'การประชุมนานาชาติอัสตานา' หลอมรวมผู้นำแก้ปัญหาโลก

'การประชุมนานาชาติอัสตานา' หลอมรวมผู้นำแก้ปัญหาโลก

ในโอกาสที่คาซัคสถานเป็นเจ้าภาพ "การประชุมนานาชาติอัสตานา" ระหว่างวันที่ 8-9 มิ.ย. นายอาร์มัน อิสเซตอฟ เอกอัครราชทูตคาซัคสถานประจำประเทศไทย เขียนบทความพิเศษกล่าวถึงความสำคัญของการประชุมครั้งนี้

วันที่ 8-9 มิ.ย.นี้ คาซัคสถานเป็นเจ้าภาพการประชุมนานาชาติอัสตานา (เอไอเอฟ) ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้นำโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อแก้ปัญหาความท้าทายที่ประเดประดังกันเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนอาหาร และความมั่นคงด้านพลังงาน

เอไอเอฟเป็นความคิดริเริ่มของ ประธานาธิบดีคัสซิม โจมาร์ต โตคาเยฟ ให้เป็นเวทีสำหรับตัวแทนจากรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ ภาคธุรกิจ และนักวิชาการ ได้มาหารือและร่วมมือกันในปัญหาวิกฤตินานัปการ

ในโลกที่แตกแยกย่อยทุกขณะ การให้ความสำคัญกับความร่วมมือในฐานะแกนหลักของระบบระหว่างประเทศกลายเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่เคย ประธานาธิบดีโตคาเยฟตระหนักถึงบทบาทในประวัติศาสตร์ของคาซัคสถานในการเป็นสะพานเชื่อมตะวันออกกับตะวันตก เน้นย้ำคุณค่าของความร่วมมือในการเอาชนะความท้าทายร่วมกัน

แม้ในช่วงเวลาทดสอบอย่างปี 2565 คาซัคสถานก็ได้พิสูจน์แล้วถึงความทรหดและตั้งเป้าสร้างสะพานแห่งใหม่ผนึกสายสัมพันธ์อันแข็งแกร่งผ่านการประชุมนานาชาติอัสตานา ที่จะมีการสำรวจวิถีทางทางการทูต เศรษฐกิจ และการเมืองเพื่อความก้าวหน้า

การประชุมครั้งนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากความสำเร็จของการประชุมเศรษฐกิจอัสตานา (Astana Economic Forum: AEF) จัดประชุมครั้งแรกในปี 2551 เพื่อกำหนดวาระเศรษฐกิจโลก ในฐานะตัวอย่างอิทธิพลของการสนทนาแก้ปัญหาความท้าทายสำคัญระดับภูมิภาคเออีเอฟปูทางสู่การประชุมนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้น

สำหรับเอไอเอฟไม่เหมือนใครตรงที่เน้นการจัดหาพื้นที่ให้กับมหาอำนาจโลกระดับกลางให้แสดงทัศนะและจุดยืนต่อปัญหาปัจจุบันพร้อมเสนอทางออกของตนเอง เป็นเวทีที่ยอมรับความสำคัญของความร่วมมือและการกระทำร่วมกันในการปกป้องอนาคตร่วมกันของพวกเรา

  • ความท้าทายแรกที่จะถูกพูดถึงในที่ประชุมเป็นเรื่องของนโยบายต่างประเทศ ความมั่นคง และความยั่งยืน ความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจโลกส่อเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและเสถียรภาพโลก ขณะที่ปัญหาอย่างการปลดอาวุธนิวเคลียร์และวิกฤติผู้ลี้ภัยยังคงสร้างความตึงเครียดให้กับระบบระหว่างประเทศและพันธมิตร

การเติบโตของลัทธิชาตินิยมและขบวนการประชานิยมยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซับซ้อน บดบังความพยายามหาจุดร่วมในประเด็นปัญหาที่ต้องการการรับมือในระดับโลกร่วมกัน ทางออกระยะสั้นแบบไม่ยั่งยืนเสี่ยงบดบังปัญหาในระยะยาว ประชาคมระหว่างประเทศจึงต้องมารวมตัวกันที่เอไอเอฟและกำหนดเส้นทางสู่อนาคตที่ปลอดภัยมากขึ้น

