"หัวเว่ย" ปรับปรุงชิ้นส่วนสินค้าหลายหมื่นชิ้น หลังโดนสหรัฐแบน

"หัวเว่ย" ปรับปรุงชิ้นส่วนสินค้าหลายหมื่นชิ้น หลังโดนสหรัฐแบน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน (18 มี.ค.) ว่า หัวเว่ย เทคโนโลยี เปลี่ยนชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ของบริษัทมากกว่า 13,000 ชิ้น ที่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรทางการค้าของสหรัฐ

จากบันทึกกล่าวสุนทรพจน์ของ “เหริน เจิ้งเฟย” ประธานบริหารหัวเว่ย ที่เผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮเจี่ยงตงของจีน เมื่อวันศุกร์ (17 มี.ค.) ระบุว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยเปลี่ยนชิ้นส่วนประกอบสินค้าด้วยวัสดุทดแทนในจีนและออกแบบแผงวงจรของสินค้าใหม่ 4,000 ชิ้น

คำพูดดังกล่าวที่รอยเตอร์ไม่สามารถตรวจสอบได้ แสดงถึงความพยายามฟื้นฟูธุรกิจจากมาตรการควบคุมการค้าของสหรัฐ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2562 หัวเว่ยตกเป็นเป้าของการควบคุมการส่งออกสหรัฐอย่างต่อเนื่อง

 

 

ซึ่งการควบคุมดังกล่าว ทำให้หัวเว่ยตัดขาดซัพพลายชิปจากบริษัทสหรัฐ และการเข้าถึงเครื่องมือทางเทคโนโลยีสหรัฐ เพื่อออกแบบชิปของตนเองและผลิตให้พาร์ทเนอร์ อีกทั้งรัฐบาลโจ ไบเดนห้ามจำหน่ายอุปกรณ์หัวเว่ยในสหรัฐเมื่อปีที่แล้วด้วย

นอกจากนี้ เหริน เผยว่า หัวเว่ยลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนามูลค่า 23,800 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 65 และด้วยผลกำไรที่ดีขึ้น บริษัทจะลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น

 

 

และบริษัทสร้างระบบวางแผนทรัพยากรองค์กร เรียกว่า เมตาอีอาร์พี (MetaERP) ซึ่งจะเปิดตัวในเดือน เม.ย. ระบบดังกล่าว จะช่วยดำเนินธุรกิจหลักของบริษัท ทั้งด้านการเงิน ซัพพลายเชน และการดำเนินงานด้านการผลิต

อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยยังไม่มีแผนเปิดตัวแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ทางภาษาขนาดใหญ่ที่นิยมเป็นวงกว้าง