วิกฤติเศรษฐกิจโลก - เมียนมา ท้าทาย ‘ไทย’ เจ้าภาพบิมสเทค

วิกฤติเศรษฐกิจโลก - เมียนมา ท้าทาย ‘ไทย’ เจ้าภาพบิมสเทค

เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤตการณ์เมียนมา สร้างความท้าทายอันดับต้นๆ ให้ไทย ในฐานะเจ้าภาพจัดประชุมบิมสเทค

ปีนี้ ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (บิมสเทค) ระหว่างปี 2565 - 2566 ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นผลพวงจากสงครามยูเครน และเป็นความพยายามฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรคโควิด-19 

สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายต่อการทำหน้าที่ประธานบิมสเทคของไทย ที่มีความมุ่งมั่นสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับอนุภูมิภาค ขับเคลื่อนขีดความสามารถ ฉายภาพบทบาทของไทยมากขึ้นในสายตาโลก  

“เชิดชาย ใช้ไววิทย์” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ  กล่าวว่า ไทยไม่ได้รับทำหน้าที่ประธานบิมสเทคเพียงอย่างเดียว แต่ยังรับความท้าทายรอบด้าน เพราะมีความตั้งใจให้บิมสเทคเป็นกลุ่มความร่วมมือที่มีความทันสมัย และตอบสนองสถานการณ์ปัจจุบัน 

วิกฤติเศรษฐกิจโลก - เมียนมา ท้าทาย ‘ไทย’ เจ้าภาพบิมสเทค

ประชุมผู้นำบิมสเทคเดือนพ.ย.

กระทรวงการต่างประเทศกำหนดไว้จะจัดประชุมผู้นำบิมสเทคในวันที่ 30 พ.ย.นี้ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวจะต้องได้รับการยืนยันจากประเทศสมาชิกบิมสเทคและแสดงฉันทามติจนครบทุกประเทศ 

นอกจากนี้ ยังมีแผนจะเชิญประเทศพันธมิตรนอกภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญกับเศรษฐกิจบิมสเทคให้มาร่วมประชุมผู้นำบิมสเทคในปลายปีนี้ด้วย ขึ้นอยู่กับไทยในฐานะประธานจะพิจารณาตามความเหมาะสม 

ชี้จุดอ่อนบิมสเทค

ถึงอย่างไร หากการเมืองไทยยังไม่ชัดเจน และไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ อาจทำให้กระทรวงการต่างประเทศมองทางเลือกอื่น เช่นเลื่อนการประชุมออกไปเป็นต้นปีหน้า แต่เชื่อว่า ภายในเดือน ส.ค.จะมีความชัดเจนขึ้น

ส่วนจุดอ่อนความร่วมมือบิมสเทค เชิดชาย มองว่า บิมสเทคเผชิญสถานการณ์ในภูมิภาค 3 เรื่องใหญ่ ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคอย่างไม่เป็นทางการได้พูดคุยกันแบบตรงไปตรงมา ได้แก่ สถานการณ์การเมืองเมียนมา วิกฤติเศรษฐกิจศรีลังกา การแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์และผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบมายังกลุ่มบิมสเทค ล้วนเป็นความท้าทายไทยในฐานะประธาน และรุมเร้าสมาชิกมาตลอด 2 ปี 

ปฏิบัติจริง ไม่ใช่พิธีกรรม

“ดังนั้นไทยจะผลักดันแนวคิดที่จะปูพื้นฐานบิมสเทคให้แข็งแกร่งและเป็นที่รู้จักในระดับโลกมากขึ้น ตามที่ได้ร่างในเอกสารวิสัยทัศน์บิมสเทคกรุงเทพฯ (BIMSTEC Bangkok Vision 2030) และเพื่อให้ปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่พิธีกรรมของการพบปะกัน จึงให้จัดตั้งเจ้าหน้าที่คณะทำงานในหัวข้อความร่วมมือในสาขาต่างๆ ของบิมสเทค และให้ดำเนินงานทันที” เชิดชาย กล่าว

ส่วนเอกสารวิสัยทัศน์ฯ จะมีเนื้อหาเน้นการขจัดความยากจน ลดช่องว่างรายได้ เสริมสร้างความเข้มแข็งทางอาชีพ ส่งเสริมศักยภาพสินค้าเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน เพิ่มพื้นที่สีเขียว และลดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้เป็นการชูบทบาทกลุ่มความร่วมมือบิมสเทคให้โดดเด่นยิ่งขึ้น

วิกฤติเศรษฐกิจโลก - เมียนมา ท้าทาย ‘ไทย’ เจ้าภาพบิมสเทค

เชื่อมขนส่งทางเรืออ่าวเบงกอล

ในปีที่ไทยเป็นประธานยังจัดให้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งมีความพิเศษตรงที่อนุญาตให้บรรทุกสินค้าได้สูงถึง 30,000 เมตริกตัน เชื่อมโยงท่าเรือ 13 แห่งในภูมิภาคบิมสเทคเข้าด้วยกัน เช่น ท่าเรือระนอง จิตตะกอง เจนไน โคลอมโบ โดยขณะนี้การร่างถ้อยคำที่ระบุในเอกสารเสร็จเรียบร้อยแล้ว และขั้นตอนต่อไปเป็นการให้ผู้นำบิมสเทคลงนามในปลายปีนี้ 

“กระทรวงการต่างประเทศมองเห็นโอกาสในข้อตกลงความร่วมมือขนส่งสินค้าทางทะเล จะส่งเสริมการส่งออกสินค้าสำคัญๆของไทยไปยังประเทศสมาชิกมากขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก ปาล์มและอัญมณี”เชิดชายกล่าว และชี้ว่า อินเดียมีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก หรือมากกว่า 1 ใน 5 ของประชากรโลก ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของประเทศสมาชิิกบิมสเทครวมกันที่ 4.5% ก่อนหน้าการระบาดใหญ่จึงเชื่อมั่นว่า บิมสเทคจะเติบโตสูงสุดในเอเชีย

นทท.บิมสเทค ชอบเที่ยวไทย 

ในช่วง ม.ค. - มี.ค. มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไทยทั้งหมด 12,914,691 คน เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกบิมสเทค 8% มาจากอินเดีย 5.9% ซึ่งเป็นอันดับ 5 รองจากมาเลเซีย จีน รัสเซีย และเกาหลีใต้ 

วิกฤติเศรษฐกิจโลก - เมียนมา ท้าทาย ‘ไทย’ เจ้าภาพบิมสเทค

ที่ผ่านมา  มีการจัดประชุมระดับเจ้าหน้าที่เพื่อปูทางไปสู่การประชุมผู้นำบิมสเทค โดยประเทศสมาชิกเห็นตรงกันว่า เทคโนโลยีเอไอจะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจไหลเวียนและเชื่อมโยงกันมากขึ้น การพัฒนาระบบการชำระเงินข้ามแดน  การจัดการข้อตกลงด้านการค้าอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมระหว่างกัน

เชิดชาย กล่าวทิ้งท้ายว่า โจทย์ท้าทายไทย ทำอย่างไรให้บิมสเทคมีตัวตนและอยู่ในเรดาร์โลก แต่เชื่อว่า การผลักดันความสามารถของกลุ่มคนรุ่นใหม่ จะสามารถฉายภาพเอกลักษณ์ความเป็นบิมสเทคให้ชัดเจนมากขึ้นได้