ค่าเช่าอสังหาฯสิงคโปร์พุ่ง หนุน'แรงงาน-ธุรกิจต่างชาติ'เผ่นหนี

ค่าเช่าอสังหาฯสิงคโปร์พุ่ง หนุน'แรงงาน-ธุรกิจต่างชาติ'เผ่นหนี

ค่าเช่าอสังหาฯสิงคโปร์พุ่ง หนุน'แรงงาน-ธุรกิจต่างชาติ'เผ่นหนี โดยบริษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในสิงคโปร์บางแห่ง เตรียมย้ายพนักงานไปที่ที่ค่าครองชีพถูกกว่า เช่น กัวลาลัมเปร์ ,จาการ์ตา และกรุงเทพฯ

ข้อมูลจากองค์กรพัฒนาเมืองของสิงคโปร์ ระบุว่า ค่าเช่าโดยเฉลี่ยในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีสัดส่วนชาวต่างชาติมากถึง 40% ของประชากร เพิ่มขึ้น 30% ในปี 2565 ถือว่าปรับตัวขึ้นเร็วที่สุดในรอบ 15 ปี

ราคาค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น มาจากหลายปัจจัย ทั้งความขาดแคลนอุปทานที่อยู่อาศัย เนื่องจากการก่อสร้างล่าช้าเพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19, ความต้องการใช้สำนักงานจำนวนมากจากหลายบริษัท, การปราบปรามอุตสาหกรรมเอกชนของจีนและฮ่องกง และประชากรที่มีศักยภาพย้ายเข้ามาในเมืองเพิ่มขึ้น

ผู้ถือใบอนุญาตประกอบอาชีพและใบอนุญาตทำงานระดับชำนาญงานของชาวต่างชาติ หรือวีซ่าหลักเปิดให้ชาวต่างชาติระดับมืออาชีพ ย้ายเข้ามาทำงานในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นจาก 323,500 ใบในปี 2564 เป็น 365,200 ใบในปี 2565

“เบน ดันน์” ชาวออสเตรเลียวัย 51 ปีและครอบครัวที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์มานาน 16 ปี พิจารณาค่าเช่าคอนโครายเดือนที่เพิ่มขึ้นจาก 7,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ เป็น 11,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และตัดสินใจย้ายกลับไปอยู่ออสเตรเลีย เมื่อสิ้นสุดสัญญาในเดือน มิ.ย.

“เรารักการพำนักอยู่ในสิงคโปร์ แต่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นและค่าจ้างไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม ทำให้ค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายอย่างรุนแรง” ดันน์ กล่าว

ทั้งนี้ ยังไม่มีตัวเลขย้ายถิ่นฐานอย่างเป็นทางการ แต่ดันน์ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มชาวต่างชาติที่ย้ายออกจากสิงคโปร์ เพราะค่าเช่าเพิ่มขึ้น สร้างความกังวลว่าประเทศเล็ก ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ ถึงจุดเสี่ยงที่จะสูญเสียเสน่ห์ในการดึงดูดชาวต่างชาติ ในฐานะศูนย์กลางทางธุรกิจของภูมิภาค

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจท้องถิ่นและต่างชาติในสิงคโปร์ต่างกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับต้นทุนค่าที่อยู่อาศัยและออฟฟิศพุ่งสูงเช่นกัน

ผลสำรวจจากหอการค้ายุโรปในสิงคโปร์ (ยูโรแชม) พบว่า ธุรกิจท้องถิ่นและต่างชาติ 7 ใน 10 แห่ง เตรียมพร้อมที่จะย้ายพนักงานแล้ว หากต้นทุนดังกล่าวยังไม่ลดลง ขณะที่ชาวต่างชาติครึ่งหนึ่งที่ต่อสัญญาเช่าที่อยู่อาศัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ เห็นว่าค่าเช่าเพิ่มขึ้นถึง 40%

เอแพค รีโลเคชัน บริษัทย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ พบว่า 10% ของลูกค้าย้ายถิ่นฐานเพราะค่าเช่าเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา

ค่าเช่าอสังหาฯสิงคโปร์พุ่ง หนุน\'แรงงาน-ธุรกิจต่างชาติ\'เผ่นหนี
 

“อุนนิ กฤษณะ” ผู้จัดการรีโลเคชันของเอแพค ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราห์ว่า ชาวต่างชาติหลายคนเลือกลดคุณภาพที่อยู่อาศัยจากการเป็นเจ้าของที่ดินส่วนตัวและคอนโคขนาดใหญ่ใจกลางเมืองสิงคโปร์ เป็นอพาร์ตเมนต์ขนาดเล็กกว่า ไปจนถึงการเคหะของรัฐบาลในแถบชานเมืองแทน

