สัมพันธ์‘สหรัฐ-อินเดีย’ชื่นมื่น หนุน'แอ๊ปเปิ้ล'เพิ่มผลผลิตไอโฟน

สัมพันธ์‘สหรัฐ-อินเดีย’ชื่นมื่น หนุน'แอ๊ปเปิ้ล'เพิ่มผลผลิตไอโฟน

ซัพพลายเออร์ของแอ๊ปเปิ้ลในอินเดีย ซึ่งผลิตไอโฟนซีรีส์ 15 รุ่นใหม่ได้รับการร้องขอให้ผลิตไอโฟนในอินเดียจำนวนกว่า 15 ล้านเครื่องในปีนี้ มากกว่าสองเท่าของเป้าหมายเมื่อปีที่แล้ว

ในยุคที่หลายประเทศพยายามลดการพึ่งพาระบบห่วงโซ่อุปทานในจีน ทำให้บริษัทชั้นนำของโลก มองหาแหล่งผลิตสินค้าที่ยังช่วยให้บริษัทรักษาคุณภาพสินค้าไว้ได้เหมือนเดิมและช่วยให้บริษัทคงต้นทุนการผลิต ไม่ให้สูงเกินไปได้ด้วย อย่างกรณีของแอ๊ปเปิ้ล อิงค์ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันที่เลือกอินเดีย เป็นแหล่งผลิตไอโฟนในสัดส่วนอย่างน้อย 20% 

เอเชีย นิกเคอิ นำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยฉายภาพ “เควิน” ผู้จัดการอาวุโส ซึ่งทำงานที่โรงงานประกอบไอโฟนในเมืองเชนไน ประเทศอินเดียที่ต้องตื่นก่อน 06.00 น. เพื่อใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการประชุมทางไกลกับบรรดาเพื่อนร่วมงานในจีนจนถึงเวลา 22.00 น.ของทุกวัน และตั้งแต่เควินย้ายจากจีนมาอินเดีย เขาแทบหาวันหยุดไม่ได้และไม่มีเวลาได้สังสรรค์กับเพื่อนฝูงที่ทำงานด้วยกัน หรือพูดให้ชัดก็คือเขาแทบไม่ได้ออกไปจากโรงงานผลิตเลย

บรรดาซัพพลายเออร์ของแอ๊ปเปิ้ลในอินเดีย รวมถึงบริษัทของเควิน ซึ่งผลิตไอโฟนซีรีส์ 15 รุ่นใหม่ได้รับการร้องขอให้ผลิตไอโฟนในอินเดียจำนวนกว่า 15 ล้านเครื่องในปีนี้ มากกว่าสองเท่าของเป้าหมายเมื่อปีที่แล้ว เป็นไปตามนโยบายของแอ๊ปเปิ้ลที่ต้องการลดการพึ่งพาการผลิตในจีน

“เราต้องประชุมกับเพื่อนร่วมงานในจีนทุกวัน  เราพยายามบูรณาการข้อมูลที่ได้จากจีนให้เข้ากับอินเดีย เพื่อปรับปรุงการทำงานของเราที่นี่ให้ดีขึ้น” เควิน กล่าว โดยเขาใช้นามแฝงด้วยเหตุผลที่ว่าการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน 

สัมพันธ์‘สหรัฐ-อินเดีย’ชื่นมื่น หนุน\'แอ๊ปเปิ้ล\'เพิ่มผลผลิตไอโฟน

ข้อมูลเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า แอ๊ปเปิ้ล ผลิตไอโฟนมูลค่ากว่า 7 พันล้านดอลลาร์ในอินเดียในปีงบการเงินที่ผ่านมา โดยเพิ่มการผลิตขึ้นถึง 3 เท่าในประเทศนี้ ที่ถือเป็นตลาดสมาร์ตโฟนที่มีการขยายตัวเร็วที่สุดในโลก หลังจากที่บริษัทลดการพึ่งพาจีนเป็นฐานการผลิตอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

