โอเปคพลัสลดผลิตน้ำมัน ย้ำ'ซาอุฯ-สหรัฐ'ร้าวฉาน

โอเปคพลัสลดผลิตน้ำมัน ย้ำ'ซาอุฯ-สหรัฐ'ร้าวฉาน

โอเปคพลัสลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจอีก 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่มีใครคาดคิดส่งผลราคาน้ำมันพุ่ง ต่อเนื่องไปถึงการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ทั้งยังสะท้อนถึงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับซาอุดีอาระเบียด้วย

เมื่อกว่าเจ็ดทศวรรษก่อน สหรัฐและซาอุดีอาระเบียที่แม้มีจุดยืนแตกต่างด้านสิทธิมนุษยชนและความขัดแย้งอาหรับ-อิสราเอล กลับกลายเป็นพันธมิตรใกล้ชิดแบบต่างตอบแทน สหรัฐค้ำประกันความปลอดภัยให้ผู้ปกครองซาอุฯ  แลกกับการได้เข้าถึงน้ำมันสำรองมหาศาล ข้อตกลงนี้ยืนหยัดผ่านความขัดแย้งเป็นช่วงๆ อย่างไรก็ตามพักหลังสัมพันธภาพอ่อนแอลง เมื่อสหรัฐไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันซาอุฯ อีกต่อไป และซาอุฯ เองก็ไว้ใจการคุ้มครองของสหรัฐน้อยลง ส่งผลให้ความขัดแย้งที่ครั้งหนึ่งอาจกลบเกลื่อนได้ ตอนนี้มีโอกาสแตกหัก

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรวบรวมความสัมพันธ์สหรัฐ-ซาอุดีอาระเบียที่ตึงเครียดเพราะน้ำมันและความไม่ไว้ใจกัน

ลักษณะความสัมพันธ์

 “ตึงเครียด” ล่าสุดเรื่องราคาน้ำมัน ซาอุฯ ผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่สุดของโลกลดเพดานการผลิตทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วโลก วันที่ 2 เม.ย. องค์การประเทศส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (โอเปค) ประกาศลดกำลังการผลิตวันละกว่า 1 ล้านดอลลาร์อย่างไม่มีใครคาดคิด หลังจากเดือน ต.ค.เคยประกาศผลกำลังการผลิตครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่ปี 2020 มาแล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ มองความเคลื่อนไหวนั้นว่าซาอุฯ ทรยศ พร้อมขู่ให้ระวังผลลัพธ์ที่ตามมา
 

ทำไมต้องทรยศ

ด้วยความหวังให้น้ำมันราคาถูกลง ไบเดนพลิกนโยบายที่เคยไม่เอามกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ผู้ปกครองราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียโดยพฤตินัย กรณีสายลับซาอุฯ ฆาตกรรม “จามาล คาช็อกกี” คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เมื่อปี 2018 หน่วยข่าวกรองสหรัฐสรุปว่า เจ้าชายเห็นชอบปฏิบัติการสังหารคอลัมนิสต์ฝีปากกล้าวิจารณ์รัฐบาลซาอุฯ ที่อิสตันบุล (มกุฎราชกุมารปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ยอมรับว่าต้องรับผิดชอบโดยสัญลักษณ์ในฐานะผู้นำประเทศอย่างไม่เป็นทางการ)

ตอนเป็นผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2019 ไบเดนให้คำมั่นว่าจะทำให้ซาอุดีอาระเบียเป็น “คนนอกคอก” จากการฆาตกรรมนี้ เมื่อรับตำแหน่งจริงๆ เขาก็ทำอย่างที่หาเสียงไว้ ตอนแรกไบเดนไม่ติดต่อกับเจ้าชายมุฮัมมัดเลย แต่เมื่อราคาน้ำมันพุ่งสูงผลจากสงครามของรัสเซียในยูเครน เดือน ก.ค.2022 ไบเดนต้องยอมลดศักดิ์ศรีบินไปซาอุดีอาระเบีย และชนกำปั้นกับเจ้าชายออกสื่อ

ความสัมพันธ์ว่าด้วยน้ำมัน

ความนิยมในหินน้ำมันทำให้สหรัฐกลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดและพึ่งพาอุปทานต่างชาติน้อยลง สำหรับการนำเข้าน้ำมันดิบตอนนี้สหรัฐนำเข้าจากแคนาดาเป็นหลักมากกว่าจากตะวันออกกลาง แต่เมื่อไบเดนเดินทางไปหาอย่างนอบน้อม ซาอุฯ จึงมีอิทธิพลอย่างมากต่อราคาน้ำมันในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่สุดในโอเปค ที่ขุดเจาะน้ำมันดิบราว 60% ของน้ำมันที่ซื้อขายกันทั่วโลก
 

