เงินอุดหนุนจากภาครัฐ ตัวการสกัดการค้าเสรีโลก

เงินอุดหนุนจากภาครัฐ  ตัวการสกัดการค้าเสรีโลก

เงินอุดหนุนจากภาครัฐ ตัวการสกัดการค้าเสรีโลก โดยในปี 2565 รัฐบาลทั่วโลกมีนโยบายให้เงินอุดหนุนมากกว่า 50,000 รายการ และมีการแทรกแซงรูปแบบอื่น ๆ จากภาครัฐ ที่เป็นอันตรายต่อการค้าเสรี

การค้าเสรีทั่วโลก กำลังเผชิญกับอุปสรรคครั้งใหม่ เนื่องจากหลายประเทศเริ่มหันมาใช้มาตรการให้เงินอุดหนุนมากขึ้นและออกนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนในระบบซัพพลายเชนและรักษาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน

ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการใช้เงินอุดหนุนที่เป็นอันตรายต่อการค้าเสรีกันอย่างแพร่หลาย อีกทั้งหลายประเทศมีนโยบายและมาตรการต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับการแทรกแซงจากภาครัฐ เพิ่มขึ้นมากกว่า 50,000 รายการ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 150% เพื่อคงเม็ดเงินลงทุนและรักษาการผลิตในท้องถิ่นให้ดำเนินต่อไปได้ โดยอ้างว่าเป็นการฟื้นฟูระบบซัพพลายเชน โดยเฉพาะในธุรกิจยานยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และสินค้าต่างๆที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ

เทรนด์การให้เงินอุดหนุนในธุรกิจเฉพาะของรัฐบาล ได้รับแรงหนุนมาจากวิกฤติในยูเครน ที่ทำให้โลกเกิดความไม่มั่นคง และเกิดการแบ่งแยกกันมากขึ้น จนบังคับให้หลายประเทศต้องหันมาทบทวนความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตนอย่างจริงจัง

ในปี 2565 สภาคองเกรสของสหรัฐ อนุมัติกฎหมายบรรเทาภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมในประเทศ มีงบประมาณทั้งหมด 369,000 ล้านดอลลาร์ ให้นำไปใช้เป็นงบประมาณรักษาความมั่นคงด้านพลังงานและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม

ขณะที่กฎหมาย CHIPS and Science Act ซึ่งเป็นกฎหมายเสริมสร้างการผลิต การออกแบบ และการวิจัยอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศ ที่ได้รับการอนุมัติในเวลาใกล้เคียงกัน มีงบประมาณอยู่ที่ 50,000 ล้านดอลลาร์ โดยกฎหมายทั้งสองฉบับนี้  มีเป้าหมายเพื่ออุดหนุนอุตสาหกรรมท้องถิ่นในสหรัฐ

นอกจากนี้ สหรัฐยังมีกฎหมายชิป ที่ไม่อนุญาตให้ผู้รับเงินอุดหนุน ขยายการลงทุนเกี่ยวกับชิปในประเทศจีนเป็นเวลา 10 ปี และเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้กล่าวเน้นย้ำว่า รายได้จากการเก็บภาษีทั้งหมด ถูกจัดสรรเป็นงบประมาณที่นำไปใช้กับบรรดาผู้ผลิต สินค้า และแรงงานอเมริกัน

รายงานจาก Global Trade Alert หน่วยงานวิจัยในยุโรป ระบุว่า นโยบายที่ให้ความสำคัญกับประเทศตนเอง เช่นเดียวกับสหรัฐ มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยในปี 2565 รัฐบาลทั่วโลกมีนโยบายให้เงินอุดหนุนมากกว่า 50,000 รายการ และมีการแทรกแซงอื่น ๆ จากภาครัฐ ที่อาจเป็นอันตายต่อการค้าเสรี

จำนวนเงินอุดหนุนที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนธุรกิจ เพิ่มขึ้นราว 60% ภายใน 3 ปี ทั้งยังพบว่า การค้าเกือบ 50% ในขณะนี้ได้รับผลกระทบจากนโยบายให้เงินอุดหนุน

“ฮิโรอากิ ซูซูกิ” นักวิชาการรับเชิญ จากสถาบันการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น บอกว่า “หลายประเทศกำลังพยายามเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ด้วยการให้เงินอุดหนุนแก่ธุรกิจต่าง ๆ”

เงินอุดหนุนจากภาครัฐ  ตัวการสกัดการค้าเสรีโลก

การป้องกันไม่ให้นโยบายให้เงินอุดหนุนบั่นทอนการค้าเสรีโลกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ต้องมีการกำหนดกฎระเบียบเกี่ยวกับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลและการอุดหนุนด้านการค้านอกเหนือจากการไกล่เกลี่ยพิพาททางการค้า

ข้อกำหนดดังกล่าว ห้ามให้รัฐบาลมีรูปแบบนโยบายที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจเฉพาะ เพื่อการส่งออกหรือเพื่อสนับสนุนสินค้าในประเทศมากกว่าการนำเข้า แต่เป็นเรื่องยากที่จะระบุว่า นโยบายหรือมาตรการของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เป็นนโยบายให้เงินอุดหนุนที่ละเมิดกฎข้อบังคับของดับเบิลยูทีโอหรือไม่

แม้สหรัฐครองแชมป์การค้าเสรีมายาวนาน แต่จะไม่ได้ครองตำแหน่งนี้อีกต่อไป เมื่อสหรัฐเผชิญภัยคุกคามจากจีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงมีความระมัดระวังเกี่ยวกับการเปิดเสรีเศรษฐกิจมากขึ้น แถมยังมีข้อพิพาทด้านภาษีที่เข้มงวดกับจีน ในสมัยที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ

     ในส่วนของจีนก็ใช้การอุดหนุนเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมหลายประเภท โดยเริ่มให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงต้นปี 2562 ทำให้เจ้าของรถยนต์แต่ละคน ได้รับเงินอุดหนุนมากถึงคันละ 60,000 หยวน

ในนโยบายให้เงินอุดหนุนของรัฐบาลจีน ครอบคลุมถึงมาตรการของรัฐบาลท้องถิ่น คิดเป็นงบประมาณทั้งหมด 300,000 หยวนหรือมากกว่านั้น ด้วยตัวเลขงบประมาณขนาดนี้ จึงทำให้จีนกลายเป็นตลาดรถยนต์อีวีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ธุรกิจผลิตแผงโซลาร์เซลล์ ก็เติบโตอย่างรวดเร็วด้วยเงินอุดหนุนของรัฐบาลจีน และเงินอุดหนุนส่วนใหญ่มาจากรัฐบาลท้องถิ่นในช่วงกลางปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาวัสดุพุ่งสูง

ข้อมูลของอาร์ทีเอส ธุรกิจที่ปรึกษาในกรุงโตเกียว ระบุว่า ประเทศจีนเป็นประเทศที่ผลิตแผงโซลาร์เซลล์อันดับที่ 7 จาก 10 อันดับต้น ๆ ของโลกในปี 2564 ขณะที่โรงงานญี่ปุ่น ที่เคยเป็นผู้ครองตลาดโซลาร์เซลล์ไม่ติดท็อป 10

อย่างไรก็ตาม แม้หลายประเทศทั่วโลกจะมีการกีดกันทางการค้า แต่ถือว่าโชคดีที่ยังมีข้อตกลงการค้าเสรีเป็นตัวช่วยบรรเทาผลกระทบต่างๆที่เกิดจากมาตรการกีดกันทางการค้า

เงินอุดหนุนจากภาครัฐ  ตัวการสกัดการค้าเสรีโลก