รวยน่าอิจฉา 'เจนเซน หวง' ผู้ก่อตั้ง 'Nvidia' วันเดียวพุ่งกว่า 2 แสนล้าน

รวยน่าอิจฉา 'เจนเซน หวง' ผู้ก่อตั้ง 'Nvidia' วันเดียวพุ่งกว่า 2 แสนล้าน

เจนเซน หวง ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ อินวิเดีย (Nvidia) บริษัทผลิตการ์ดจอ มั่งคั่งขึ้นกว่าสองเท่าในปีนี้อานิสงส์ของปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

Key points : 

  • วันแห่งความรุ่งโรจน์ 25 พ.ค. ราคาหุ้นอินวีเดียพุ่งขึ้น 24% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
  • เจนเซน หวง ถือหุ้นอินวิเดียราว 3% หลังจากปิดตลาดเมื่อวันที่ 24 พ.ค. หวงมั่งคั่งสุทธิราว 2.75 หมื่นล้านดอลลาร์เท่านั้น
  • วันที่ 25 พ.ค.วันเดียว หวงรวยเพิ่มขึ้นถึง 6.5 พันล้านดอลลาร์ (2.14 แสนล้านบาท)

ในวันแห่งความรุ่งโรจน์ 25 พ.ค. ราคาหุ้นอินวีเดียพุ่งขึ้น 24% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังรายงานผลประกอบการรายไตรมาสแข็งแกร่ง และความต้องการชิปเอไอพุ่งสูง

งานนี้ไม่มีใครได้ประโยชน์มากไปกว่าหวง ที่วันนั้นวันเดียวรวยเพิ่มขึ้นถึง 6.5 พันล้านดอลลาร์ (2.14 แสนล้านบาท) ตามการประเมินของฟอร์บส เขาถือหุ้นอินวิเดียราว 3% หลังจากปิดตลาดเมื่อวันที่ 24 พ.ค. หวงมั่งคั่งสุทธิราว 2.75 หมื่นล้านดอลลาร์เท่านั้น

จากนั้นอินวิเดียเผยรายงานรายได้ไตรมาสแรก พร้อมประเมินประมาณการณ์ยอดขายไตรมาสสองไว้ที่ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ มากกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ถึง 50% และรายงานรายได้ต่อหุ้นที่ 1.09 ดอลลาร์ สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 0.17 ดอลลาร์

คำอธิบายของหวงต่อสถานการณ์นี้ ระบุ “อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์กำลังก้าวผ่านสองช่วงต่อเนื่องกัน นั่นคือการเร่งตัวของคอมพิวติงและเจเนอเรทีฟเอไอชิป อินวิเดียไปได้ดีทั้งสองอย่าง” และบริษัท “กำลังเพิ่มซัพพลายอย่างมีนัยสำคัญ” เพื่อตอบสนอง “ความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นมาก” นั่นกระตุ้นให้ราคาหุ้นทั้งเอ็นวิเดียและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับเอไอ เช่น Advanced Micro Devices และ C3.ai หลังจากวันที่ตลาดหุ้นคึกคึกตอนนี้ความมั่งคั่งของหวงอยู่ที่ราว 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่า 23% ภายใน 24 ชั่วโมง มากพอทำให้เขากลายเป็นบุคคลร่ำรวยที่สุดอันดับ 37 ของโลกตามการประเมินแบบเรียลไทม์ของฟอร์บส

หวงเกิดที่เมืองไถหนาน ไต้หวัน เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 1963 จากนั้นครอบครัวย้ายมาอยู่เมืองไทยขณะที่เขายังเด็ก แต่เมื่อสงครามเวียดนามกระหน่ำอยู่ใกล้บ้าน นี่ไม่ใช่เวลาแห่งความสันติสุขสำหรับการใช้ชีวิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความกังวลต่อความรุนแรงของสงครามทำให้พ่อแม่ของหวงต้องตัดสินใจอย่างยากลำบากว่าจะปล่อยให้หวงและน้องชายอยู่เมืองไทยแต่ต้องเสี่ยงกับความปลอดภัย หรือช่วยให้พวกเขาย้ายไปอยู่สหรัฐด้วยความหวังว่าพวกเขาจะได้ใช้ชีวิตวัยเยาว์อย่างปลอดภัยและมีอนาคต

สุดท้ายแล้วพ่อแม่ก็เลือกอย่างหลัง หวงและน้องชายถูกส่งไปสหรัฐขณะเขาอายุได้เพียง 9 ขวบ ตอนแรกมาอยู่ที่เมืองโอนีดะ รัฐเคนทักกี แต่อยู่ที่นี่ไม่นานก็ย้ายไปรัฐออริกอน ที่เหมาะกับสองหนูน้อยตระกูลหวงมากกว่า

