหมาบังคับชาวกัมพูชาให้ต้องออกไปทำไร่ทำนา เกิดภาวะอดอยาก ผู้คนทำงานหนักจนเสียชีวิต บ้างก็ถูกประหาร ในช่วงนั้นประชากรกัมพูชาเสียชีวิตมากถึงหนึ่งในสี่

ฮุนเซนเกรงว่าสถานการณ์กวาดล้างกันเองในหมู่เขมรแดงเวลานั้นจะเลวร้ายลงไปอีกจึงหนีไปยังเวียดนามเพื่อนบ้านในปี 1977

1979-1991 ขึ้นสู่อำนาจ

ม.ค.1979 ฮุนเซนเข้าร่วมในกองกำลังที่มีเวียดนามหนุนหลัง ขับเขมรแดงพ้นกรุงพนมเปญ เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลใหม่สถาปนาโดยฮานอย หกปีต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีในวัยเพียง 32 ปี ขณะที่สถานการณ์ภายในประเทศกัมพูชายังระอุไปด้วยสงครามกองโจรนำโดยกลุ่มรอยัลลิสต์และกองกำลังเขมรแดง แต่หลังจากยึดครองมาสิบปีเวียดนามก็ถอนทหารที่เคยค้ำจุนรัฐบาลฮุนเซนออกไปในปี 1989

กลุ่มต่างๆ ที่ทำสงครามกันลงนามในข้อตกลงสันติภาพปารีสในปี 1991 ให้คำมั่นแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยการเลือกตั้งในระบบหลายพรรคอย่างสันติ ภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

1993-1997 แพ้ก่อนชนะ

การเลือกตั้งปี 1993 พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ต้องพ่ายให้กับพรรครอยัลลิสต์ “ฟุนซินเป็ก” ไม่มีใครได้เสียงข้างมากในสภา จึงจำเป็นต้องมาเป็นพันธมิตรกันอย่างไม่น่าจะเป็น

ฮุนเซนเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ปกครองประเทศร่วมกับนโรดม รณฤทธิ์ โอรสกษัตริย์นโรดม สีหนุ แต่ในปี 1997 ฮุนเซนเป็นผู้นำรัฐประหารนองเลือด ขับรณฤทธิ์พ้นรัฐบาล

ในปีเดียวกันเกิดเหตุระเบิดคร่าชีวิตประชาชนอย่างน้อย 16 คน ในงานหาเสียงของสม รังสี ที่กำลังผงาดขึ้นเป็นผู้นำฝ่ายค้าน

1998-2012 หวนคำนึงถึงอดีต

พลพต ผู้นำเขมรแดงเสียชีวิตในปี 1998 ขณะถูกกักบริเวณในบ้าน หนึ่งในฐานที่มั่นสุดท้ายของขบวนการใกล้ชายแดนไทย ทหารเขมรแดงที่เหลือเห็นชอบปลดอาวุธหรือหันไปภักดีกับรัฐบาลฮุนเซน นำไปสู่การสิ้นสุดสงครามกลางเมืองยาวนานหลายสิบปี

ปี 2003 หลังจากเจรจากันมายาวนาน รัฐบาลฮุนเซนเห็นชอบเข้าร่วมศาลระหว่างประเทศกับยูเอ็น นำตัวผู้กระทำความผิดรายสำคัญของเขมรแดงที่ยังมีชีวิตอยู่มาดำเนินคดี

เค็ง เค็กเอียว หรือที่รู้จักกันในนามสหายดุช ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต ในฐานะผู้คุมเรือนจำ S-21 อันโด่งดังของพนมเปญ ขณะที่เขียว สัมพัน อดีตประมุขของรัฐสมัยเขมรแดง และ นวน เจีย “พี่ชายหมายเลขสอง” ผู้เสียชีวิตในปี 2019 ถูกจำคุกตลอดชีวิตเช่นกัน

รัฐบาลฮุนเซนไม่อนุญาตให้ศาลสอบคดีอื่นๆ อีกและปิดศาลหลังพิพากษาสามคนนี้ด้วยค่าใช้จ่ายกว่า 300 ล้านดอลลาร์