 ซาอุฯ เสื่อมศรัทธาสหรัฐ

ทางการซาอุฯ โอดครวญว่า สหรัฐเป็นผู้คุ้มครองที่เชื่อถือไม่ได้ จากกรณีสหรัฐถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานในปี 2021 ยิ่งเร่งให้รัฐบาลอัฟกานิสถานล่มสลายเร็วขึ้น เมื่อสิบปีก่อนสหรัฐถอนการสนับสนุนพันธมิตรอย่างฮอสนี มูบารัก ในช่วงที่ประชาชนอียิปต์ประท้วงอย่างกว้างขวางเป็นเหตุให้ประธานาธิบดีมูบารักตกจากอำนาจ

พวกเขาคร่ำครวญว่าสหรัฐ “ทอดทิ้ง” ตะวันออกกลาง และว่ารัฐบาลวอชิงตันสกัดการขยายอิทธิพลของอิหร่านเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ อิหร่านเป็นคู่อริในภูมิภาคของซาอุฯ แต่ในเดือน มี.ค. ซาอุฯและอิหร่านเห็นชอบฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตที่ตัดขาดกันไปเมื่อปี 2016 ดีลนี้ได้จีนเป็นคนกลางซึ่งซาอุฯ ใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น

ประวัติศาสตร์แห่งความสัมพันธ์

ปี 1945 ประธานาธิบดีแฟรงกลิน โรสเวลต์ของสหรัฐจัดประชุมครั้งประวัติศาสตร์กับกษัตริย์อับดุลลาซิส บิน ซาอุด ผู้ก่อตั้งประเทศซาอุดีอาระเบีย แม้จะเห็นต่างกันตรงที่สหรัฐสนับสนุนการตั้งรัฐอิสราเอลแต่ซาอุฯ คัดค้าน แต่พวกเขาได้วางรากฐานการจัดการ “ความมั่นคงแลกน้ำมัน”

ตลอดเวลาที่ผ่านมาสหรัฐแอบบ่นเบาๆ เรื่องการจำกัดสิทธิพลเรือน การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยชีอะห์ในราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย รัฐบาลริยาดกับวอชิงตันใกล้ชิดกันมากขึ้นหลังการปฏิวัติอิสลามอิหร่านในปี 1979 โค่นล้มกษัตริย์ที่สหรัฐหนุนหลัง กองทัพสหรัฐกลายเป็นผู้ช่วยชีวิตในปี 1990 เมื่ออิรักรุกรานคูเวต เป็นภัยคุกคามต่อซาอุฯ ที่อยู่ติดกัน

ความขัดแย้งครั้งก่อน

ปี 1973 ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้นำงดส่งออกน้ำมันอาหรับให้สหรัฐและประเทศอื่นที่สนับสนุนอิสราเอลในสงครามอาหรับ-อิสราเอลในปีนั้น ส่งผลให้เศรษฐกิจชาติตะวันตกถดถอย ความสัมพันธ์ตึงเครียดอีกครั้งในปี 2001 เมื่อชัดเจนว่าการโจมตีสหรัฐในวันที่ 11 ก.ย. ผู้บงการและวางแผนส่วนใหญ่เป็นคนซาอุฯ และช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเมื่อเจ้าชายมุฮัมมัดละทิ้งนโยบายต่างประเทศแบบระมัดระวังตัวอย่างที่ซาอุฯ เคยทำมาตลอด  ซาอุฯ จึงกลายเป็นพันธมิตรกวนใจสหรัฐ เช่น เจ้าชายปิดล้อมกาตาร์ ที่ตั้งฐานทัพใหญ่สุดของสหรัฐในตะวันออกกลาง และทิ้งระเบิดถล่มเยเมนสังหารพลเรือนหลายพันคน 

ตอนโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี เขามองข้ามรอยร้าวระหว่างกันหันไปโอบรับซาอุฯ แต่ไม่ใช่ไบเดน ผู้เลิกสนับสนุนปฏิบัติการรุกรบของซาอุดีฯ ในเยน รวมถึงหยุดส่งมอบอาวุธ

ทางเลือกของสหรัฐ

รัฐบาลไบเดนประกาศเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ แต่ตัวเลือกที่ดีมีไม่มาก สมาชิกสภาคองเกรสเรียกร้องให้คืนชีพร่างกฎหมาย “ต่อต้านการรวมตัวผลิตและส่งออกน้ำมัน” หรือที่รู้จักกันในนามโนเปค

ให้อำนาจกระทรวงยุติธรรมยื่นฟ้องต่อต้านการผูกขาดกับกลุ่มโอเปค ส.ส.บางคนเสนอให้ลดการส่งออกอาวุธไปให้ซาอุฯ แต่ทั้งสองทางเลือกก็เสี่ยงทำให้ความตึงเครียดบานปลาย