ดาวโจนส์ร่วงกว่า 100 จุด ผวาคองเกรสคว่ำดีลเพดานหนี้

ดาวโจนส์ร่วงกว่า 100 จุด ผวาคองเกรสคว่ำดีลเพดานหนี้

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพุธ(31พ.ค.)ปรับตัวร่วงลงกว่า 100 จุด ขณะที่นักลงทุนขายลดความเสี่ยง ก่อนที่สภาคองเกรสจะลงมติต่อร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ในวันนี้

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลดลง 134.51 จุด หรือ 0.41% ปิดที่ 32,908.27 จุด
  • ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 25.69 จุด หรือ 0.61% ปิดที่ 4,179.83 จุด
  • ดัชนีแนสแด็ก ลดลง 82.14 จุด หรือ 0.63% ปิดที่ 12,935.29 จุด

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลดลง 134.51 จุด หรือ 0.41% ปิดที่ 32,908.27 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 25.69 จุด หรือ 0.61% ปิดที่ 4,179.83 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 82.14 จุด หรือ 0.63% ปิดที่ 12,935.29 จุด

หุ้นพลังงานดิ่งลงนำตลาด ตามราคาน้ำมันที่ทรุดตัวลงในตลาดโลก

ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะทำการลงมติต่อร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ ซึ่งใช้ชื่อว่า "พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางการคลัง" (Fiscal Responsibility Act) ในคืนนี้ เวลา 20.30 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือพรุ่งนี้เช้า (1 มิ.ย.) เวลา 07.30 น.ตามเวลาไทย

หากสภาผู้แทนราษฎรให้การรับรองร่างกฎหมายดังกล่าว ก็จะส่งต่อเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาสหรัฐ และหากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ก็จะส่งต่อให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ลงนามเป็นกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

กระบวนการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้จะต้องเสร็จสิ้นก่อนเส้นตายวันที่ 5 มิ.ย. มิฉะนั้นสหรัฐจะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ดี การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก จะไม่ใช่เรื่องง่าย หลังจากที่สมาชิกพรรครีพับลิกันสายอนุรักษ์นิยมมากกว่า 20 รายประกาศว่าพวกเขาจะโหวตคว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ พร้อมกับกล่าวหาว่า นายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้ยอมอ่อนข้อต่อปธน.ไบเดนเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปรับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆในงบประมาณ แทนที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ตามที่มีการตกลงกันไว้

นอกจากนี้ สมาชิกพรรครีพับลิกันดังกล่าวยังขู่ที่จะลงมติไม่ไว้วางใจนายแมคคาร์ธี หากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านสภาผู้แทนราษฎร

 ขณะเดียวกัน ตลาดจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์นี้

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 180,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. โดยชะลอตัวจากระดับ 253,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย.

นอกจากนี้ คาดว่าอัตราว่างงานจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.5% ในเดือนพ.ค. จากระดับ 3.4% ในเดือนเม.ย.