หนังเล่าโลก: ‘Adam’ ทางออกของผู้หญิงไร้ทางเลือก

หนังเล่าโลก: ‘Adam’ ทางออกของผู้หญิงไร้ทางเลือก

การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์หรือท้องไม่พร้อมเป็นเรื่องที่ผู้หญิงทุกคนไม่อยากเจอ ยิ่งผู้หญิงในสังคมอนุรักษนิยมทางเลือกยิ่งมีน้อยมาก แล้วพวกเธอจะตัดสินใจอย่างไรเมื่อเผชิญสถานการณ์เช่นนี้ เรื่องราวหนึ่งถูกบอกเล่าผ่าน Adam ภาพยนตร์โมร็อกโกที่อ้างอิงจากเรื่องจริง

Adam ภาพยนตร์ปี 2019 ผลงานการกำกับของมาเรียม ทูซานี  (Maryam Touzani) ผู้กำกับหญิงชื่อดังแห่งโมร็อกโก  บอกเล่าเรื่องราวของหญิงหม้ายนามอับลาและหญิงสาวตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์นาม ซาเมีย ที่จำต้องมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ อับลาเป็นหญิงหม้ายเจ้าของร้านขายขนมเล็กๆ ในเมืองคาซาบลังกา เธอใช้ชีวิตอย่างเศร้าสร้อยกับวาร์ดา ลูกสาววัย 7-8 ขวบ ดูเหมือนว่านับตั้งแต่สามีเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุอับลาไม่เคยยิ้มอีกเลย ชีวิตของเธอยิ่งเครียดหนักเมื่อซาเมีย หญิงครรภ์แก่มาเคาะประตูบ้านขอสมัครช่วยทำงาน แน่นอนว่าอับลาไม่ยอมให้ใครเข้ามาในคอมฟอร์ทโซนของเธอเด็ดขาด

จะว่าอับลาใจไม้ไส้ระกำที่ไม่ยอมช่วยหญิงท้องแก่อย่างซาเมียก็ไม่ถูกนัก เพราะสังคมโมร็อกโกสมัยนั้น การช่วยเหลือหญิงท้องไม่มีพ่อถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายขืนรับเข้ามาความเดือดร้อนจะมาเยือนอับลา แต่หลังจากปฏิเสธซาเมียไปในตอนแรก มโนธรรมบางอย่างคอยสะกิดเตือนให้อับลาต้องเปลี่ยนใจหันมาช่วยเหลือหญิงท้องแก่ไม่มีที่ไปมาอยู่ร่วมชายคาด้วยกัน 

ซาเมียนั้นเป็นหญิงชนบท เมื่อท้องไม่มีพ่อก็จำต้องปกปิดทางบ้านด้วยการโทรไปแจ้งญาติว่ามาหางานทำในเมืองใหญ่อย่างคาซาบลังกา และโทรศัพท์มือถือเสียนำไปซ่อม หากสะดวกเมื่อไหร่จะติดต่อพ่อแม่เอง ซาเมียตั้งใจว่าคลอดลูกแล้วจะยกให้คนอื่นและกลับบ้านไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เธอคลอดลูกในบ้านอับลาท่ามกลางความยินดีอย่างที่สุดของหม้ายสาวและวาร์ดา ความรู้สึกของอับลาเปลี่ยนแปลงไปมาก จากที่เคยขึ้งเคียดกับชีวิตซาเมียเปิดให้อับลารู้จักกับมุมมองใหม่ๆ 