“โจชัว ยิม” ผู้บริหารระดับสูงของอาชีฟ กรุ๊ป พบว่า บริษัทต่าง ๆ หันไปใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์เพื่อรับมือกับต้นทุนที่สูงขึ้น

ยิม ผู้เป็นเจ้าของบริษัทจัดหางานที่คอยรับสมัครพนักงานหลากหลายสาขา ทั้งด้านเทคโนโลยี การธนาคาร และเภสัชกรรม บอกว่า 

“บริษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในสิงคโปร์บางแห่ง เตรียมย้ายพนักงานไปเมืองใหญ่ หรือเมืองหลวงที่ค่าครองชีพถูกกว่า อย่างกรุงกัวลาลัมเปร์ กรุงจาการ์ตา และกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นเมืองที่สามารถทำงานจากทางไกลได้และกลับเข้าเมืองเฉพาะเรื่องสำคัญเท่านั้น”

ทั้งนี้ ยิม เห็นชาวต่างชาติจำนวนมากออกจากสิงคโปร์ เพราะค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ส่วนคนอื่น ๆ ที่กำลังต่อรองค่าเช่าให้ถูกลง เลิกหาที่อยู่ใหม่ในสิงคโปร์แล้ว

ขณะที่ปัญหาค่าเช่าเป็นเรื่องที่หลายคนพูดถึงในแวดววงธุรกิจ ยิม บอกว่า เขามองสถานการณ์นี้ในแง่ดีว่าอาจถึงจุดจบภายในสิ้นปีนี้ โดยยิมคาดว่า รัฐบาลจะเข้ามาปกป้องความเสื่อมถอยของความสามารถในการแข่งขันของสิงคโปร์

“อัลเบิร์ต ซุย” กรรมการบริหารฝ่ายสนับสนุนและนโยบายจากสภาธุรกิจสิงคโปร์ (เอสบีเอฟ) บอกว่า การเปลี่ยนแปลงในซัพพลายเชนและเงินเฟ้อ ทำให้ธุรกิจที่ต้นทุนเพิ่มขึ้น เช่น ต้นทุนด้านค่าเช่า แต่ขณะที่ต้นทุนสูงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความน่าดึงดูดของสิงคโปร์ บริษัทหลายแห่งยังตระหนักดีว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทเมื่อต้องเลือกลงทุนในแต่ละประเทศ

ซุย เผยว่า “สิ่งที่ยังคงทำให้สิงคโปร์แตกต่างจากที่อื่นคือ ความพร้อมในการเข้าถึงผู้มีความสามารถระดับโลก มีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และมีสถาบันที่สามารถปกป้องมูลค่าสินทรัพย์ของธุรกิจได้สถานการณ์ทางการเมือง และสภาพแวดล้อมขององค์กรที่มั่นคงในสิงคโปร์ หนุนให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืน ซึ่งทำให้ประเทศเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูด”

เพื่อคลายความกังวลว่าค่าเช่าที่พุ่งสูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพของสิงคโปร์ รัฐบาลยืนยันว่า ได้จับตาดูตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งตลาดเช่าที่อยู่อาศัยด้วย

“เดสมอนด์ ลี” รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติ เคยตอบคำถามในรัฐสภาเมื่อเดือน พ.ย. 2565 ว่า “นอกเหนือจากค่าเช่าแล้ว นักธุรกิจระดับโลกพิจารณาจากปัจจัยหลายอย่าง เมื่อต้องตัดสินใจย้ายฐานบริษัท ทั้งปัจจัยที่สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางธุรกิจระดับโลก การมีเครือข่ายภายนอกที่แข็งแกร่ง มีเส้นทางการค้าดี มีระบบการศึกษาและระบบสุขภาพที่ได้มาตรฐาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

แต่สำหรับชาวต่างชาติอย่างดันน์แล้ว สถานการณ์ปัจจุบันทำให้ยากที่จะตัดสินใจอยู่ในสิงคโปร์ต่อ ดันน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “เราอยู่ที่นี่ด้วยจิตใจมุ่งมั่นหนักแน่น แต่เราก็เบื่อกับสถานการณ์ปัจจุบันมาก”