ส่องไอเดีย ‘สิงคโปร์’ ใช้พื้นที่คุ้มค่า เปลี่ยน ‘ที่ว่าง’ ชุมชนเคหะ เป็นห้องสมุด-สวนสีเขียว

ส่องไอเดีย ‘สิงคโปร์’ ใช้พื้นที่คุ้มค่า เปลี่ยน ‘ที่ว่าง’ ชุมชนเคหะ เป็นห้องสมุด-สวนสีเขียว

เมื่อ “สิงคโปร์” มีพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มากขึ้น ขณะที่ต้องเผชิญภาวะสังคมผู้สูงอายุและการระบาดโควิด-19 ที่ทำให้หลายคนต้องอยู่ห่างจากกัน การเคหะสิงคโปร์จึงแก้ปัญหาด้วยการแปลงพื้นที่เงียบเหงาเหล่านั้น เป็น “ห้องสมุด” และ “สวนสีเขียว” แทน

Key Points

  • ในปี 2566 สิงคโปร์มีพื้นที่ 719 ตารางกิโลเมตร และประชากรราว 6 ล้านคน ขณะที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่ 1,569 ตารางกิโลเมตร และประชากรราว 5.5 ล้านคน
  • 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 60 ปีในสิงคโปร์ มองว่าตัวเองโดดเดี่ยว และราว 12% ของกลุ่มนี้ มีอาการซึมเศร้า
  • ชุมชนชาวดัตช์ของสิงคโปร์ได้สร้างห้องสมุดขึ้น ซึ่งรวบรวมหนังสือบริจาคมากกว่า 7,000 เล่ม ครอบคลุมทุกหมวด รวมถึง 14 ภาษา เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์คนในชุมชน


หากเอ่ยถึง “สิงคโปร์” หลายคนอาจนึกถึงความเป็น “ศูนย์กลางทางการเงินแห่งอาเซียน” และมักมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากต่างประเทศเดินทางไปเจรจาหารือวาระต่าง ๆ หรือนักธุรกิจบริษัทระดับโลกนำเงินไปฝากที่สิงคโปร์อยู่เนือง ๆ

ขนาดประเทศสิงคโปร์ถือว่าเล็กมาก เพียงครึ่งหนึ่งของขนาดกรุงเทพมหานคร โดยในปี 2566 สิงคโปร์มีพื้นที่ 719 ตารางกิโลเมตร และประชากรราว 6 ล้านคน

ขณะที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่ 1,569 ตารางกิโลเมตร และประชากรราว 5.5 ล้านคน ชี้ให้เห็นว่า สิงคโปร์ มีประชากรภายในที่แออัดอย่างยิ่ง ด้วยขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯ แต่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน

ด้วยเหตุนี้ ในปี 2503 หน่วยงานรัฐที่เรียกว่า “การเคหะแห่งชาติสิงคโปร์” (Housing & Development Board หรือ HDB) จึงออกโครงการจัดหาที่อยู่อาศัยประเภทอพาร์ตเมนต์และแฟลตให้ประชาชน เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัย จากประชากรที่แออัดและพื้นที่จำกัด โดยสัดส่วนมากกว่า 80% ของประชากรสิงคโปร์อาศัยในที่อยู่ที่รัฐบาลจัดหานี้

  • ลานชั้นล่างของแฟลตอันเงียบเหงา

“ลานชั้นล่างสุด” ของตึกการเคหะ เป็นพื้นที่เปิดโล่งสำหรับการจัดพิธีแต่งงานหรืองานศพของผู้อยู่อาศัย และในบางครั้งก็เป็นพื้นที่นันทนาการสำหรับเหล่าเด็ก ๆ ยามที่ข้างนอกฝนตก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ความกังวลถึงความปลอดภัยของเด็กได้นำมาสู่การห้ามไม่ให้เล่นฟุตบอล สเก็ตบอร์ด และเครื่องเล่นต่าง ๆ ที่ลานชั้นล่างนี้

นอกจากนั้น วิถีชีวิตสมัยใหม่ที่มาพร้อมโทรทัศน์ เครื่องเล่นเกม ฯลฯ จึงทำให้แต่ละครอบครัวหาความบันเทิงในห้องส่วนตัวได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงมายังลานชั้นล่างอีก และยิ่งช่วงมากกว่า 2 ปีของการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ก็ยิ่งทำให้กิจกรรมร่วมระหว่างผู้คนในเคหะน้อยลงไปอีก ลานชั้นล่างที่ไม่ค่อยมีคนเข้ามาและเงียบเหงา จึงกลายเป็นลานสำหรับที่ตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กและสถานีตำรวจแทน

ปัจจุบัน “การอยู่ตัวคนเดียว” กลายเป็นปัญหาเร่งด่วนในสังคมสิงคโปร์ หลังจากที่ประเทศเคยผ่านการระบาดโควิด-19 ที่ต้องแยกกันอยู่ และยังเผชิญสังคมผู้สูงอายุด้วย โดยผลการศึกษาจาก Duke-NUS Medical School โรงเรียนการแพทย์ระดับบัณฑิตศึกษาของสิงคโปร์ ระบุว่า 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 60 ปีในสิงคโปร์ มองว่าตัวเองโดดเดี่ยว และราว 12% ของกลุ่มที่เข้าร่วมการศึกษาดังกล่าว มีอาการซึมเศร้า

