เปิดฉันทามติผู้นำ G7 กำกับดูแล AI โลก เรียกร้องเลิกบีบบังคับทางเศรษฐกิจ

เปิดฉันทามติผู้นำ G7 กำกับดูแล AI โลก เรียกร้องเลิกบีบบังคับทางเศรษฐกิจ

ผู้นำ G7 เห็นชอบจัดตั้ง "กระบวนการฮิโรชิมา" เพื่อร่วมกำกับดูแลด้าน AI โลก พร้อมเรียกร้องทั่วโลกไม่ใช้การบีบบังคับทางเศรษฐกิจเพื่อเป้าหมายการเมือง

ผู้นำG7 เห็นชอบกับความจำเป็นในการกำกับดูแลด้านปัญญาประดิษฐ์ (generative AI) โดยแสดงความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเชื่อว่าจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์เพื่อรับประกันการใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบและจริยธรรมเพื่อประโยชน์ของสังคม

ผู้นำ G7 ระบุในแถลงการณ์ของการประชุมสุดยอดเมื่อวันศุกร์ (19 พ.ค.) ว่า G7 เห็นชอบในการจัดตั้ง "กระบวนการฮิโรชิมา" (Hiroshima Process) ซึ่งรัฐบาลต่าง ๆ จะจัดการหารือระดับรัฐมนตรีเกี่ยวกับ AI และรายงานผลในช่วงสิ้นปี

เพื่อให้มั่นใจว่าการพัฒนา AI นั้นมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางและเชื่อถือได้นั้น นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นจึงขอความร่วมมือเพื่อเข้าถึงกระแสข้อมูลข้ามพรมแดนที่ปลอดภัย โดยให้คำมั่นว่าจะให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ความพยายามดังกล่าว

ผู้นำอุตสาหกรรมและผู้นำรัฐบาลทั่วโลกได้เรียกร้องให้มีการกำกับดูแลด้านกฎระเบียบมากขึ้นกับ AI หลังจากที่แชตจีพีที (ChatGPT) ซึ่งเป็น AI ของบริษัทโอเพนเอไอ (OpenAI) แซงหน้าบริษัทอื่น ๆ ในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ มีความวิตกว่า ความก้าวหน้าของ AI ที่ไม่ได้รับการตรวจสอบนั้นจะสร้างความเสี่ยง โดย AI สามารถสร้างข้อความ, รูปภาพและวิดีโอที่น่าเชื่อถือซึ่งดูเหมือนว่าทำขึ้นโดยมนุษย์ ดังนั้น เทคโนโลยีนี้ หากถูกใช้ในทางที่ผิด อาจเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ และทำให้เกิดความปั่นป่วนทางการเมือง

ด้านนายแซม อัลท์แมน ซีอีโอของโอเพนเอไอ และนางคริสติน่า มอนต์โกเมอรี่ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความเป็นส่วนตัวและความน่าเชื่อถือของ IBM ได้เรียกร้องให้วุฒิสมาชิกสหรัฐบังคับใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับ AI เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเหล่านี้

นอกจากนี้ ผู้นำ G7 ยังเรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลกละเว้นจากการใช้การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ เป็นเครื่องมือในการบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง โดยประเทศประชาธิปไตยบางแห่งได้รับผลกระทบในทางลบจากการใช้กลยุทธ์ดังกล่าวโดยประเทศเผด็จการ

"เราจะทำงานร่วมกันเพื่อให้แน่ใจว่า ความพยายามที่จะใช้การพึ่งพาทางเศรษฐกิจเป็นอาวุธในการบังคับให้สมาชิก G7 และหุ้นส่วนของเราซึ่งรวมถึงประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กให้ปฏิบัติตามนั้น จะประสบกับความล้มเหลวและเผชิญกับผลที่ตามมา" ถ้อยแถลงของ G7 ระบุโดยมุ่งเป้าไปที่จีนเป็นหลัก

แถลงการณ์นี้ ที่ออกมาหลังจากวันที่สองของการประชุมสุดยอด G7 ที่เมืองฮิโรชิมา ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานสำหรับวัสดุอุตสาหกรรมที่สำคัญ ๆ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และการดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อตอบโต้ข้อจำกัดทางการค้าแต่เพียงฝ่ายเดียว

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า บรรดาผู้นำ G7 ยังยืนยันว่าจะเพิ่มความช่วยเหลือด้านพลังงานและการพัฒนาแก่ประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนา ท่ามกลางความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นว่า จีนกำลังมีส่วนร่วมใน "การทูตแบบกับดักหนี้" (debt-trap diplomacy) โดยใช้เงินกู้เป็นเครื่องมือในการสร้างอิทธิพลเหนือประเทศที่กู้ยืมเงิน

กลุ่มประเทศ G7 พยายามที่จะกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นกับประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่รัสเซียและจีนพยายามที่จะเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการทหารในการพัฒนาที่ถูกมองว่าเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงทั่วโลก

ทั้งนี้ กลุ่ม G7 ประกอบด้วย อังกฤษ แคนาดา เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น และสหรัฐ รวมถึงสหภาพยุโรป (อียู)