ประชาธิปไตยแบบ ‘อาเซียน’ มีส่วนร่วม ไม่ได้หมายความยอมรับ

ประชาธิปไตยแบบ ‘อาเซียน’ มีส่วนร่วม ไม่ได้หมายความยอมรับ

สถานการณ์ความไม่สงบเมียนมา เป็นการวัดกำลังระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย (ประเทศส่วนใหญ่สมาชิกอาเซียน) กับอำนาจเผด็จการทหารเมียนมา ซึ่งปีนี้ อินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน มองหาทางออก เพื่อความสามัคคีและเป็นหนึ่งเดียวในภูมิภาค

ชัดเจนแล้วว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 42 ที่เมืองลาบวนบาโจ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนแสดงบทบาทนำอาเซียนและตอกย้ำให้ 9 ชาติอาเซียน ร่วมกันคลี่คลายสถานการณ์และผลักดันให้เกิดความสงบสุขขึ้นในประเทศเมียนมา อย่างน้อยเป็นการเปิดกว้างรับฟังเมียนมามากขึ้น  เพราะต้องการเห็นความคืบหน้าในการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้ออาเซียนต่อกรณีเมียนมา 

อินโดนีเซียแสดงความพร้อมเพื่อพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มทั้งหมด รวมถึงผู้นำรัฐบาลทหาร หวังได้รับคำมั่นจะหยุดยั้งการใช้ความรุนแรง และเปิดรับการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา  

“การมีส่วนร่วมกับเมียนมา ไม่ได้หมายความว่ายอมรับ” ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดกล่าวภายหลังการประชุมผู้นำอาเซียน เพราะนี่เป็นโอกาสสำคัญของอาเซียนที่จะผลักดันการเจรจาให้ครอบคลุมได้ฉันมติ 5 ข้อ ซึ่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียย้ำถึงการยึดมั่นความมีส่วนร่วมให้มากขึ้น โดยเดิมพันแลกมาด้วยความน่าเชื่อถือของอาเซียน

นักการทูตท่านหนึ่งกล่าวว่า ฉากหน้าอาเซียนมองการพัฒนาภูมิภาคเป็นเป้าหมายเดียวกันก็จริง แต่เป็นที่รู้กันในแวดวงอาเซียนว่า อินโดนีเซียและสิงคโปร์ต่างชิงความได้เปรียบ ในเป็นผู้นำในภูมิภาค เช่น การเมืองระหว่างประเทศ เทคโนโลยี การค้า และการส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค

แต่กรณีสถานการณ์เมียนมานั้น การมีบทบาทนำในเรื่องๆหนึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการจัดการและแก้ไขปัญหา เพราะเรื่องราวมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับผู้เล่นหลากหลายกลุ่ม ไม่ได้มีความขัดแย้งเฉพาะกลุ่มการเมือง แต่ยังมีปัญหาพิพาทที่พัวพันและฝั่งรากลึกยาวนานระหว่างกลุ่มการเมืองกับกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่มหลักๆ ทั่วประเทศเมียนมา ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจบริบทและมาถึงคราวนี้ อินโดนีเซียก็ต้องยอมรับว่า “สถานการณ์เมียนมาต้องการความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง”

นักการทูตคนเดิมเผยว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ โจโกวีได้กล่าวว่า อินโดนีเซียไม่อาจปล่อยให้ใครก็ตามที่อยู่ในหรือนอกอาเซียนใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งภายในเมียนมา จึงขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องร่วมกันหยุดใช้ความรุนแรงและปกป้องประชาชน

ดูเหมือนผู้นำอินโดนีเซียเริ่มจะเข้าใจสถานการณ์จริงมากขึ้น ผิดจากท่าทีก่อนหน้าการประชุมเริ่มขึ้น ผู้นำอินโดนีเซียแสดงความผิดหวังต่อเมียนมาที่ล้มเหลว ในการดำเนินการตามแผนสันติภาพให้คืบหน้าได้ ขณะที่เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียออกมาเผยว่า ผู้นำอื่นๆ ในอาเซียนก็รู้สึกเช่นนี้เหมือนกัน เพราะเรายึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยและระบบธรรมาภิบาล

นับตั้งแต่ปี 2564 อาเซียนไม่รับผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ มาจนถึงตอนนี้ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่42 เก้าอี้ผู้นำเมียนมายังคงว่างเปล่า ไร้เงาผู้นำเมียนมา ซึ่งขณะนี้เมียนมาอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของพลเอกอาวุโสหมิน อ่อง หล่าย  

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าวว่า การที่เมียนมาไร้ความคืบหน้าการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อไม่ได้หมายความว่า “อาเซียนจะยอมแพ้” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกหลักการในกฎบัตรอาเซียน