หมอธีระวัฒน์เปิดใจสื่อนอก ถูกพวกต้มตุ๋นเอาชื่อไปแอบอ้าง

หมอธีระวัฒน์เปิดใจสื่อนอก ถูกพวกต้มตุ๋นเอาชื่อไปแอบอ้าง

แพทย์ทั่วโลกกำลังเดือดร้อนจากการที่แก๊งต้มตุ๋นนำความเห็นไปบิดเบือนว่า รับรองการรักษา, ยา,ผลิตภัณฑ์ หรือแอบอ้างการโฆษณาชวนเชื่อ

นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ถูกแอบอ้างเอาชื่อไปใช้แทบทุกเดือน

“พวกต้มตุ๋นอยากได้เงิน ก็เลยอ้างบุคลากรทางการแพทย์ชื่อดังหรือน่าเชื่อถือ เอาไปสนับสนุนข้ออ้างของตนเอง”

ชื่อนายแพทย์ธีระวัฒน์ปรากฏอยู่ในโฆษณาบนเฟซบุ๊คและโพสต์ส่งเสริมการรักษาหลายรูปแบบตั้งแต่เบาหวานไปจนถึงการเพิ่มขนาดองคชาติ ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครอยู่เบื้องหลังการบิดเบือนข้อมูลเหล่านี้ แต่เขาเตือนว่า การกระทำดังกล่าว “เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพผู้บริโภค”

เทรนด์นี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าบุคลากรทางการแพทย์ตกเป็นเป้ามิจฉาชีพออนไลน์ที่พยายามหากำไรจากการสร้างข้อมูลเท็จมากขึ้นทุกขณะ ทำให้ชื่อเสียงของผู้ที่ถูกแอบอ้างมัวหมอง บางกรณีกลายเป็นคดีฟ้องร้องกัน เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่ไทยเท่านั้น

ในฟิลิปปินส์ ผู้บริโภคนาม “มาริสซา เดวิด” คิดว่าเธอพบวิธีรักษาเนื้องอกที่ดีที่สุดแล้วตอนซื้อครีมที่โฆษณาบนเฟซบุ๊คบอกว่าได้รับการแนะนำจาก “วิลลี อ่อง” แพทย์ชื่อดัง

แต่เอาเข้าจริงครีมราคากระปุกละ 12.50 ดอลลาร์ ไม่ได้ผลอย่างที่คิดและนายแพทย์อ่องก็ไม่ได้รับรอง

คุณแม่ฟิลิปปินส์รายนี้ยอมรับว่า นี่คือบทเรียน

“ฉันไม่ควรไว้ใจอะไรง่ายๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับการรับรองจากแพทย์ที่ฉันรู้จักจริงๆ”

วินส์ตัน คิลิมันจาโร โครเนส ทิวาเคิน แพทย์และอินฟลูเอนเซอร์ฟิลิปปินส์ เพิ่งถูกอ้างชื่อในเฟซบุ๊คโปรโมทกางเกงในแม่เหล็ก ที่อ้างว่าช่วยเพิ่มขนาดอวัยวะเพศชายได้

นายแพทย์อ่องและทิวาเคิน ถูกนำไปแอบอ้างในฟิลิปปินส์บ่อยครั้ง โฆษณาการรักษาอาการเจ็บป่วยอันซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว

เอเอฟพีตรวจสอบพบว่า การหลอกลวงเช่นนี้มีในประเทศอื่นด้วย เช่น เมียนมา บัลแกเรีย

“ผู้คนอยากได้การแก้ปัญหาเร่งด่วน โดยเฉพาะชุมชนที่เข้าไม่ถึงบริการดูแลสุขภาพที่เชื่อถือได้ การแอบอ้างแพทย์ทำให้มิจฉาชีพได้ความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจ” แพตทริเซีย ชูเกอร์ นักวิจัยสถาบันเพนในรัฐโคโลราโด ให้ความเห็น

  • ยืนต้านข้อมูลบิดเบือน

สำหรับแพทย์อย่างนาตาเลีย โซเลนโควา ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพในภาวะวิกฤติในรัฐฟลอริดา การบิดเบือนข้อมูลแบบนี้ทำให้เกิดการคุกคามทางออนไลน์อย่างรุนแรง

ก่อนหน้านี้ กลุ่มออกความเห็นสายอนุรักษ์ รวมถึงโจ โรแกน ผู้จัดพอดแคสต์ชาวอเมริกันเผยแพร่ภาพหน้าจอทวีตข้อความบิดเบือนเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่โพสต์ในชื่อของเธอ

“รู้กันอยู่ว่าเขา (โรแกน) มีคนติดตามเป็นล้านๆ นั่นอันตรายมาก อันตรายต่ออาชีพของดิฉัน การงานของดิฉัน และชื่อเสียงของดิฉัน” โซเลนโควาโอดครวญ

โรแกนยอมรับความผิดพลาดของตน แต่โซเลนโควาโดนด่าสาดเสียเทเสียไปแล้ว

“เรา (หมอ) จำเป็นต้องจัดการกับข้อมูลบิดเบือน เราต้องยืนต้านข้อมูลผิดๆ และการคุกคามแบบนี้”

หมอบางคน เช่น อ่องจากฟิลิปปินส์เจอคดีความจากโฆษณาถั่วที่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย

น้องสาวประธานาธิบดีเบนิโญ อาคีโน ที่ 3 ผู้ล่วงลับขอให้เขาระงับและหยุดใช้ชื่อเธอโฆษณาสินค้าตัวนี้บนเฟซบุ๊คของเขา ซึ่งอ่องออกคลิปวีดิโอหลายชุดเมื่อเดือน เม.ย.ชี้แจงว่า โฆษณาดังกล่าวมาจากเพจแอบอ้างบนเฟซบุ๊ค

“ผมไม่อยากเชื่อเลย พวกเขาไม่รู้เหรอว่าเพจพวกนั้นเฟค สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมตอนนี้มันมากเกินไปแล้ว ผมไม่อยากเชื่อเลย” อ่องกล่าวในวีดิโอคลิปหนึ่ง

ด้านเมตา บริษัทแม่ของเฟซบุ๊คมอง “ภัยคุกคามของการหลอกลวงนี้อย่างจริงจัง” บริษัทเผชิญกับเสียงเรียกร้องจากผู้ใช้และนักเคลื่อนไหวเพื่อผู้บริโภคให้ตรวจสอบเนื้อหาออนไลน์อย่างเข้มงวดมากขึ้น

“แพลตฟอร์มจำเป็นต้องลงทุนในระบบคัดกรองเนื้อหาที่เข้มแข็ง เพื่อตรวจจับและลบบัญชีฉ้อโกง และมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ผู้ใช้ต่อความเสี่ยงดังกล่าว การแก้ปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ความร่วมมือของแพลตฟอร์ม คณะกรรมการกำกับดูแล และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย” ชูเกอร์สรุป