สังคมนิยมอนาคิสต์ในสเปนยุคปฏิวัติ ปี 1936-1939 | วิทยากร เชียงกูล

สังคมนิยมอนาคิสต์ในสเปนยุคปฏิวัติ ปี 1936-1939 | วิทยากร เชียงกูล

ค.ศ.1936 (87 ปีที่แล้ว) สเปนปกครองด้วยรัฐบาลผสมฝ่ายซ้ายที่ชนะการเลือกตั้ง แต่ถูกกองทัพนำโดยนายทหารฝ่ายขวาก่อกบฏ

พวกประชาชนที่เป็นกองกำลังสังคมนิยมและอนาคิสต์ (จากคนงาน ชาวนาและคนอาชีพอื่นๆ) จับอาวุธขึ้นขับไล่ทหารฝ่ายฟาสซิสต์ของนายพลฟรังโกออกไปจากเมืองใหญ่หลายเมืองได้ 

พวกอนาคิสต์ยึดแคว้นคาตาลันญ่าได้ พวกเขาจัดตั้งคอมมูนแบบสหกรณ์ทั้งในเมืองและชนบท ที่ประชาชนเลือกคณะกรรมการบริหารจัดการกันเอง โดยไม่ต้องพึ่งรัฐบาลกลางได้อยู่ 3 ปี

สังคมนิยมอนาคิสต์ในสเปนยุคปฏิวัติ ปี 1936-1939 | วิทยากร เชียงกูล

  • การสร้างระบบเศรษฐกิจสังคมแบบอนาคิสต์ในสเปนช่วงปี 1936-1939

แคว้นคาตาลันญ่าเป็นแคว้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมมากที่สุดในยุคนั้น (ราว 2 ใน 3 ของทั้งประเทศ) กองกำลังฝ่ายอนาคิสต์สเปนยึดครองแคว้นนี้ได้ สหภาพแรงงาน CNT (แนวอนาคิสต์)

เข้าควบคุมและจัดการบริหารด้วยคณะกรรมการคนงาน ทั้งโรงงานทอผ้า การเดินรถราง และรถบัส อุตสาหกรรมการประมง รองเท้า ธุรกิจร้านค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง ฯลฯ

รวมแล้วราว 70% ของอุตสาหกรรมและธุรกิจของทั้งแคว้น กิจการแต่ละแห่งมีคณะกรรมการคนงานที่มาจากการเลือกตั้งโดยคนงานเป็นผู้บริหารแบบไม่มีสิทธิพิเศษกว่าคนอื่น คือคณะกรรมการบริหารต้องทำงานตามหน้าที่เดิมด้วย

ประชาชนบริหารงานกันเองอย่างได้ผลค่อนข้างดี ผลผลิตทางเกษตรเพิ่มขึ้นกว่ายุคก่อนหน้านั้น 20% ทั้งๆ ที่อยู่ในสถานการณ์สงคราม ประชาชนในเขตชนบทจัดตั้งระบบการผลิตใหม่โดยการโอนที่ดินมาเป็นของสังคม

ผลิตและแบ่งปันร่วมกันโดยสมาชิกคอมมูนที่มีคณะกรรมการประชาชนในแต่ละท้องที่เลือกขึ้นมาบริหารกันเอง การจัดตั้งคอมมูนแต่ละแห่งนั้นพวกประชาชนในพื้นที่เคลื่อนไหวจัดการกันเอง 

ในแคว้นคาตาลันญ่าที่นาที่ถูกนำไปจัดระบบใหม่มีถึง 70% ของที่ดินเพื่อการเพาะปลูกทั้งหมด ในแคว้นและจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ในเขตของรัฐบาลสาธารณรัฐมีสัดส่วนระหว่างร้อยละ 24-91

พวกเขาใช้วิธีแนะนำรณรงค์ให้เกษตรกรแต่ละแห่งทำกันเอง ไม่มีการบังคับ เกษตรกรขนาดเล็กยังคงทำการเกษตรของตนเองต่อไปได้ถ้าไม่อยากเข้าร่วมคอมมูน เพียงแต่ต้องลงมือทำด้วยตัวเขาเองห้ามการจ้างแรงงาน

สังคมนิยมอนาคิสต์ในสเปนยุคปฏิวัติ ปี 1936-1939 | วิทยากร เชียงกูล

จำนวนคอมมูน (สหกรณ์ผู้ผลิต) เกษตรในแต่ละแคว้น จังหวัด แตกต่างกันไป เช่น ในอารากอนมี 450 คอมมูน การแบ่งเป็นคอมมูนขนาดเล็กสามารถบริหารแบบประชาธิปไตยทางตรงได้ผลดีกว่า คอมมูนเกษตรที่มีมากที่สุดอยู่ที่จังหวัด Ciudad Real

ซึ่งในปี 1938 มีการจัดตั้งคอมมูนเกษตรในพื้นที่รวมราว 1 ล้านเฮกตาร์ (62.5 ล้านไร่) หรือเกือบ 90% ของพื้นที่เพาะปลูกของทั้งจังหวัด คอมมูนการเกษตรหลายแห่งยืนหยัดอยู่ได้ถึงตอนปลายสงครามในปี 1939

จุดที่สำคัญคือ ประชาชนในแต่ละคอมมูนจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการกันเอง โดยไม่มีระบบราชการมาจัดการ แม้จะมีรัฐบาลผสมของฝ่ายซ้ายหลายพรรคอยู่ที่เมืองหลวงคือมาดริด

