เปิดชีวิต‘สุข-เศร้า’ ช้างไทยในต่างแดน 'ฝรั่งเศส-ญี่ปุ่น-อิสราเอล'

เปิดชีวิต‘สุข-เศร้า’  ช้างไทยในต่างแดน 'ฝรั่งเศส-ญี่ปุ่น-อิสราเอล'

เรื่องราวของพลายศักดิ์สุรินทร์ ทูตสันถวไมตรีของไทยที่ไปตกทุกข์ได้ยากในศรีลังกา แม้บัดนี้ได้กลับสู่แผ่นดินแม่แล้ว แต่ก็จุดชนวนให้คิดถึงช้างไทยอีกมากมายที่เคยจากแผ่นดินเกิดไปเมื่อครั้งอดีต

ช้างพระราชทานจากรัชกาลที่ 4 

เมื่อพูดถึงการส่งช้างไปต่างประเทศ แว้บแรกของหลายคนน่าจะคิดถึงช้างพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์นของสหรัฐ เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมและเว็บไซต์สยามมานุสติ ระบุว่า รัชกาลที่ 4 ทรงติดต่อกับประธานาธิบดีสหรัฐหลายครั้ง  ค.ศ. 1856 มีพระราชสาส์นและพระราชทานของขวัญแก่ประธานาธิบดีแฟลงกลิน เพียซ (Flanklin Pierce)  ตามด้วยประธานาธิบดีเจมส์ บิวแคเนน(James Bucanan) ใน ค.ศ. 1859 และในพระราชสาส์นฉบับสุดท้าย ค.ศ.1861 มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานช้างแก่ประธานาธิบดีลินคอล์นเพื่อช่วยในกิจการคมนาคมหลังจากที่ทรงทราบว่า สหรัฐกำลังทดลองใช้อูฐ แต่ลินคอล์นตอบปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า สภาพอากาศของสหรัฐไม่เหมาะสมกับการขยายพันธุ์ช้าง 

เมื่อได้คำตอบเช่นนี้รัชกาลที่ 4 ทรงส่งช้างที่เตรียมไว้ให้ไปยังประเทศฝรั่งเศสแทน ช้างจากสยามสองเชือกใช้ชีวิตอยู่ในกรุงปารีสยาวนานกว่า 10 ปี แต่ด้วยวิกฤติการเมืองภายใน กรุงปารีสถูกปิดล้อมนานหลายเดือน เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ปลาย ค.ศ. 1870 ทางการจึงตัดสินใจชำแหละเนื้อของสัตว์ในสวนสัตว์ อันเป็นแหล่งเนื้อชั้นดีแห่งเดียวที่เหลืออยู่ ช้างสยามในฝรั่งเศสหนีไม่พ้นชะตากรรมนี้ 

‘ฮานาโกะ’ ช้างไทยในญี่ปุ่น

ค.ศ.1935 รัฐบาลไทยส่งช้างวันดีไปสานสัมพันธ์กับญี่ปุ่น สวนสัตว์อุเอโนะในกรุงโตเกียวตั้งชื่อให้ว่า “ฮานาโกะ” แปลว่า ดอกไม้สีทอง ต่อมาฮานาโกะตายลง ครั้นสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ร.อ.สมหวัง สารสาส ทายาทของ พ.ท. พระสารสาสน์พลขันธ์ (ลอง สุนทานนท์) ต้นตระกูล “สารสาส” อดีต รมต.กระทรวงเศรษฐการสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้มีความผูกพันกับประเทศญี่ปุ่นมาก ซื้อลูกช้างหนึ่งเชือกวัย 2 ขวบ ส่งไปให้สวนสัตว์อุเอโนะ เมื่อวันที่ 2 ก.ย.1949 เพื่อปลอบขวัญเด็กๆ ญี่ปุ่นที่ต้องผ่านความโหดร้ายของสงคราม 

สวนสัตว์ตั้งชื่อให้ว่า ฮานาโกะ เหมือนกับช้างไทยตัวแรก ต่อมาฮานาโกะได้ย้ายไปอยู่ที่สวนสัตว์อิโนะกะชิระ เมืองมูซาชิโนเป็นการถาวร ชาวญี่ปุ่นรักใครฮานาโกะมาก แต่ชีวิตพลิกผันในปี 1960 ฮานาโกะทำให้เจ้าหน้าที่สวนสัตว์เสียชีวิต จนต้องถูกจับล่ามโซ่และขังเดี่ยวในคอกคอนกรีต ขัดกับอุปนิสัยสัตว์สังคมของช้างมาก 