แหล่งข่าวระบุว่า ปัจจุบันแอ๊ปเปิ้ลผลิตไอโฟนในอินเดียคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 7% ของการผลิตทั้งหมดด้วยการจับมือเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป และเพกาตรอน คอร์ป ถือเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญสำหรับอินเดียซึ่งเคยผลิตไอโฟนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1% ของการผลิตไอโฟนทั่วโลกในปี 2564

แอ๊ปเปิ้ลกำลังหาทางที่จะลดการพึ่งพาจีน เนื่องจากความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐยังคงขยายตัว โดยแอ๊ปเปิ้ลส่งออกไอโฟนมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์ในปีงบการเงินที่สิ้นสุดในเดือนมี.ค. ปี 2566 เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าจากปีงบการเงินก่อนหน้า

ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า แอ๊ปเปิ้ลมีแนวโน้มที่จะพยายามผลิตไอโฟนรุ่นใหม่ในอินเดียในช่วงเวลาเดียวกับในจีนซึ่งอาจจะเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปีนี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็ถือเป็นครั้งแรกที่การผลิตไอโฟนเริ่มขึ้นพร้อมกันใน 2 ประเทศ และหากการขยายตัวเชิงรุกของบรรดาซัพพลายเออร์ยังคงดำเนินต่อไป แอ๊ปเปิ้ลก็อาจผลิตไอโฟนในอินเดียได้ถึง 1 ใน 4 ของการผลิตทั้งหมดในปี 2568

สัมพันธ์‘สหรัฐ-อินเดีย’ชื่นมื่น หนุน\'แอ๊ปเปิ้ล\'เพิ่มผลผลิตไอโฟน

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา แอ๊ปเปิ้ลแจ้งให้บรรดาซัพพลายเออร์ทราบว่า การผลิตไอโฟนในแต่ละปีอย่างน้อย 20% จะอยู่ที่อินเดียในอีกสองสามปีข้างหน้าจากตอนนี้ที่มีสัดส่วนไม่ถึง 10% 

การเคลื่อนไหวของแอ๊ปเปิ้ลครั้งล่าสุด มีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ และนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ประกาศข้อตกลงด้านกลาโหมและการค้าหลายชุด ที่มุ่งเน้นยกระดับความสัมพันธ์ทางทหารและเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและอินเดียในระหว่างการเดินทางเยือนทำเนียบขาวของปธน.โมดีเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.

ผลพวงจากการพบปะหารือกันของสองผู้นำ ทำให้บริษัทเจเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี) ของสหรัฐ วางแผนที่จะร่วมผลิตเครื่องยนต์ F414 กับบริษัทฮินดูสถาน แอโรนอติกส์ ของอินเดียสำหรับเครื่องบินขับไล่ขนาดเบาทีจัส เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะปรับปรุงการป้องกันและการแบ่งปันเทคโนโลยี ท่ามกลางท่าทีของจีนที่แข็งกร้าวมากขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองประเทศยังประกาศความร่วมมือด้านกลาโหมครั้งใหม่ รวมถึงความคืบหน้าในการสั่งซื้อโดรนรุ่น MQ-9B SeaGuardian ที่ผลิตโดยบริษัทเจเนอรัล อะตอมมิกส์ (General Atomics) และบรรลุข้อตกลงที่อนุญาตให้เรือของกองทัพเรือสหรัฐสามารถดำเนินการซ่อมแซมครั้งใหญ่ได้ที่อู่ต่อเรือของอินเดีย

ผู้นำทั้งสองชาติ ยังทำข้อตกลงเซมิคอนดักเตอร์หลายชุดที่มุ่งใช้เงินอุดหนุนของอินเดียเพื่อส่งเสริมการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศ และผลพวงจากการทำข้อตกลงนี้ บริษัทไมครอน เทคโนโลยี ประกาศลงทุนมากกว่า 800 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโรงงานประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์มูลค่า 2.75 พันล้านดอลลาร์ในอินเดีย 

ขณะที่แอพพลายด์ แมททีเรียลส์ ประกาศสร้างศูนย์เซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่สำหรับการค้าและนวัตกรรม ส่วนแลม รีเสิร์ช ผู้ผลิตชิปของสหรัฐ ประกาศโครงการฝึกอบรมในอินเดียสำหรับวิศวกรจำนวน 60,000 คน