‘โลกร้อน’ กระทบไร่องุ่น ธุรกิจแชมเปญหรู ต้องดิ้นรนหาทางรับมือ

‘โลกร้อน’ กระทบไร่องุ่น ธุรกิจแชมเปญหรู ต้องดิ้นรนหาทางรับมือ

เมื่อยุโรปเผชิญปัญหาโลกร้อน อุณหภูมิสูง ทำให้องุ่นเปลี่ยนรสชาติ กระทบไปถึงผู้ผลิตแชมเปญต้องเร่งหาวิธีรับมือ หากฝรั่งเศสปลูกองุ่นเพื่อผลิตแชมเปญไม่ได้อีกต่อไป...

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีเผยว่า แชมเปญ เครื่องดื่มที่เป็นไฮไลต์สำคัญของการเฉลิมฉลอง และการใช้ชีวิตหรูหรามาหลายร้อยปี กำลังมีความเสี่ยง เนื่องจากอุณหภูมิที่ร้อนมากขึ้นในทวีปยุโรป และสภาพอากาศที่แปรปรวนสูง สร้างความกังวลว่า ภูมิภาคที่ผลิตแชมเปญของฝรั่งเศส อาจไม่เหมาะต่อการผลิตแชมเปญอีกต่อไป

  • แดดเผา รสองุ่นเสีย

รายงาน S&P Global Sustainable1 เผยว่า ภูมิภาคที่ผลิตแชมเปญ เริ่มมีความเสี่ยงทางกายภาพ เนื่องจากภัยแล้งอาจขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ภายในทศวรรษ 2050

รายงานดังกล่าว ให้คะแนน 1-100 ในแต่ละภูมิภาคเกี่ยวกับความเสี่ยงทางกายภาพ โดยคะแนน 100 หมายความว่า มีความเสี่ยงสูงสุด ซึ่งในรายงาน ระบุว่า ความเสี่ยงเกิดภัยแล้งต่อแชมเปญอาจเพิ่มขึ้นจากระดับคะแนน 16 เป็น 43 ภายในทศวรรษ 2050 และอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า สู่ระดับ 88 คะแนน ภายในทศวรรษ 2090 ถ้านโยบายสภาพอากาศในปัจจุบันไม่มีการเปลี่ยนแปลง

“แม็ตต์ ฮอดจ์สัน” ผู้ก่อตั้ง Grape Britannia บริษัทค้าปลีกไวน์อังกฤษ เตือนว่า ถ้าองุ่นได้รับรังสียูวีที่รุนแรงมากเกินไป เท่ากับองุ่นเหมือนถูกแดดเผาเช่นเดียวกับเรา ทำให้องุ่นเสียรสชาติ และความร้อนก็จะเปลี่ยนความเป็นกรดขององุ่น ซึ่งเป็นส่วนที่ให้ความสดใหม่กับแชมเปญ

“แซนดรีน ซอมเมอร์” ประธานเจ้าหน้าที่ด้านความยั่งยืนของแบรนด์ไวน์ Moët Hennessy ธุรกิจในเครือ LVMH บอกว่า บริษัทกำลังดำเนินการปรับตัวกับปัญหาดังกล่าวอยู่

‘โลกร้อน’ กระทบไร่องุ่น ธุรกิจแชมเปญหรู ต้องดิ้นรนหาทางรับมือ

  • วิธีผลิตแชมเปญต้องปรับ

กฎแชมเปญที่รู้จักกันดีคือ แชมเปญต้องผลิตในภูมิภาคแชมเปญของฝรั่งเศส แต่กฎที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเฉพาะของไร่องุ่นมีเยอะมาก ทั้งการหาองุ่นจากพื้นที่อื่น การบดองุ่น และใช้องุ่นพันธุ์คัดเฉพาะ

การใช้สารกำจัดศัตรูพืช และการเพิ่มกรดให้องุ่นก็ถือเป็นข้อห้าม แต่ธุรกิจแชมเปญสามารถปรับวิธีการผลิตภายใต้กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดต่อไปได้

“แคลร์ ซาราซิน” โฆษกจากแชมเปญแบรนด์ Taittinger บอกว่า

“20 ปีก่อน ไร่องุ่นทำการเก็บเกี่ยวช่วงสิ้นเดือนก.ย. และต้นเดือนต.ค. แต่ตอนนี้ ธุรกิจแชมเปญ ต้องเก็บเกี่ยวองุ่นช่วงสิ้นเดือนส.ค. และต้นเดือนก.ย. เนื่องจากอุณหภูมิสูง ทำให้แชมเปญมีรสหวานขึ้น” 