ฮานาโกะตายในเดือน พ.ค. 2016 ขณะอายุ 69 ปี ถือได้ว่าเป็นช้างเชือกที่อายุมากที่สุดในญี่ปุ่นตอนนั้น แต่ที่น่าเศร้าคือการตายของฮานาโกะนั้น เป็นการตายที่โดดเดี่ยวถูกกักขังอยู่ในคอกคอนกรีตแคบๆ 

ช้างไทยในอิสราเอล 

 ความคิดคำนึงถึงช้างพระราชทานจากรัชกาลที่ 4 แก่ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น และช้างฮานาโกะ ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของพลายศักดิ์สุรินทร์ที่สื่อนอกรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน  วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมกล่าวเมื่อเดือนก่อนหลังเกิดเรื่องพลายศักดิ์สุรินทร์ขึ้นที่ศรีลังกาว่า รัฐบาลไทยหยุดส่งช้างไปต่างประเทศแล้ว ขณะนี้สถานทูตกำลังตรวจสอบสภาพช้างไทยที่ไปอยู่ในต่างแดนตั้งแต่ก่อนหน้านี้ แต่วันที่ 3 ก.ค.ก็มีเรื่องราวดีๆ จากอิสราเอล เฟซบุ๊คเพจ Israel in Thailand ของสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยโพสต์ภาพช้างสองเชือกชื่อว่า “เท็ดดี้” กับ “มิคาเอลลา” จากสวนสัตว์บิบลิเคิล  เยรูซาเลม สวนสัตว์แห่งนี้ก่อตั้งโดยอาจารย์คณะสัตววิทยา มหาวิทยาลัยฮีบรูเดิมทีมีจุดประสงค์เพื่อสร้างเป็นศูนย์วิจัยสำหรับนักศึกษา และอนุรักษ์สัตว์ที่อยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิลโดยเฉพาะ  ที่นี่ดูแลสัตว์ด้วยวิธี “สัมผัสอิสระ” ให้ผู้ดูแลและสัตว์ได้ติดต่อกันโดยตรง เปิดชีวิต‘สุข-เศร้า’  ช้างไทยในต่างแดน \'ฝรั่งเศส-ญี่ปุ่น-อิสราเอล\' (ภาพจากเพจ Israel in Thailand)

เมื่อเห็นช้างหน้าตาเอเชียก็อดถามถึงช้างไทยไม่ได้ เจ้าหน้าที่สถานทูตอิสราเอลเล่าว่า ปี 2539 รัฐบาลไทยส่งช้างให้อิสราเอลเป็นของขวัญสองเชือก เป็นตัวเมียทั้งคู่ อายุแค่ 4 ขวบให้ไปอยู่ที่สวนสัตว์ในเยรูซาเล็ม ทีมงานดูแลช้างในเวลานั้นประกอบด้วยควาญมืออาชีพสองคนจากไทย และผู้ดูแลชาวอิสราเอลที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี 

เมื่อไปถึงช้างไทยก็ได้ชื่อใหม่เป็นภาษาฮิบรู เชือกหนึ่งชื่ออวีวา อีกเชือกหนึ่งเจ้าหน้าที่สถานทูตยอมรับว่าจำไม่ได้จริงๆ ทั้งสองตัวได้รับการดูแลอย่างดีจากฝ่ายอิสราเอล ที่นั่นไม่ให้ช้างทำงาน ไม่ให้ช้างแสดงโชว์ ให้อยู่ในที่อยู่ของมันแล้วให้คนมาดูความน่ารักเท่านั้น และทางอิสราเอลอยากได้ช้างตัวเมียมากกว่าตัวผู้ เนื่องจากตัวผู้ดุเวลาตกมันต้องล่ามโซ่ ถ้าประชาชนมาเห็นเข้าย่อมดูไม่ดี เหมือนเป็นการทรมานสัตว์

