แผนปราบ‘เสื้อผ้ามือสอง’รัฐบาล ฉุดรายได้ผู้ค้ารายย่อยอินโดนีเซีย

แผนปราบ‘เสื้อผ้ามือสอง’รัฐบาล ฉุดรายได้ผู้ค้ารายย่อยอินโดนีเซีย

แผนปราบ‘เสื้อผ้ามือสอง’รัฐบาล ฉุดรายได้ผู้ค้ารายย่อยอินโดฯ โดยมีรายงานข่าวว่ารองเท้ามือสองที่คนใจบุญบริจาคในสิงคโปร์ให้แก่หน่วยงานแห่งหนึ่ง ถูกนำเข้ามาจำหน่ายในอินโดนีเซียแทนที่จะนำไปรีไซเคิลตามที่แจ้งไว้

สงครามเสื้อผ้ามือสองในอินโดนีเซียกำลังสร้างปัญหาให้แก่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าในท้องถิ่น เนื่องจากรัฐบาลเร่งปราบปรามบรรดาผู้นำเข้าเสื้อผ้าใช้แล้วหลังจากได้รับรายงานว่าเสื้อผ้ามือสองที่ได้รับบริจาคมาจากเหล่าผู้ใจบุญทั้งหลายมีจุดจบอยู่ที่ร้านขายเสื้อผ้ามือสองทั่วอินโดนีเซีย      

“สิติ” ซึ่งขายเสื้อผ้าใช้แล้วในเมืองเมดาน ของอินโดนีเซีย รอให้ถึงเทศกาลรอมฎอนอย่างใจจดใจจ่อ เพราะในช่วงเทศกาลสำคัญนี้จะมีชาวมุสลิมจำนวนมากแห่มาซื้อเสื้อที่ตลาดมือสองกันอย่างคับคั่ง  แต่ปีนี้สิ่งที่หวังไว้อาจไม่เป็นไปตามที่หวัง เพราะเสื้อผ้ามือสองในสต็อกของเธอร่อยหรอลงเรื่อยๆ จนทำให้สิติ เริ่มกังวลว่าเธออาจจะไม่มีเสื้อผ้ามือสองไว้ขาย ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ก็หมายความว่าเธอจะไม่มีรายได้

ที่ผ่านมา อินโดนีเซียเป็นแหล่งขายเสื้อผ้ามือสองที่สำคัญแม้ว่ารัฐบาลจะไม่ค่อยเห็นดีเห็นงามมากนัก โดยในปี 2558 รัฐบาลห้ามนำเข้าเสื้อผ้ามือสองเพราะข้อกังวลเกี่ยวกับความสะอาดของเสื้อผ้าที่อาจก่อผลเสียแก่สุขภาพประชาชนและวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอในท้องถิ่น แต่รัฐบาลไม่ได้ห้ามขายเสื้อผ้าใช้แล้วที่ผลิตในท้องถิ่น 

ประเด็นการค้าเสื้อผ้ามือสองกลับมาอยู่ในความสนใจของสาธารณะและถูกตรวจสอบอย่างจริงจังจากรัฐบาลอีกครั้ง นับตั้งแต่สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานเมื่อเดือนมี.คว่า มีการนำรองเท้ามือสองที่คนใจบุญบริจาคในสิงคโปร์ให้แก่หน่วยงานแห่งหนึ่งเข้ามาจำหน่ายในอินโดนีเซียแทนที่จะนำไปรีไซเคิลตามที่แจ้งไว้ตอนรับบริจาคเสื้อผ้า

รายงานข่าวนี้ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียถึงกับเพิ่มจุดตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและมอนิเตอร์ตามสนามบินทุกแห่งอย่างเข็มงวด และซุลกิฟลิ ฮาซัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อินโดนีเซีย ประกาศทำสงครามรอบใหม่กับเสื้อผ้ามือสองที่มีเป้าหมายไม่ใช่แค่การนำเข้าอย่างผิดกฏหมายเท่านั้นแต่มุ่งเน้นเอาผิดบรรดาร้านค้าที่จำหน่ายเสื้อผ้ามือสองด้วย

ปลายเดือนที่แล้ว ฮาซัน ได้ไปปฏิบัติภาระกิจในชวาตะวันตกเพื่อทำลายเสื้อผ้ามือสองนำเข้าอย่างผิดกฏหมายจำนวนกว่า 7,000 มัด มูลค่ารวมทั้งสิ้น 5,300 ล้านดอลลาร์