  • ความท้าทายประการที่ 2 ที่ต้องการประสานงานกันในระดับโลกคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลเสียหายร้ายแรง เช่น ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง สภาพอากาศแปรปรวน และสูญสิ้นความหลากหลายทางชีวภาพจึงจำเป็นต้องลงมืออย่างเร่งด่วน แต่การที่โลกพึ่งพาพลังงานฟอสซิลเป็นอย่างมากเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการแก้ไขปัญหาโลกร้อนให้ได้ผล สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักถึงบทบาทของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานและอำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน การเดินทางฝ่าความซับซ้อนของช่วงเปลี่ยนผ่านนี้จำเป็นต้องใช้วิธีการที่ระมัดระวัง เพื่อสร้างหลักประกันว่าโลกกำลังพัฒนาไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในการแสวงหาวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
  • ประการสุดท้าย การระบาดของโควิด-19 ฉุดให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ขาลงอย่างรุนแรง ประเทศชาติ ธุรกิจ ปัจเจกบุคคลกำลังต่อกรกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจ

ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นและความตึงเครียดทางการค้าที่ดำเนินอยู่ระหว่างมหาอำนาจหลักของโลกยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกไร้เสถียรภาพมากขึ้น ดังนั้นความท้าทายประการที่ 3 ในการประชุมนานาชาติอัสนานาจึงเน้นที่เศรษฐกิจและการเงิน ตอกย้ำความจำเป็นเร่งด่วนในการตอบสนองร่วมกันของทั้งโลก เพื่อแก้ไขความท้าทายที่ต่อเนื่องกันทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง

เอไอเอฟที่ประธานาธิบดีโตกาเยฟ เป็นเจ้าภาพจะมีผู้ร่วมงาน 1,000 คน ประกอบด้วยผู้นำรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ ซีอีโอบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ และผู้เชี่ยวชาญชื่อดังจากนานาชาติ ทั้งยังได้

สหประชาชาติ (ยูเอ็น) และซีเอ็นเอ็นมาเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์จาก โดยเฉพาะยูเอ็นที่เพิ่มการสนับสนุนโดยจัดหาองค์ปาฐกชื่อดังมาร่วมงาน ได้แก่ นางสาวอาร์มิดา ซาลเซียห์ อลิสจาห์บานา 

เลขาธิการคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติประจำเอเชียและแปซิฟิก  ทั้งยังช่วยประสานการมีส่วนร่วมของหน่วยงานยูเอ็นหลายแห่ง ความร่วมมือนี้เน้นย้ำการยอมรับของโลกและความสำคัญของการประชุมในฐานะตัวเร่งเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก

เมื่อประชาคมโลกรวมกันเป็นหนึ่งที่กรุงอัสตานา คาซัคสถาน การประชุมนานาชาติอัสตานาให้คำมั่นขับเคลื่อนนานาประเทศไปสู่อนาคตที่กำหนดโดยความร่วมมือ การพัฒนา และความก้าวหน้า ด้วยความเชี่ยวชาญความรับผิดชอบร่วมกัน และวิสัยทัศน์ของแขกผู้มีเกียรติจากหลากหลายสาขา งานแห่งประวัติศาสตร์นี้จะปูทางสู่ทางออกเพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับโลก ที่จะกำหนดเส้นทางแห่งมนุษยชนในอีกหลายปีนับจากนี้

กล่าวโดยสรุป การประชุมนานาชาติอัสตานาเป็นตัวแทนโอกาสอันสำคัญยิ่งสำหรับผู้นำโลกที่มารวมตัวกัน แลกเปลี่ยนแนวคิด พัฒนาทางออกที่ปฏิบัติได้ต่อความท้าทายที่กำลังกดดันโลก โดยเน้นที่ความร่วมมือ ความยั่งยืนและครอบคลุม

การประชุมหาทางแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ ความมั่นคง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมการเจรจาและความเป็นหุ้นส่วน พุ่งเป้าปูทางสู่อนาคตที่ปลอดภัย เท่าเทียมและมั่งคั่งมากขึ้นสำหรับทุกคน ความสำเร็จของการประชุมนานาชาติอัสตานาไม่ได้ขึ้นอยู่การหาหรือและข้อตกลงที่บรรลุกันแต่เพียงอย่างเดียว แต่ผลที่ดำรงอยู่ของความพยายามร่วมเหล่านี้จะกำหนดชะตากรรมร่วมของพวกเราเช่นกัน