กระนั้นชีวิตก็ยังไม่สมบูรณ์ หวงเคยเล่าให้ฟังเรื่องที่เขาพยายามปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆ และเคยเผยว่า เคยเข้าโรงเรียนพิเศษสำหรับเด็กที่รับมือ “ยาก” บ่อยครั้งเขาถูกสั่งให้ล้างห้องน้ำ

เมื่อโตขึ้นหวงเรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และออกแบบชิปที่มหาวิทยาลัยรัฐออริกอน แล้วได้ปริญญาโทวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในปี 1992

หลังจากดูเกมการ์ตูนในคอมพิวเตอร์ หวงกับคริส มาลาโคว์สกี(ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีอาวุโสของอินวิเดีย) และเคอร์ติส พริเอม (เกษียณปี 200) ก่อตั้งอินวิเดียขึ้นมาในวันเกิดอายุครบ 30 ปีของเขาในปี 1993 คอยสอดส่องตลาดเพื่อปรับปรุงกราฟฟิกเกม

หวง เป็นซีอีโอมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง รักบริษัทมากถึงขนาดสักโลโกอินวิเดียไว้บนต้นขาซ้าย นำบริษัทจดทะเบียนหุ้นแนสแด็กเมื่อปี 1999

แม้ลำบากในช่วงแรก อินวิเดียก็ได้เปรียบในตลาดการ์ดจอ(จีพียู) ที่เพิ่งตั้งไข่ จีพียูทำให้คอมพิวเตอร์สร้างภาพละเอียดคมชัดด้วยความเร็วสูงสุดๆ เทคโนโลยีนี้จุดประกายตลาดเกมคอมพิวเตอร์ให้กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดมหึมา

วันนี้จีพียูช่วยสร้างพลังให้กับคอนโซลเกม รถขับเคลื่อนอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ของลูกค้าอินวิเดียที่มีมากกว่า 35,000 ราย เช่น บิ๊กเนมอย่าง กูเกิล, เมอร์เซเดส-เบนซ์, อเมซอน และเมตา

“ยิ่งมีเนื้อหามากเท่าใด ยิ่งต้องมีภาพน่าสนใจมากเท่านั้น และผู้คนต้องการขุมพลังไปประมวลผลมากขึ้น” หวงเคยกล่าวกับฟอร์บสเมื่อปี 2007

เทคโนโลยีของอินวิเดียมีความสำคัญต่อบริษัทที่ขับเคลื่อนโดยเอไอ ชิปที่ให้พลังเจเนอเรทีฟเอไอเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบริการใหม่ๆ เช่น ChatGPT หรือ Bard ของกูเกิล ชิปพลังสูงเหล่านี้มีพลังประมวลผลสูงกว่าชิปส่วนใหญ่ในตลาด ทำให้พวกมันสามารถประมวลข้อมูลได้ใหญ่กว่าและซับซ้อนมากกว่า

นอกจากการทำงานหนัก หวงก็เหมือนกับอภิมหาเศรษฐีอีกหลายคนที่ไม่ใช่แค่มีเงินแต่ยังใจบุญด้วย เขาบริจาคเงิน 30 ล้านดอลลาร์ให้กับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สถาบันเก่า ทำวิทยาลัยศูนย์วิศวกรรมศาสตร์เจิน ซุ่นหวง (ชื่อเดิมของเขาในภาษาจีน)

ศูนย์นี้เป็นตึกหนึี่งในสี่หลังที่ประกอบกันเป็นวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์สี่ฝ่ายของสแตนฟอร์ด ความเอื้ออาทรของหวงยังไม่หมดแค่นี้ เขายังบริจาคเงิน 2 ล้านดอลลาร์ให้กับสถาบันโอนีดะแบบติสต์ (Oneida Baptist Institute) สถาบันเก่าอีกหนึ่งแห่งเพื่อตั้งหอประชุมหวง เป็นทั้งหอพักและตึกเรียน

ปีนี้หวงอายุ 60 ปีแล้ว มากกว่าบิล เกตส์ และเจฟฟ์ เบซอส ตอนที่พวกเขาวางมือจากงานเมื่ออายุ 52 ปี และ 57 ปี ตามลำดับ แต่สำหรับหวงมีสัญญาณน้อยมากว่าเขาจะเลิกทำงาน

“ไม่มีอะไรจะสนุกสำหรับผมมากไปกว่าการสร้างบริษัทที่หนึ่งชั่วอายุคนถึงจะมีสักแห่งร่วมกับเพื่อนๆ ของผมที่นี่ ผมจินตนาการไม่ออกเลยว่าอยากได้อะไรมากไปกว่านั้น” หวงเคยกล่าวกับเว็บไซต์อินไซเดอร์เมื่อเดือน เม.ย.2021