'สวัสดิการดี-ซอฟต์พาวเวอร์' ปัง มนต์ขลังตำแหน่งงานแม่บ้านเกาหลีใต้

'สวัสดิการดี-ซอฟต์พาวเวอร์' ปัง มนต์ขลังตำแหน่งงานแม่บ้านเกาหลีใต้

แม่บ้านในเกาหลีใต้จะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำชม.ละ 9,620 วอน หรือประมาณ 259 บาท ส่วนรายได้ต่อเดือนอาจอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านวอน หรือประมาณ 53,900 บาท

เมื่อความหวังกระตุ้นอัตราการเกิดริบหรี่เพราะอัตราการเกิดของประชากรตกต่ำเป็นประวัติการณ์เกาหลีใต้จึงหาวิธีดึงดูดแรงงานที่อยากทำอาชีพแม่บ้านจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เข้ามาช่วยครอบครัวเกาหลีใต้เลี้ยงเด็กและทำงานบ้าน

ทั้งนี้ คาดว่าแม่บ้านต่างชาติ 100 คนแรกที่จะเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้จะได้เริ่มงานปลายปีนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่อง ที่อาจช่วยขยายโครงการรับแรงงานต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต

ภายใต้โครงการนำร่องนี้ซึ่งบริหารจัดการโดยรัฐบาลโซลและกระทรวงแรงงานของเกาหลีใต้แม่บ้านจะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 9,620 วอน/ชม. หรือราว 259 บาท/ชม. พร้อมค่าทำงานล่วงเวลาและเบี้ยเลี้ยงต่าง ๆคาดว่ารายได้ต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านวอน หรือราว 53,900 บาทสูงกว่ารายได้แม่บ้านในฮ่องกงและสิงคโปร์ 3 เท่า และโครงการแม่บ้านของเกาหลีใต้ จะมีที่พักแยกต่างหากให้ ไม่เหมือนกับฮ่องกงและสิงคโปร์ที่แม่บ้านต้องอาศัยอยู่กับนายจ้าง
 

ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า แม้ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่โครงการนี้มีศักยภาพพอที่จะสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนแก่ตลาดแรงงานข้ามชาติที่มีรายได้ต่ำได้

“ผศ.ดร.ลาวันยา กาธิราเวลู” สำนักวิชาสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (เอ็นทียู) ประเทศสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราห์ว่า “เกาหลีใต้ ปรับนโยบายต่อแรงงานรายได้ต่ำให้ดีขึ้น ทั้งปรับค่าแรงขั้นต่ำ ให้สิทธิลาคลอด และจัดที่พักแยกต่างหากให้ซึ่งแรงงานแม่บ้านในสิงคโปร์ไม่มี ปัจจัยเหล่านี้ อาจทำให้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่น่าสนใจมากขึ้นสำหรับแรงงานแม่บ้านต่างชาติ”

“เดวิด เบนซาดอน” กรรมการผู้จัดการวีอาร์แคริง (We Are Caring) สำนักงานจัดหางานในสิงคโปร์ บอกว่า นอกเหนือจากการพิจารณาเงินเดือน และเงื่อนไขการทำงานแล้ว โดยปกติแรงงานข้ามชาติจะพิจารณาเสน่ห์ของประเทศเป้าหมายที่ต้องไปทำงานด้วย

เบนซาดอน กล่าวว่า เกาหลีใต้อาจกลายเป็นประเทศทางเลือกสำหรับแรงงานข้ามชาติหลายคน ถ้าเงินเดือนและเงื่อนไขต่าง ๆ เหมาะสม บวกกับวัฒนธรรมและอาหารเกาหลีใต้ก็ได้รับความนิยมจากแรงงานแม่บ้าน

ขณะที่โครงการนำร่องของเกาหลีใต้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดมากนักแต่เกาหลีใต้อาจปรับใช้มาตรฐานทางจริยธรรมตั้งแต่วันแรก เช่น เกาหลีใต้มีความมั่นใจว่า การปฏิบัติต่อแรงงานมีความโปร่งใส และไม่มีการหักเงินเดือนหรือค่าธรรมเนียมแรกเข้า