2013-2023 พรรคเดียวปกครองประเทศ

การเลือกตั้งปี 2013 พรรคซีพีพีของฮุนเซนอ้างว่าชนะพรรคสงเคราะห์ชาติ (ซีเอ็นอาร์พี) ของสม รังสี มาได้แบบฉิวเฉียด จุดประกายการประท้วงในกรุงพนมเปญ ฝ่ายค้านเดินขบวนต่อต้านมานานหลายเดือนจนตำรวจต้องเข้าปราบปรามจึงยุติลงได้

ปี 2017 ศาลฎีการมีคำสั่งยุบพรรคซีเอ็นอาร์พี ส.ส.หลายคนต้องหนีออกนอกประเทศ

การเลือกตั้งปี 2018 พรรคซีพีพีกวาด ส.ส. ทั้งสภา 125 คน เพราะไม่มีฝ่ายค้านแท้จริง การเลือกตั้งครั้งนี้จึงถูกนานาชาติประณาม

ปี 2021 ฮุนเซนประกาศชัดว่าจะสนับสนุนให้ฮุน มาเนต ลูกชายคนโตเป็นนายกฯ แทนเมื่อตนวางมือ ด้านเขม สกคา จากพรรคซีเอ็นอาร์พี ผู้นำฝ่ายค้านอาวุโสสุดยังอยู่ในประเทศ ปีนี้ถูกพิพากษาจำคุก 27 ปีในข้อหากบฏ

การเลือกตั้งล่าสุดพรรคซีพีพีชนะแลนด์สไลด์อีกครั้ง เมื่อผู้ท้าทายเพียงพรรคเดียวถูกยุบ หลังเลือกตั้งสามวันฮุนเซนประกาศลงจากอำนาจ ให้ฮุน มาเนตตั้งรัฐบาลใหม่

‘ฮุน มาเนต’ เดินตามรอยเท้าพ่อ

ฮุน มาเนต เกิดเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 1977 จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยท์ของสหรัฐในปี 1999 เป็นชาวกัมพูชาคนแรกที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยอันโด่งดังของสหรัฐ นายพลสี่ดาวผู้นี้จบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริสทอลในอังกฤษด้วย

ด้านการงานอาชีพฮุน มาเนตเป็นผู้นำขบวนการเยาวชนพรรคซีพีพี ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยอารักขาบิดา และกองกำลังพิเศษต่อต้านการก่อการร้าย เป็นผู้บัญชาการกองทัพบกกัมพูชามาตั้งแต่ปี 2018 แต่เพิ่งลงเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรก เมื่อเร็วๆ นี้ได้พบกับผู้นำโลกหลายคน เช่น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน พันธมิตรรายใหญ่และผู้มีอุปการคุณของกัมพูชา

สม รังสี คู่อริยาวนานของฮุนเซน เคยกล่าวกับเอเอฟพีว่า แม้จบการศึกษาจากตะวันตกก็ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าฮุน มาเนตจะให้เสรีภาพมากกว่า โดยยกตัวอย่างตระกูลอัสซาดที่ปกครองซีเรียอย่างเหี้ยมโหด

“บาชาร์ อัล อัสซาดของซีเรียก็ได้รับการศึกษาดีกว่าฮาเฟซ อัล อัสซาด แต่การเมืองของลูกชายเลวร้ายกว่าของพ่อเสียอีก” สมย้ำ

เซบาสเตียน สแตรนจิโอ นักเขียนหนังสือว่าด้วยการปกครองของฮุนเซน กล่าวว่า ถึงบัดนี้ฮุน มาเนต “แทบไม่ได้แสดงให้เห็นว่า เขาจะทำอะไรมากไปกว่าสร้างภาพปฏิรูปการเมือง”

ถ้าไม่มีพ่อหนุนหลังก็ไม่แน่ว่าฮุน มาเนต จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้แม้เจ้าตัวอยากทำก็ตาม

 นักวิเคราะห์การเมืองอย่าง อู วิรัก มองว่า ฮุน มาเนตยังไม่เคยผ่านบททดสอบในสนามการเมือง

“ปัญหาคือเขาเกิดมามีคนป้อนข้าวให้ ส่วนใหญ่ป้อนด้วยช้อนทอง” นักวิเคราะห์เหน็บแนม

ด้านชีวิตส่วนตัว ฮุน มาเนตสมรสแล้วมีลูกสาวสองคนลูกชายหนึ่งคน จะเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 ส.ค. เมื่อผ่านความเห็นชอบของสภา ที่มี ส.ส.พรรคซีพีพี 120 คน จากทั้งหมด 125 คน