ซาราซิน คิดว่า ผู้บริโภคไม่อยากมีน้ำตาลในเครื่องดื่มเพิ่ม แม้ประเด็นนี้ไม่เป็นปัญหามากนัก แต่ยังเป็นเรื่องที่ธุรกิจต้องใส่ใจ

  • นักวิจารณ์ชี้ รสแชมเปญเปลี่ยน

นักวิจารณ์หลายคนบอกว่า แชมเปญบางแบรนด์ รสชาติต่างจากแชมเปญที่พวกเขาเคยดื่มเมื่อหลายปีก่อน

“ทอม ฮิวสัน” นักวิจารณ์แชมเปญบอกว่า แชมเปญจำนวนมากมีความสุกงอมมากขึ้น มีฟองใกล้เคียงกับไวน์ขาวอื่นๆ และเหมือนไวน์ใสมากขึ้น

ด้าน “ซูซี่ แอตกินส์” นักวิจารณ์ไวน์ ก็พบว่ารสชาติแชมเปญเปลี่ยนไปในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา และคนที่เคยชิมไวน์อายุ 50 ปี ชี้ว่า สไตล์แชมเปญมีความหรูหรามากขึ้น

 

 

 

 

 

‘โลกร้อน’ กระทบไร่องุ่น ธุรกิจแชมเปญหรู ต้องดิ้นรนหาทางรับมือ

  • อนาคตแชมเปญ

โรงผลิตแชมเปญต่างหาสารพัดวิธีเพื่อรักษาอนาคตของธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ไว้ ซึ่งรวมถึงมองหาพื้นที่ ที่มีสภาพอากาศคล้ายฝรั่งเศส

ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ Taittinger เป็นโรงผลิตแชมเปญแห่งแรกที่ลงทุนสปาร์กกลิ้งไวน์อังกฤษในปี 2558 จากนั้นแบรนด์แชมเปญ Pommery ลงทุนเครื่องดื่มชนิดนี้เช่นกันในปี 2559 แต่ธุรกิจดังกล่าวยังคงรักษาความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในฝรั่งเศส และอังกฤษอยู่

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ ที่แชมเปญไม่อาจผลิตในภูมิภาคแชมเปญของฝรั่งเศสได้ต่อไป Taittinger บอกว่า บริษัทมองในแง่ดีมากกว่านั้น และสมาคมตัวแทนผู้ผลิตแชมเปญ กำลังหาวิธีรับมือหลายอย่าง เช่น การพัฒนาพันธุ์องุ่นใหม่

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสมาคมยังไม่สามารถหาพันธุ์องุ่นที่ตรงกับมาตรฐานสำคัญระดับสูงในการผลิตแชมเปญได้

ขณะที่ ฟิลิปป์ เชาส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแบรนด์ไวน์ Moët Hennessy เผยกับเทเลกราฟ ว่า บริษัทยังไม่สนใจทำไร่องุ่นในอังกฤษ

ทั้งนี้ กฎการผลิตแชมเปญที่เข้มงวดมากมาย สามารถนำไปปรับใช้ในภูมิภาคที่อยากทำธุรกิจนี้ได้ แต่ผลผลิตจะเป็นแชมเปญแบบที่เรารู้จักหรือไม่?

ฮอดจ์สัน ผู้ก่อตั้งบริษัทไวน์อังกฤษ Grape Britannia บอกว่า

“ถ้าเปลี่ยนกฎการผลิตต่างๆ แชมเปญในพื้นที่อื่นๆ อาจเป็นอะไรแปลกใหม่ และดีก็ได้ แต่ถ้าชอบแชมเปญแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ แชมเปญเหล่านั้นคงไม่ใช่แชมเปญแบบปัจจุบัน”

และว่า ถ้าต้องเลือกขยายพื้นที่ปลูกองุ่นหรือเปลี่ยนพื้นที่ปลูก ใครจะทราบว่าผู้ผลิตแชมเปญจะเลือกองุ่นจากที่ใด นั่นอาจเป็นการฆ่าตัวตาย ไม่ใช่การพิจารณาหาทางเลือกอื่น

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์