เปิดเส้นทางเผือกร้อน 'โจ ซีชู' ซีอีโอติ๊กต็อก

เปิดเส้นทางเผือกร้อน 'โจ ซีชู' ซีอีโอติ๊กต็อก

แอพพลิเคชันแชร์คลิปวีดิโอสั้น “ติ๊กต็อก” ถือว่ามาแรงมากๆ ข้อมูลล่าสุดผู้ใช้งานประจำในสหรัฐเดืือนละ 150 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 100 ล้านคนเมื่อปี 2563 แต่ในเมื่อมีบริษัทแม่เป็นบริษัทจีน ติ๊กต็อกจึงต้องตกเป็นเป้าของทางการสหรัฐ

วันพฤหัสบดี (23 มี.ค.) โจ ซีชู ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ติ๊กต็อก ต้องเข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการพลังงานและพาณิชย์ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ที่คาดว่าเขาต้องเจอคำถามโหดเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้บนแอพโดยไบต์แดนซ์บริษัทแม่และทางการจีน อนาคตของติ๊กต็อกจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ชูให้ด้วย เรียกได้ว่าบนเส้นทางการเป็นซีอีโอของชูนั้นไม่ง่ายเลย เขาต้องสร้างสมดุลระหว่างการเป็นผู้นำที่เป็นอิสระ กับการตอบสนองความต้องการของบริษัทแม่ แถมยังต้องเป็นหนังหน้าไฟให้สหรัฐเล่นงาน 

นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า ชู วัย 39 ปี เกิดและเติบโตมาในสิงคโปร์ จบการศึกษาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (ยูซีแอล) และจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากฮาร์วาร์ด ปี 2553 หลังฝึกงานกับเฟซบุ๊ค ชูทำงานกับบริษัทร่วมลงทุนดีเอสทีโกลบอลของยูริ มิลเนอร์ อภิมหาเศรษฐีรัสเซีย

ด้วยความเชี่ยวชาญภาษาจีนกลางชูกลายเป็นตัวหลักให้ดีเอสทีในจีน เขาทำข้อตกลงมูลค่าสูงสุดบางรายการในประวัติศาสตร์อินเทอร์เน็ตจีน เช่น การลงทุนในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเจดีดอทคอมและอาลีบาบา และบริการเรียกรถตี้ตี่ ปี 2554 ชูช่วยเปิดทางการลงทุน 500 ล้านดอลลาร์ของดีเอสทีในเสียวหมี่

แหล่งข่าววงในสามรายเผยว่า ในปี 2556 มิลเนอร์ขอให้ชูไปพบกับจาง อี้หมิง ผู้ก่อตั้งไบต์แดนซ์และตั้งแอพรวบรวมข่าว “จินรื่อโถวเถี่ยว”ทั้งสองสานต่อมิตรภาพและบริษัทลงทุนแห่งหนึ่งที่มิลเนอร์มีเอี่ยวด้วยเข้าไปลงทุนในบริษัทของจางเป็นเงิน 10 ล้านดอลลาร์ในปีเดียวกัน สุดท้ายแล้วแอพรวบรวมข่าวก็กลายเป็นไบต์แดนซ์  มูลค่าเมื่อเดือน ม.ค.ราว 3.6 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งยังเป็นเจ้าของติ๊กต็อก, โต่วอิน แอพน้องภาคภาษาจีน และบริษัทซอฟต์แวร์การศึกษาและซอฟต์แวร์ธุรกิจอีกมากมาย

ภายในปี 2558 ชูเข้าทำงานกับเสียวหมี่ในตำแหน่งประธานคณะเจ้าหน้าที่การเงิน (ซีเอฟโอ) เป็นหัวหอกของการทำไอพีโอในปี 2561 นำเสียวหมี่ออกสู่ตลาดโลกจนชูกลายเป็นหน้าเป็นตาของแบรนด์กับนานาชาติเมื่อต้องพูดภาษาอังกฤษ

“ชูเติบโตมากับภาษาอังกฤษและจีน และวัฒนธรรมที่รายรอบตัวเขา” ฮิวโก บาร์รา อดีตผู้บริหารกูเกิลที่เคยร่วมงานกับโจที่เสียวหมี่เล่า

“เขาอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าใครเท่าที่ผมเคยเจอในโลกธุรกิจจีน ในการจะขึ้นมาเป็นผู้บริหารบริษัทจีนที่ต้องการเติบโตระดับโลก”

เดือน มี.ค.2564 ชูประกาศว่าเข้ามาทำงานกับไบต์แดนซ์ในตำแหน่งซีเอฟโอ ทำให้เกิดการคาดการณ์กันมากว่าบริษัทน่าจะเข้าตลาดหุ้น

สองเดือนต่อมาติ๊กต็อกแต่งตั้งชูเป็นซีอีโอ ตามที่จาง ผู้ก่อตั้งชื่นชมเขาว่า “รู้ลึกเรื่องบริษัทและอุตสาหกรรม” ปลายปี 2565 ชูลาออกจากตำแหน่งในไบต์แดนซ์เพื่อมาโฟกัสที่ติ๊กต็อกโดยเฉพาะ