เบนซาดอน กล่าวอีกว่า วีอาร์แคริง หน่วยงานที่สนับสนุนการจัดหางานและว่าจ้างอย่างมีจริยธรรม จะศึกษาโครงการนำร่องนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากหน่วยงานสนใจดำเนินการจัดตั้งโครงการในสิงคโปร์ หลังจัดตั้งสำนักงานในฮ่องกงและฟิลิปปินส์

“อเล็กซ์ อู๋” รองประธานบริษัททรานเซียน เวิร์กเกอร์ เคาต์ ทู (TWC2) บอกว่า โครงการแม่บ้านของเกาหลีใต้ควรทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานตำแหน่งแม่บ้านในภูมิภาค

“ชาวเกาหลีใต้กำลังเริ่มโครงการที่แตกต่างไปจากเดิมมาก ซึ่งอาจพิสูจน์ได้ว่า โครงการนี้เป็นแบบอย่างที่ดีในด้านเงื่อนไขการจ้างงานและอื่นๆ บวกกับค่าจ้างแรงงานที่สูง อาจทำลายความน่าดึงดูดของประเทศอื่นอย่างสิงคโปร์ได้ เพราะเศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์ที่มีโมเดลค่าจ้างแรงงานถูก จะถูกบั่นทอนไปเรื่อย ๆ และปัญหาแรงงานในประเทศเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความท้าทายอื่น ๆ”

อย่างไรก็ตาม การทำงานในเกาหลีใต้อาจไม่ราบรื่นมากอย่างที่หลายคนคิด

กาธิราเวลู จากเอ็นทียู บอกว่า เนื่องจากแรงงานแม่บ้านในเกาหลีใต้ในปัจจุบัน เป็นคนเกาหลี หรือไม่ก็เป็นคนจีนเชื้อสายเกาหลี ทำให้ครัวเรือนจำนวนมากมีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมอื่นน้อยมาก

“แรงงานจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาจากบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม และความคาดหวังที่แตกต่างกัน รวมถึงรสชาติอาหารก็ต่างกัน ดังนั้น ทัศคติคนเกาหลีต่อแม่บ้านต่างชาติอาจต่างกันไป โดยเฉพาะพี่เลี้ยงเด็กเล็ก แม่บ้านต่างชาติอาจมีเงื่อนไขในสัญญาเพิ่มและมีโอกาสถูกจ้างชั่วคราวมากขึ้น”

เนื่องจากแม่บ้านในฮ่องกงและสิงคโปร์ได้รับค่าจ้างถูกเมื่อเทียบกับชาวเกาหลี หรือชาวจีนเชื้อสายเกาหลี ทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นด้านสัญชาติ ซึ่งแรงงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดให้อยู่ในลำดับท้าย ๆ อาจทำให้แรงงานเหล่านี้ไม่ค่อยได้รับความเคารพนับถือจากคนเกาหลี

กาธิราเวลู เตือนว่า “เกาหลีใต้มีนโยบายกำกับดูแลชาวต่างชาติที่เข้มงวดมาก จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนความคิด เพื่อให้ครอบครัวเกาหลีใต้สบายใจที่่จะรับแรงงานจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้มาทำงานในพื้นที่ส่วนตัวเช่นในบ้านและดูแลลูก ๆ ของเขา”

อย่างไรก็ตามสิงคโปร์และฮ่องกงยังคงมีความน่าดึงดูดสำหรับแรงงานต่างชาติอยู่ เพราะมีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง มีความใกล้ชิดกับประเทศของแรงงาน และมีการยอมรับวัฒนธรรมของแม่บ้านแต่ละประเทศ

Humanitarian Organization for Migration Economics (HOME) องค์กรไม่แสวงผลกำไรในสิงคโปร์ ที่สนับสนุนสิทธิของแรงงานข้ามชาติ บอกว่า แม่บ้านบางคนอาจพิจารณาให้ความสำคัญกับประเทศทางเลือกอื่น ๆ ด้วย แม้ว่าเกาหลีใต้จะมีรายได้และเงื่อนไขการทำงานที่ดีกว่าก็ตาม

“แม่บ้านบางคนอาจพอใจทำงานภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อใกล้ชิดกับครอบครัวของพวกเขา เพราะประเทศในภูมิภาคนี้มีวัฒนธรรมและภาษาที่คล้ายคลึงกัน”HOME กล่าว