พฤติกรรม‘นทท.จีน’เปลี่ยน เน้นเที่ยวตามรสนิยมแทนตามกระแส

พฤติกรรม‘นทท.จีน’เปลี่ยน เน้นเที่ยวตามรสนิยมแทนตามกระแส

พฤติกรรม‘นทท.จีน’เปลี่ยน เน้นเที่ยวตามรสนิยมแทนตามกระแส ขณะที่จีนปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวมากมายในประเทศ ตอกย้ำว่าแต่ละประเทศไม่เพียงแข่งขันกับต่างประเทศแต่ยังต้องแข่งขันกันเองในประเทศด้วย

นักท่องเที่ยวจีนกลับมาท่องเที่ยวในที่ต่างๆได้ตามปกติได้อีกครั้ง แต่ครั้งนี้เมืองท่องเที่ยวชั้นนำโลกอย่าง เวนิส ปารีสและมาดริดไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ที่ชาวจีนเลือกเที่ยวอีกต่อไปแล้ว

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยการท่องเที่ยวของชาวจีนในต่างประเทศ (ซีโอทีอาร์ไอ) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาเอกชนในเยอรมนี ระบุว่า เมื่อจีนเปิดประเทศหลังควบคุมโควิด-19 มาได้ 3 ปีเต็ม ความโหยหาการท่องเที่ยวของชาวจีนรอบนี้กลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

“วูฟแกง จอร์จ  อาร์ลต์” ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารซีโอทีอาร์ไอ กล่าวในงาน ITB Berlin ซึ่งเป็นมหกรรมส่งเสริมการขายด้านการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวว่า “นักท่องเที่ยวจีนที่เราจะต้อนรับในปีนี้และในปีต่อ ๆ ไป จะแตกต่างจากนักท่องเที่ยวจีนที่เคยมาครั้งก่อน ๆ มาก”
 

อาร์ลต์ กล่าวว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากกับบรรดานักท่องเที่ยวชาวจีนหลังจากจีนและประเทศอื่น ๆ ล็อกดาวน์ประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ตอนนี้ชาวจีนนิยมท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมากขึ้น จนเกิดเทรนด์ท่องเที่ยวธรรมชาติขึ้นมามากมาย เช่น การตั้งแคมป์ทั้งการตั้งแคมป์แบบทั่วไปและการตั้งแคมป์แบบหรูหรา และการท่องเที่ยวแบบเอาท์ดอร์กับครอบครัว

 ที่สำคัญคือตอนนี้เกิดกระแสวางแผนท่องเที่ยวที่เน้นชื่นชมความงามของสถานที่ต่างๆในประเทศมากขึ้น

“ตลอดเวลา 3 ปีที่จีนปิดประเทศ ประชาชนทุกคน รวมถึงคนร่ำรวยที่ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในจีน ต่างหันมาท่องเที่ยวในประเทศ” อาร์ลต์ ระบุ และด้วยปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศอย่างมากมายเช่นกัน

อาร์ลต์ กล่าวว่า “แต่ก่อน ถ้าคุณเป็นคนสำคัญในจีน คุณต้องท่องเที่ยวต่างประเทศ ถ้าเที่ยวในประเทศ แสดงว่าคุณจนเกินไปหรือโง่เกินไปที่จะท่องเที่ยวในต่างประเทศ แต่ตอนนี้ความเชื่อที่ว่าได้เปลี่ยนไปแล้ว”
 

อาร์ลต์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์การท่องเที่ยวมีนนิงฟูล ที่ปรึกษาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี เล่าต่อว่า จีนปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวมากมายในประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแต่ละประเทศไม่เพียงแข่งขันกันในเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ๆ แต่ต้องแข่งขันกับการท่องเที่ยวในประเทศของตัวเองด้วย

ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติของจีน ระบุว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนเที่ยวต่างประเทศเกือบ 170 ล้านทริป ในปี 2562 และจากการศึกษาของเว็บไซต์ซีทริปดอตคอม (Ctrip.com) ของจีน พบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ชาวจีนใช้ด้านการจ่ายท่องเที่ยวในต่างประเทศมากกว่า 1.275 แสนล้านดอลลาร์