“ปฏิบัติการนี้เป็นการทำตามนโยบายของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เรากวาดล้างเสื้อผ้ามือสองที่นำเข้าอย่างผิดกฏหมายมาหลายครั้งแล้ว และครั้งนี้มากที่สุด”ฮาซัน กล่าว

ส่วน“เทเทน มาสดูกิ”รัฐมนตรีกระทรวงความร่วมมือและกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางของอินโดนีเซีย ระบุว่า การปราบปรามเสื้อผ้ามือสองเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปกป้องธุรกิจในท้องถิ่น

"การที่รัฐบาลอินโดนีเซียมีคำสั่งห้ามค้าขายเสื้อผ้ามือสองที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้นเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องน่าละอายใจ หากชาวอินโดนีเซียเลือกใช้เสื้อผ้ามือสองนำเข้า แทนการเลือกใช้เสื้อผ้าที่มาจากแบรนด์ที่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีในประเทศกำลังพัฒนาแบรนด์และการใช้เสื้อผ้ามือสองที่นำเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเสื้อผ้า และเครื่องรองเท้าในอินโดนีเซียได้ ซึ่งจะทำให้กลุ่มเอสเอ็มอีไม่สามารถดำเนินธุรกิจ และทำให้เกิดการสูญเสียตำแหน่งงานจำนวนมากในอนาคต" รัฐมนตรีกระทรวงความร่วมมือและกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางของอินโดนีเซีย กล่าว

ขณะที่ เจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากร กล่าวว่า เสื้อผ้ามือสองผิดกฏหมายเหล่านี้มาจากประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และไทย ก่อนจะนำมาซักทำความสะอาดและแยกประเภท เช่น เสื้อผ้าสำหรับผู้ใหญ่ และเสื้อผ้าสำหรับเด็กทารก และขายยกล็อตให้แก่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าขายปลีกต่อไป

ในฐานะคนขายอย่างสิติ การปราบปรามเสื้อผ้ามือสองที่เข้าสู่อินโดนีเซีย โดยมาจากสิงคโปร์ผ่านท่าเรือตันจุง บาไลของอินโดนีเซีย ทำให้การทำมาหากินของเธอยากลำบากมากขึ้น    

“ก็ได้แต่หวังว่าเราจะหาซื้อเสื้่อผ้ามือสองได้ แต่ได้ยินมาว่าถ้าทางการตรวจเจอเมื่อไหร่ พวกเขาจะนำเสื้อผ้าเหล่านั้นมาเผาทิ้งทันที”สิติ ซึ่งตามปกติจะมีรายได้จากการขายเสื้อผ้ามือสองในช่วงไม่กี่สัปดาห์ประมาณ  536 ดอลลาร์

“ฮอทนิดา สิอันทูริ” แม่ค้าเสื้อผ้ามือสองอีกรายในเมืองเมดาน เล่าว่า รับเสื้อผ้ามือสองจากเกาหลีหรือไม่ก็ญี่ปุ่นมาขายแต่ตอนนี้หาแหล่งซื้อเสื้อผ้าเหล่านี้ได้ยากมาก เนื่องจากบรรดาผู้นำเข้ากลัวว่าทางการจะยึดเสื้อผ้าและนำไปเผาทำลาย

แต่ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าจำนวนมากคัดค้านมาตรการห้ามนำเข้าเสื้อผ้ามือสอง ชาวอินโดฯบางคนกลับขานรับมาตรการนี้ เช่น “ริโอ พริอัมโบโด” เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแห่งอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่แสวงผลกำไร บอกว่า มูลนิธิคัดค้านมาตรการนี้อย่างแข็งขัน      

"การซื้อเสื้อผ้ามือสองไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของอินโดนีเซียเลย เพราะทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอของประเทศต้องลดการผลิตให้น้อยลง และเสื้อผ้ามือสองยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม  ถ้าคนไม่ซื้อเสื้อผ้าพวกนี้ที่สภาพไม่ดี  มันก็จะถูกทิ้งลงถังขยะ  ทำให้ปริมาณขยะในประเทศเพิ่มขึ้น"มูลนิธิ ระบุ   

แต่ในมุมมองของผู้ซื้อบางคนที่เห็นต่าง กลับมีความเห็นว่า“อุตสาหกรรมสิ่งทอในท้องถิ่นมีราคาแพงและคุณภาพยังไม่ดีเท่ากับเสื้อผ้านำเข้าจากต่างประเทศ และถ้าต้องการเป็นเจ้าของเสื้อผ้าแบรนด์ดีๆในราคาที่เอื้อมถึง ก็มีทางเดียวคือซื้อเสื้อผ้ามือสองที่นำเข้าจากต่างประเทศ”