ทั้งนี้ ติ๊กต็อกเคยอยู่ในภาวะไร้ซีอีโอตัวจริงมาตั้งแต่ ส.ค.2563 เมื่อเควิน เมเยอร์ อดีตผู้บริหารดิสนีย์ลาออก หลังบริษัทถูกรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์บีบให้ต้องตัดขาดจากบริษัทแม่สัญชาติจีน ขณะเดียวกันจีนเองก็เล่นงานบริษัทอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ในประเทศ ถึงขนาดที่จางต้องลาออกจากบทบาทอย่างเป็นทางการในไบต์แดนซ์เมื่อปีที่ผ่านมา แต่แหล่งข่าวเผยว่า จางยังคงเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในบริษัท

สำหรับชู เขาพยายามแสดงบทบาทความเป็นผู้นำใหม่ระหว่างไปเยือนสำนักงานติ๊กต็อกในลอสแองเจลิสเมื่อกลางปี 2564 ในงานเลี้ยงอาหารค่ำผู้บริหาร ชูพยายามสร้างความสนิทสนมด้วยการขอให้ร้านอาหารในคัลเวอร์ซิตี้ แคลิฟอร์เนีย เปิดเกินเวลา และยิงมุกกับผู้ร่วมดินเนอร์ว่า เขาควรซื้อร้านเก่าแก่นี้หรือไม่เพื่อให้เปิดบริการได้นานขึ้น

แหล่งข่าววงในห้าคนเผยว่า ไบต์แดนซ์ละเอียดละออเมื่อต้องเลือกซีอีโอติ๊กต็อก อย่างเมเยอร์ที่อยู่ในลอสแองเจลิส ได้รับการว่าจ้างเพราะเป็นคนอเมริกัน ในช่วงที่ติ๊กต็อกต้องการทำให้เห็นว่าถอยห่างจากบริษัทแม่สัญชาติจีน  ชูคุ้นเคยทั้งโลกธุรกิจจีนและตะวันตก ส่วนสิงคโปร์ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการถูกจีนหรือสหรัฐเล่นงาน แต่อำนาจของทั้งเมเยอร์และชูในฐานะซีอีโอติ๊กต็อกก็ถูกไบต์แดนซ์จำกัด

แหล่งข่าวอดีตพนักงานและผู้บริหารทั้งติ๊กต็อกและไบต์แดนซ์เผยว่า แท้จริงแล้วอำนาจการตัดสินใจของชูในติ๊กต็อกมีจำกัด การตัดสินใจเกี่ยวกับบริการ เช่น หันไปเน้นการสตรีมสดและชอปปิง กระทำโดยจาง,ผู้บริหารยุทธศาสตร์สูงสุดของไบต์แดนซ์ และผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาของติ๊กต็อกกลยุทธ์และการเติบโตของติ๊กต็อกซึ่งนำโดยทีมไบต์แดนซ์ไม่ได้ขึ้นตรงต่อชูแต่ขึ้นตรงต่อสำนักงานไบต์แดนซ์ในกรุงปักกิ่ง

บางคนที่เคยทำงานกับชูไม่แน่ใจว่าเจ้าตัวเข้าใจแพลตฟอร์มที่กำลังเติบโตต่อเนื่องนี้ดีแค่ไหน พนักงานบางคนถูกนำตัวมาสอนชูให้เข้าใจเทรนด์ล่าสุดของติ๊กต็อก เพื่อบูทยอดฟอลโลเวอร์ 7,600 คนของเขาเมื่อเดือน ม.ค. ส่วนใหญ่ชูจะแข็งขันในเรื่องการเงินและการปฏิบัติการของติ๊กต็อก

ก่อนเข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการฯ ชูเผยคลิปผ่านแพลตฟอร์มของตนเมื่อวันอังคาร (21 มี.ค.) ที่อาจเป็นการอ้อนวอนต่อคณะกรรมาธิการฯ โดยตรงว่า ติ๊กต็อกมีผู้ใช้งานประจำในสหรัฐกว่า 150 ล้านคนต่อดือน ในจำนวนนี้เป็นภาคธุรกิจ 5 ล้านรายที่ใช้แอพนี้เข้าถึงลูกค้า ส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังมีพนักงานติ๊กต็อกในสหรัฐอีก 7,000 คน 

“สิ่งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญยิ่งของเรา อาจพรากติ๊กต็อกไปจากคุณทั้ง 150 ล้านคนเลยก็ได้” ชูหมายถึงคำขู่ของ ส.ส.ที่ว่าจะห้ามใช้ติ๊กต็อกไปเลย เขาจึงขอให้ผู้ใช้แสดงความเห็นโดยตรงให้ ส.ส.รู้ว่าทำไมพวกเขาถึงรักติ๊กต็อก นี่จึงเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาวัดใจระหว่างผู้บริหารติ๊กต็อก ผู้ใช้ และทางการสหรัฐ