แต่ในสถานการณ์สงครามที่กองกำลังประชาชนและสหภาพแรงงานกลุ่มต่างๆ คือกลุ่มคอมมิวนิสต์ สังคมนิยมอิสระ กลุ่มอนาคิสต์ต่างกลุ่มต่างยึดครองพื้นที่และดูแลพื้นที่ของตนเอง รัฐบาลกลางทำอะไรไม่ได้มากนัก ในบางพื้นที่ที่มีฝ่ายซ้ายหลายกลุ่มอยู่ร่วมกัน ต่างกลุ่มต่างจัดตั้งคอมมูนย่อยของกลุ่มตน ที่คณะกรรมการของแต่ละกลุ่มต่างดูแลกันเอง

ในพื้นที่ยึดครองของฝ่ายอนาคิสต์เอง องค์กรที่รวมพลังชาวอนาคิสต์ได้มากที่สุดคือ สหภาพ CNT แต่ผู้นำขององค์กรสหภาพ CNT ไม่ได้มีอำนาจแบบรัฐบาล การบริหารทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง ทรัพยากร ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการชุดต่างๆ รวมทั้งหน่วยทหารต่างก็มีคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งของทหารด้วย 

กองกำลังของพวกอนาคิสต์ ซึ่งมาจากคนงาน เกษตรกรแบบอาสาสมัครนั้น บริหารกันแบบเสมอภาค ประชาธิปไตย ตามอุดมคติของพวกอนาคิสต์ และทหารมีหน้าที่รบเป็นหลักเท่านั้น

คณะกรรมการประชาชนกลุ่มต่างๆ ยังจัดการด้านการศึกษา ห้องสมุด การสาธารณสุข การละคร และศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ด้วย พวกเขาเน้นเรื่องการให้การศึกษา การปลูกจิตสำนึกทางการเมืองและส่งเสริมให้ประชาชนมีเสรีภาพในการคิดการทำงานร่วมกันเพื่อส่วนรวม

พวกอนาคิสต์ยอมรับเผยแพร่แนวคิดที่ก้าวหน้า เช่น สิทธิเสมอภาคของสตรี ผู้หญิงมีสิทธิที่จะทำแท้งโดยถูกกฎหมายได้เป็นครั้งแรก ส่งเสริมการพัฒนาแนวอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศด้วย การรักษาความสงบของสาธารณะใช้ระบบตำรวจและทหารแบบอาสาสมัคร ดูแลโดยคณะกรรมการชุมชนในแต่ละท้องถิ่น

พวกเขาเน้นการให้สังคมช่วยดูแลตักเตือนให้การศึกษาคนที่ทำผิดมากกว่าการลงโทษ มีการอภัยโทษให้นักโทษจำนวนมากและคุกบางแห่งถูกปิดไป เพราะไม่มีนักโทษ

Carlo Rosselli อาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Genoa ในยุคก่อนที่มุสโสลินี พวกฟาสซิสต์จะขึ้นมามีอำนาจในอิตาลี เป็นหนึ่งในอาสาสมัครชาวต่างชาติที่ไปช่วยฝ่ายรัฐบาลสาธารณรัฐสเปนรบกับพวกกบฏฝ่ายขวาในยุคนั้น เล่าความประทับใจของเขาไว้ดังนี้

สังคมนิยมอนาคิสต์ในสเปนยุคปฏิวัติ ปี 1936-1939 | วิทยากร เชียงกูล

“ในช่วง 3 เดือนแรก คาตาลันญ่าสามารถสร้างระเบียบสังคมใหม่ได้จากซากปรักหักพังที่รัฐบาลเก่าทำไว้ ส่วนใหญ่เป็นผลงานของพวกอนาคิสต์ ผู้ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความเข้าใจในเรื่องสัดส่วนความเหมาะสมว่าควรจะทำอย่างไรแค่ไหนมาก เป็นพวกที่เข้าใจโลกตามความเป็นจริงและมีความสามารถในการบริหารจัดการ 

พลังที่ปฏิวัติทั้งหมดของแคว้นคาตาลันญ่าสามัคคีกันภายใต้โครงการแนว Syndicalist-Socialist (สหภาพแรงงานนิยม-สังคมนิยม) โอนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาเป็นของสังคม ยอมรับผู้ผลิตรายย่อย และการให้คนงานเป็นผู้ควบคุมการผลิตอย่างแท้จริง

คติ Anarcho-Sydicalism (สหภาพแรงงานนิยมแนวอนาคิสต์) ที่คนภายนอกเกลียดกลัวนั้น ได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาคือพลังสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ 

ผมไม่ใช่พวกอนาคิสต์ แต่ผมถือเป็นหน้าที่ที่ผมจะแสดงความเห็นของผมต่อชาวอนาคิสต์แห่งคาตาลันญ่าให้โลกรับรู้ความจริง บ่อยครั้งที่สังคมโลกโจมตีพวกเขาว่าเป็นพวกทำลายล้างหรือเป็นพวกอาชญากร

แต่ผมอยู่ร่วมรบกับเขาในแนวหน้าและในสนามเพลาะของสงคราม และผมเรียนรู้ที่จะชื่นชมพวกเขา ชาวอนาคิสต์แห่งคาตาลันญ่าคือ กลุ่มคนที่ก้าวหน้าที่สุดของการปฏิวัติที่กำลังมาถึง โลกใหม่กำลังเกิดขึ้นเพราะพวกเขา และผมปีติยินดีที่ได้มีส่วนรับใช้โลกใหญ่นี้”

(อ่านเพิ่มเติม ปีเตอร์ โครพอตกิ้น ศาสดาอนาธิปไตย โดยวิทยากร เชียงกูล พิมพ์โดย สนพ.แสงดาว 2566)