  • ความพยายามฟื้นฟูปฏิสัมพันธ์ในชุมชน

สำนักข่าว​ Bloomberg​ รายงาน​ว่า ปัจจุบัน ชุมชนเคหะหลายแห่งในสิงคโปร์พยายามปรับปรุงพื้นที่ชั้นล่าง ให้กลายเป็นพื้นที่แห่งกิจกรรมมากขึ้น หลังตกอยู่ในความเงียบเหงาจากช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา

ตัวอย่างเช่น คนในย่านชุมชนฮอลแลนด์ วิลเลจ (Holland Village) ได้ปรับปรุงพื้นที่ว่างใต้แฟลตเป็น “ห้องสมุด” ขณะที่ผู้อยู่อาศัยร่วมกันบริจาคหนังสือกว่า 7,000 เล่ม เนื้อหาครอบคลุมทุกหมวด รวมทั้งหมด 14 ภาษา

แอมริส หวัง (Amrys Wang) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งห้องสมุดแห่งนี้ เล่าว่า “เมื่อผู้คนเห็นห้องสมุดแล้ว บางคนก็กวาดสายตามอง บางคนเข้าไปนั่งอ่านหลายชั่วโมง และบางคนถึงขั้นหอบงานจากบ้านมาทำ”

นอกจากนั้น ห้องสมุดแห่งนี้ไม่มีค่าธรรมเนียมสมาชิกหรือค่าธรรมเนียมการยืม และบริหารโดยเหล่าอาสาสมัคร ส่วนหนังสือได้รับจากการบริจาคจากที่ต่าง ๆ

นับตั้งแต่เดือน ส.ค. ปีที่แล้ว ห้องสมุดดังกล่าวถูกพัฒนาให้ชาวชุมชนสามารถหยิบยืมสิ่งอื่น ๆ ได้นอกเหนือจากเพียงหนังสือ เช่น ยืมเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ มาเล่น เป็นที่รับประทานอาหาร มีการจัดกิจกรรมกีฬาปิงปอง เย็บปักถักร้อย และสอนเด็ก ๆ อ่านหนังสือ ซึ่งช่วยเป็นแหล่งผ่อนคลายความเหงา โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียว

หวังเล่าอีกว่า “พวกเรามีคุณป้า คุณลุงที่ต้องการผ่อนคลาย และคุยเล่นระหว่างกัน บางครั้งพวกเราชงกาแฟ ชงชา บางครั้งพวกเรานำขนมหวานมาแบ่งรับประทานกัน รู้สึกว่าความอบอุ่นและความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ได้กลับมาอีกครั้ง”

ส่องไอเดีย ‘สิงคโปร์’ ใช้พื้นที่คุ้มค่า เปลี่ยน ‘ที่ว่าง’ ชุมชนเคหะ เป็นห้องสมุด-สวนสีเขียว - ห้องสมุดพร้อมหนังสือกว่า 7,000 เล่ม (เครดิต: Bloomberg) -

  • สวนสีเขียว กระชับความสัมพันธ์

สำหรับอีกโครงการหนึ่งที่นอกเหนือจากการสร้างห้องสมุด คือ “การสร้างศูนย์กลางพื้นที่สีเขียว” ในอาคารเคหะย่านบิชาน (Bishan) ทางตอนกลางของสิงคโปร์ พื้นที่บริเวณดังกล่าวประกอบด้วยสถานีกิจกรรม 40 จุด ตั้งแต่การทำเกษตรกรรมแนวตั้ง การปลูกพืชร่วมกับการเลี้ยงปลา การรีไซเคิลอัจฉริยะ และการตกแต่งพื้นที่ด้วยของเก่าและสิ่งประดิษฐ์จีนโบราณ

นอกจากนี้ ในลานว่างบางจุดของชุมชมเคหะดังกล่าวยังมีโครงการจิตรกรรมฝาผนัง “แวนโก๊ะ” และมีตู้เย็นสาธารณะที่ทุกคนสามารถนำอาหารมาแบ่งปันกันได้

ด้านการเคหะแห่งชาติสิงคโปร์เริ่มให้การยอมรับโครงการนำร่องเหล่านี้ ด้วยการเสนอเงินช่วยเหลือและรางวัลต่าง ๆ สำหรับโครงการที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ในชุมชน

ที่แฟลตย่านฮอลแลนด์ วิลเลจ ผู้ร่วมก่อตั้งห้องสมุด กล่าวว่า โครงการนำร่องของพวกเขาได้เปลี่ยนกิจวัตรของผู้อยู่อาศัยไปในทางที่ดีขึ้น จากเดิมที่ต่างคนต่างเดินไปขึ้นลิฟต์กลับเข้าที่พักตัวเอง ตอนนี้พวกเขาต่างแวะระหว่างทางและสนทนาทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านใหม่ ๆ

ส่องไอเดีย ‘สิงคโปร์’ ใช้พื้นที่คุ้มค่า เปลี่ยน ‘ที่ว่าง’ ชุมชนเคหะ เป็นห้องสมุด-สวนสีเขียว

- สวนสีเขียวอันสวยงาม (เครดิต: Bloomberg) -

อ้างอิง: bloomberg