รายงานข่าวจากรอยเตอร์ เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2558 เชย์ โดรอน ซีอีโอสวนสัตว์บิบลิเคิล ณ ขณะนั้น กล่าวว่าช้างไทยมาอยู่ที่อิสราเอลตามคำขอของอดีตนายกรัฐมนตรียิตชัค ราบิน ผู้ล่วงลับ ซึ่งทางอิสราเอลจะทำทุกอย่างที่ทำได้ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ในสวนสัตว์ทั้งหลายที่ไม่ใช่แค่สัตว์ป่าเท่านั้น แต่รวมถึงการอนุรักษ์และเพาะพันธุ์ช้างเอเชียด้วย

ในปี 2558 เจ้าช้างเอเชียและช้างไทยได้ช่วยเหลือเพื่อนๆ ที่เมืองไทย ผ่านการบริจาคเงิน 1,500 ดอลลาร์ของสวนสัตว์บิบลิเคิลมอบให้กับโรงพยาบาลช้างที่จ.ลำปาง ซึ่งเงินจำนวนนี้ได้มาจากการบริจาคของผู้มาเที่ยวสวนสัตว์ตลอดสามปีก่อนหน้านั้น 

สำหรับช้างไทยทั้งสองเชือก พังอวีวาได้สร้างวีรกรรมชวนปวดหัวเมื่อเธอมีลูกนามว่าชาปาตี (Chapati) อวีวาเกิดอาการเลี้ยงลูกไม่เป็น ไม่รักลูก เจ้าหน้าที่จำต้องแยกเจ้าชาปาตีน้อย อายุเพียงหนึ่งวันไปอยู่ที่สวนสัตว์อีกแห่งหนึ่ง เมื่อถูกแยกก็ไม่ได้กินนมแม่ เดชะบุญที่บริษัทผลิตนมผงเด็กรายใหญ่ของอิสราเอลผลิตนมผงสูตรพิเศษให้ชาปาตีกินตั้งแต่เล็ก เมื่อโตขึ้นชาปาตีก็ออกฤทธิ์ออกเดชตามประสาช้างตัวผู้ สวนสัตว์อิสราเอลไม่อยากล่ามโซ่จึงติดต่อขอส่งตัวมาที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยที่ลำปาง ชาปาตีเปลี่ยนชื่อเป็นพลายแก้ว  เจ้าหน้าที่สถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยเคยไปเยี่ยมพลายแก้วที่ลำปาง พบว่า ลักษณะงามมาก 

ส่วนบั้นปลายชีวิตของสองแม่ลูกที่ต้องแยกกันตั้งแต่เกิด พังอวีวาล้มไปหลายปีแล้วที่อิสราเอล พลายแก้วเพิ่งล้มเมื่อไม่กี่ปีก่อน ขณะที่พังอีกเชือกหนึ่งที่ไปอิสราเอลพร้อมกับอวีวายังมีชีวิตอยู่ได้รับการดูแลอย่างดี ควาญชาวไทยที่ไปอยู่ด้วยตั้งแต่แรกก็ยังอยู่ดูแลที่อิสราเอล 

นี่คือชีวิตช้างไทยเท่าที่หาข้อมูลได้ ต้องจากบ้านจากเมืองและมีจุดจบต่างกรรมต่างวาระ สุขบ้างเศร้าบ้างไม่แตกต่างไม่ว่าจะเป็นชีวิตคนหรือสัตว์ พลายศักดิ์สุรินทร์น่าจะเป็นช้างไทยเชือกแรกที่ได้กลับมาตุภูมิ แต่บาดแผลที่ช้างได้รับไม่ว่าทางกายหรือทางใจควรเป็นบทเรียนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทบทวน “การทูตคชสาร” หากคิดจะทำต่อไป เพราะการคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์เป็นมาตรวัดหนึ่งของประเทศที่เจริญแล้ว เปิดชีวิต‘สุข-เศร้า’  ช้างไทยในต่างแดน \'ฝรั่งเศส-ญี่ปุ่น-อิสราเอล\'

ที่มา:

https://www.jpost.com/israel-news/watch-elephant-at-jerusalem-zoo-presents-gift-to-thai-ambassador-432178

https://www.haaretz.com/2004-07-31/ty-article/pregnant-elephant-at-jerusalem-zoo-gets-ok-after-ultrasound/0000017f-dc0c-db22-a17f-fcbdaa720000

https://www.silpa-mag.com/history/article_10868

http://www.siammanussati.com/%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7/