ทุกอย่างเหมือนจะจบลงแบบแฮปปี้เอ็นดิง แต่สุดท้ายซาเมียต้องตัดสินใจครั้งสำคัญเพื่อผลประโยชน์ของทุกฝ่าย อับลาผู้มีพระคุณจะต้องไม่มีความผิดในฐานะอุปการะหญิงท้องไม่มีพ่อ ลูกชายนาม “อดัม” ต้องไม่มีมลทินติดตัวไปจนวันตายที่เกิดมาไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อ ไม่มีนามสกุลให้ลงในสูติบัตร  สุดท้ายซาเมียเองยังต้องมีที่ยืนในสังคมที่ไม่โอบอุ้มหญิงผู้ประพฤติตนนอกแบบ หนังเล่าโลก: ‘Adam’ ทางออกของผู้หญิงไร้ทางเลือก ประเด็นทางสังคมแบบนี้ต้องคุยกับคนโมร็อกโก อับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี เอกอัครราชทูตโมร็อกโกประจำประเทศไทย ซึ่งเคยชมภาพยนตร์ Adam หลายครั้งเล่าว่า นี่เป็นสถานการณ์อันยากลำบากของผู้หญิงอย่างซาเมีย ที่ขณะนั้นสังคมยังไม่ยอมรับการท้องไม่มีพ่อ โมร็อกโกมีทั้งความอนุรักษนิยม ความเป็นอาหรับ เป็นอิสลาม เป็นยิว ถึงวันนี้ยังถกเถียงกันเรื่องการคงอัตลักษณ์โมร็อกโกกับการพัฒนา ในกรณีหญิงผู้ตกที่นั่งลำบากอย่างซาเมียเมื่อสังคมไม่ดูแลกฎหมายต้องเข้าไปดูแล 

 โมร็อกโกประกาศใช้กฎหมายครอบครัวฉบับปฏิรูปเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2005 ครอบคลุมการแต่งงาน หย่าร้าง การรับมรดก และประเด็นครอบครัวอื่นๆ เช่น ผู้หญิงสมรสได้เมื่ออายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ปกป้องสิทธิเด็กที่พ่อแม่หย่าร้าง ให้มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนตอนก่อนหย่า ซึ่งกว่ากฎหมายครอบครัวจะได้รับการเห็นชอบต้องผ่านการถกเถียงกันมากมายในหมู่นักการเมือง ขบวนการสิทธิมนุษยชน ทูตย้ำว่า การปฏิรูปโมร็อกโกไม่ได้เกิดขึ้นแบบปุบปับแต่เป็นกระบวนการแบบค่อยเป็นค่อยไป

 Adam สร้างจากเรื่องจริงที่ผู้กำกับมาเรียม ทูซานี ประสบพบเจอมาด้วยตนเอง สมัยเมื่อเธอยังสาวมีหญิงสาวท้องมาขออาศัยอยู่ที่บ้าน ความขัดแย้งในตัวของหญิงตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์โดนใจเธอมาก ยิ่งตอนที่ทูซานีคลอดลูกคนแรกก็ยิ่งคิดถึงชะตากรรมที่ผู้หญิงคนนั้นประสบ ทูซานีเป็นผู้กำกับหญิงที่โด่งดังมากของโมร็อกโก เป็นคณะกรรมการสายการประกวดหลัก (Main Jury) เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ประจำปีนี้ ส่วน Adam เป็นผลงานที่คว้ารางวัลมาแล้วทั่วโลก และได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์โมร็อกโกเข้าชิงรางวัลออสการ์ในปี 2019 

ภาพยนตร์ดีๆ แบบนี้นำมาจัดฉายในกรุงเทพฯ ในรายการ Amari Watergate Bangkok Film Series   สุขมาล มอนเดล ผู้จัดการทั่วไป กล่าวว่า  อมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ เป็นโรงแรมแรกในกรุงเทพฯ ที่จัดฉายภาพยนตร์ตลอดทั้งปี หลังจากเปิดตัวภาพยนตร์เรื่องแรกของโครงการ A Girl From Mogadishu จากสาธารณรัฐไอร์แลนด์ไปเมื่อเดือน มี.ค. ฉลองเดือนสตรีสากล ธีมของภาพยนตร์ที่นำมาจัดฉายยังคงเป็นเรื่องของผู้หญิงและการเพิ่มพลังหญิง โปรแกรมนี้ยังมีภาพยนตร์อีกสามเรื่องให้ได้ติดตามกัน 

"อมารีและออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป ให้ความสำคัญกับธรรมชาติ สนับสนุนคนหนุ่มสาว และต้องการร่วมมือกับทุกบริษัทผู้สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDG) การจัดฉายภาพยนตร์วันนี้ซึ่งมีนิสิตนักศึกษามาร่วมชมด้วยถือเป็น SDG เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ ภาพยนตร์ดีๆ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน" จีเอ็มอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ กล่าวทิ้งท้าย สอดคล้องกับฉากจบของ Adam ที่ชวนให้ขบคิดสำหรับคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้โอบอุ้มผู้หญิงมากขึ้น