สำหรับปีนี้ ซีโอทีอาร์ไอ คาดว่า จำนวนการท่องเที่ยวต่างประเทศของจีนจะฟื้นตัวประมาณ 2 ใน 3 ของทริปเดินทางท่องเที่ยวในปี 2562 หรือประมาณ 110 ล้านทริป แต่กลุ่มโรงแรมแอคคอร์ คาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวจีนประมาณ 3 ใน 4 ยังคงเที่ยวภายในประเทศ

“คาเรล ลามูช” ประธานคณะเจ้าหน้าที่การพาณิชย์ของแอคคอร์ ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซีทราเวลว่า “เราคาดว่านักท่องเที่ยวจีน 70%-80% ยังคงเที่ยวในประเทศ เมื่อพิจารณาจากความสามารถในการบริการด้านการบินยังไม่ถึงระดับในปี 2562 ซึ่งตั้งแต่จีนเปิดพรมแดนช่วงต้นเดือน ม.ค. เที่ยวบินที่ไม่เพียงพอทำให้ผู้คนมากมายที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวตัดสินใจยังไม่ออกจากบ้าน

ข้อมูลจากฟลิกกี เว็บไซต์จองการเดินทางของอาลีบาบา ระบุว่า ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 6 ก.พ.-12 ก.พ. เที่ยวบินต่างประเทศของจีนฟื้นตัวเพียง 9% ของระดับเที่ยวบินในปี 2562 ซึ่งเที่ยวบิน 63% ให้บริการโดยสายการบินของจีน

ขณะเดียวกัน ชาวจีนจำนวนมากประสบปัญหาเรื่องการต่ออายุหนังสือเดินทางล่าช้า การขอวีซ่า และปัญหาถูกระงับวีซ่าการท่องเที่ยวระยะสั้นจากหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

ด้วยอุปสรรคดังกล่าว หลายประเทศที่สามารถรองรับความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีนได้ จึงกลายเป็นผู้ชนะอย่างใสสะอาด ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยเสนอ Visa on Arrival ซึ่งเป็นวีซ่าที่สามารถทำได้ ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง โดยไม่ต้องขอวีซ่าล่วงหน้า ให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนที่รับวัคซีนครบโดสและมีประกันเดินทาง

“ไซมอน ชี” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และหัวหน้าฝ่ายพัฒนาองค์กรของฟลิกกี กล่าวว่า “ไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ สำหรับนักท่องเที่ยวจีน ส่งผลให้ไทยรองรับมีนักท่องเที่ยวจีน 180,000 คน ตั้งแต่เดือน ม.ค.-กลางเดือน ก.พ."

อนุทิน ชาญวีรกุล” รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขไทย คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนก่อนว่า จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเยือนไทยในปีนี้ถึง 15 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวขาเข้าทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการใช้บริการของนักเดินทางหรือนักท่องเที่ยวจีนเปลี่ยนไปเล็กน้อยหลังจากจีนเปิดประเทศ โดยก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 นักท่องเที่ยวจีนนิยมท่องเที่ยวหรือเดินทางไปต่างประเทศผ่านบริษัททัวร์ และเดินทางเป็นกลุ่ม ซึ่ง ชี บอกว่า แนวโน้มรูปแบบการท่องเที่ยวลักษณะนี้ยังคงมีอยู่ เพียงแต่มีน้อยลง 

 ชี บอกด้วยว่า ช่วงที่ตลาดท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว กรุ๊ปทัวร์ยังคงเป็นตัวเลือกตัวแรกของชาวจีน แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัททัวร์จำนวนมากปิดตัวลงหรือลดขนาดการดำเนินงานลง จึงเปิดโอกาสให้บริษัททัวร์รายใหม่ๆเข้ามาให้บริการนักท่องเที่ยวตามความต้องการของนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวหนุ่มสาวชาวจีนอาจพอใจเยี่ยมชมคาเฟ่ท้องถิ่นที่เห็นผ่านโซเชียลมีเดีย มากกว่าสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

เรื่องนี้ อาร์ลต์ เห็นด้วยว่า บริการเฉพาะกลุ่มและการให้สิทธิพิเศษของทัวร์ รวมถึงการมอบประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากเดิมระหว่างการมาเที่ยวครั้งแรกกับการมาเที่ยวซ้ำ พอจะเป็นแนวทางให้ธุรกิจดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มใหม่ได้