เมื่อ‘จีน’ควบบทบาท‘ผู้สร้างสันติภาพ’และผู้‘พร้อมเปิดศึก’ปมไต้หวัน

เมื่อ‘จีน’ควบบทบาท‘ผู้สร้างสันติภาพ’และผู้‘พร้อมเปิดศึก’ปมไต้หวัน

เมื่อ‘จีน’ควบบทบาท‘เป็นทั้งผู้สร้างสันติภาพ’ด้วยความหวังว่าจะยุติการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน และเป็นทั้งผู้‘พร้อมเปิดศึก’กับทุกประเทศที่เข้ามาวุ่นวายในกิจการไต้หวัน

เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจิบน้ำชาหารือแนวทางสร้างสันติภาพในสงครามยูเครนกับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศศ ที่กรุงปักกิ่งเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ปรากฏเครื่องบินรบจีนร่อนข้ามช่องแคบไต้หวัน ในการซ้อมรบของกองทัพปักกิ่งที่ต้องการแสดงแสงยานุภาพทางการทหารและข่มขวัญไทเป

การเยือนกรุงปักกิ่งของผู้นำฝรั่งเศสถือเป็นความสำเร็จสูงสุดของจีน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เชิงตั้งคำถามว่า จีนกำลังเล่นสองบทบาทให้ประชาคมโลกตายใจอยู่หรือเปล่า กล่าวคือสวมบทบาทเป็น “ผู้สร้างสันติภาพ” ขณะเดียวกันก็มีพฤติกรรม “ก้าวร้าว”ที่พร้อมจะเล่นงานใครก็ตามที่เข้ามาข้องแวะไต้หวัน ซึ่งเป็นดินแดนที่จีนอ้างอธิปไตยเหนือเกาะแห่งนี้ 

นับตั้งแต่ประธานาธิบดีสี ออกจากหอคอยงาช้างหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เพื่อพบปะบรรดาผู้นำต่างชาติ พูดได้ว่าผู้นำคนนี้ใช้เวลาไปกับการทูตได้อย่างคุ้มค่า เริ่มจากการพบปะกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียที่อุซเบกิสถาน  ต่อด้วยการไปร่วมประชุมกับผู้นำระดับโลก G20 ที่บาหลี ไปจนถึงการประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯ 

จากนั้นก็มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกัน โดยผู้นำจีนได้พบปะนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบียที่กรุงริยาด และตามมาด้วยการเยือนปักกิ่งของผู้นำสำคัญๆ อย่างประธานกรรมาธิการยุโรปที่มาพร้อมกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส และล่าสุด ประธานาธิบดีบราซิลที่เยือนจีนในสัปดาห์นี้

เมื่อครบรอบ 1 ปี สงครามรัสเซีย-ยูเครน ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา จีนเสนอ “แผนสันติภาพยูเครน” 12 ข้อ ได้แก่

1.เคารพอธิปไตยทุกประเทศและปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงวัตถุประสงค์และกฎบัตรสหประชาชาติอย่างเคร่งครัด

2.ละทิ้งความคิดแบบสงครามเย็น เพราะความมั่นคงของประเทศไม่ควรถูกครอบงำโดยผู้อื่น การรักษาความปลอดภัยในภูมิภาคไม่ควรเป็นไปเพื่อขยายกลุ่มทางทหาร

3. ยุติการสู้รบเเละหยุดยิง ทุกฝ่ายต้องมีเหตุผลและใช้ความยับยั้งชั่งใจ หลีกเลี่ยงการเพิ่มความตึงเครียด

4. เจรจาสันติภาพเป็นทางออกวิกฤติยูเครนที่เป็นไปได้

5.การแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมต้องเป็นไปตามหลักการความเป็นกลาง ไม่ถูกการเมืองแทรกแซง พลเรือนต้องได้รับการปกป้องความปลอดภัย

6.การปกป้องพลเรือนและเชลยศึก (POWs)

7. จีนต่อต้านการโจมตีโรงไฟฟานิวเคลียร์ และเรียกร้องให้ปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์

8.ลดความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ ห้ามใช้อาวุธนิวเคลียร์และห้ามทำสงครามนิวเคลียร์ 

 9. อำนวยความสะดวกในการส่งออกธัญพืช

10. จีนต่อต้านการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวที่ไม่ได้รับอนุญาตจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และประเทศที่เกี่ยวข้องควรหยุดใช้มาตรการนี้เพราะใช้ขอบเขตอำนาจศาลในทางที่ผิด

11. การรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน และ

12.ประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นต้องใช้มาตรการสนับสนุนการฟื้นฟูประเทศหลังความขัดแย้งยุติลง 


 “เจนส์ สโตลเตนเบิร์ก” เลขาธิการนาโตชี้ว่า จีนไม่ได้อยู่ในสถานะเหมาะสมที่จะมาเจรจาให้ยุติสงคราม เพราะจีนไม่มีความน่าเชื่อถือมากพอ

เมื่อเทียบกันแล้ว จีนเองยังไม่อาจยับยั้งชั่งใจต่อกรณีไต้หวันได้ เฉพาะในปีนี้ จีนก็ประกาศคว่ำบาตรบุคคลสำคัญๆอย่างเอกอัครรชทูตไต้หวัน ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. หวังเขียนเสือให้วัวกลัว โทษฐานมีส่วนสนับสนุนให้ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินพบปะกับ"เควิน แมคคาร์ธี" ประธานสภาสหรัฐที่นครลอสแองเจลิส และล่าสุด จีนยังคว่ำบาตร"ไมเคิล แมคคอล" ส.ว.สหรัฐที่เยือนกรุงไทเปเพื่อพูดคุยเรื่องให้โควตาไต้หวันซื้ออาวุธเพิ่ม 

นักวิเคราะห์หลายคนฟังเหตุผลการคบค้าระหว่างไต้หวันกับสหรัฐแล้ว ก็ไม่แปลกใจที่จีนแสดงความไม่พอใจมากขนาดนี้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงของจีน 

ถึงอย่างไรส่วนใหญ่ก็เชื่อว่า จีนจะไม่รุกรานไต้หวันในเร็วๆนี้ แต่ที่น่ากังวลคือ ปฏิบัติการทางทหารที่อาจจะบานปลาย สุ่มเสี่ยงสร้างความรุนแรง อาจนำไปสู่ความผิดพลาดและบานปลายเป็นการทำสงครามกับสหรัฐ ในช่วงที่สหรัฐกำลังสวมบทบาทผู้ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างแข็งขันในขณะนี้