วิกรมกับการเดินทางคาราวานไทย-ลาว | วิกรม กรมดิษฐ์

วิกรมกับการเดินทางคาราวานไทย-ลาว | วิกรม กรมดิษฐ์

เรื่องเล่าจากวิกรมวันนี้ผมอยากจะนำเรื่องราวที่ได้เดินทางคาราวานไทย-ลาว ปี 2566 ของผมครั้งล่าสุดนี้มาแบ่งปันทุกคน

เป้าหมายการเดินทางครั้งนี้เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตผู้คนตามที่เส้นทางคาราวานเดินทางผ่านทั้งในประเทศไทยตั้งแต่ภาคกลางและภาคเหนือ ก่อนเดินทางเข้าสู่ประเทศลาว

และขากลับผ่านภาคอีสานได้พบปะแฟนคลับแจกลายเซ็นในหนังสือเล่มใหม่เรื่อง “พ่อผม” ที่ผมเขียน รวมระยะทางกว่า 5,000 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 25 วัน 

ซึ่งเป็นการทดสอบการเดินทางของขบวนคาราวานและความแข็งแรงของร่างกายผมเองที่ไม่ได้เดินทางมาตั้งแต่ปี 2556 หากราบรื่นก็อาจจะวางแผนการเดินทางครั้งใหม่ประมาณปี 2567 ที่ได้เตรียมการสั่งต่อรถไว้อยู่ที่ยุโรปและจะเป็นการเดินทางจากยุโรปโดยขบวนคาราวานเข้าสู่ประเทศไทย และจากประเทศไทยไปสู่ยุโรป

วิกรมกับการเดินทางคาราวานไทย-ลาว | วิกรม กรมดิษฐ์

จากประสบการณ์ที่ได้เดินทางในครั้งนี้ที่ได้เดินทางผ่านหลายจังหวัดก่อนมุ่งหน้าสู่ประเทศลาว และได้จอดพักตามจังหวัดต่างๆ ที่เป็นเส้นทางผ่านทั้งขาไปและขากลับ อาทิ นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิษณุโลก ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร เชียงใหม่ เชียงราย เป็นต้น

ทำให้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนตลอดเส้นทางการเดินทางพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการเข้าถึงเทคโนโลยีได้เพิ่มมากขึ้น ในกลุ่มคนรุ่นต่างๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

มีการเรียนรู้พัฒนาการใช้เครื่องมือการสื่อสารในรูปแบบสมาร์ตโฟนเก่งขึ้น สามารถค้นหาข้อมูลที่สนใจดูได้เองใน Internet รวมมีการใช้ YouTube ได้

คนสูงอายุหลายๆ คนบอกผมว่าเขาติดตามผมได้จากช่องทางเหล่านี้ นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสพูดคุยกับชายคนหนึ่ง ที่เข้ามาขอลายเซ็นและเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาให้ผมฟังว่าเคยต้องโทษติดคุกและมีโอกาสได้อ่านหนังสือของผมทำให้เขามีมุมมองชีวิตที่เปลี่ยนไป 

ตรงนี้ก็ทำให้ผมรู้สึกดีมากๆ ที่การเขียนหนังสือของผมสามารถเป็นแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงความคิดหรือชีวิตคนได้ จึงทำให้รู้สึกว่าการทำงานตรงนี้ของผมคือหน้าที่

และอยากที่จะทำงานตรงนี้ในฐานะสื่อกลางซึ่งตั้งใจจะนำสิ่งที่ดีๆ มีประโยชน์กับสังคม และประชาชน โดยเฉพาะให้คนที่อยู่ในต่างจังหวัดผ่านช่องทางที่เขาสามารถติดตามได้สะดวก เช่น YouTube เป็นต้น 

วิกรมกับการเดินทางคาราวานไทย-ลาว | วิกรม กรมดิษฐ์

ซึ่งเรื่องราวที่ผมต้องการนำเสนอจะมีทั้งการสังเกตสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคมและวิเคราะห์ให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ รู้เท่าทัน รวมถึงนำไปสู่การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้

และการเดินทางครั้งนี้ได้มีโอกาสแวะที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีท่านอธิการบดีของมหาวิทยาลัยฯ มาให้การต้อนรับ รวมถึงจัดให้มีการประชุมร่วมกับคณะอาจารย์ของมหาวิทยาลัยด้วย

ขึ้นเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาความร่วมมือระหว่างนิคมอุตสาหกรรมอมตะและมหาวิทยาลัยว่ามีแนวทางที่จะทำงานร่วมกันได้อย่างไรบ้าง 

ผมมองว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์เพราะนิคมอุตสาหกรรมฯ เองถือว่าเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่มีความต้องการบุคลากรแรงงานเข้ามาอยู่ทำงานเป็นจำนวนมาก ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ มีประชากรหมุนเวียนเข้ามาทำงานอยู่รวมกว่า 400,000 คน เป็นแหล่งงานขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของภาคตะวันออก 

มหาวิทยาลัยขอนแก่นเองก็เป็นแหล่งผลิตบุคลากรคุณภาพอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีพื้นที่รวมอยู่ประมาณกว่า 5,700 ไร่ เปิดการเรียนการสอนมามากกว่า 60 ปี ตั้งอยู่ใจกลางเมืองขอนแก่น มีนักศึกษากว่า 30,000 คน มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องของงานวิจัย ทางวิทยาศาสตร์ มีระบบการเรียนการสอนที่ทันสมัย 

การที่ผมได้มีโอกาสคุยกับอธิการบดีรวมถึงคณะอาจารย์ในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่ดีซึ่ง ผมจะได้นำข้อมูลเรื่องราวตรงนี้มาคิดต่อยอดในฐานะของผู้บริโภคบุคลากรเพื่อแจ้งความต้องการให้กลับมหาวิทยาลัยฯ เพื่อที่จะสามารถผลิตบุคลากรคุณภาพได้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่อไป

ในขณะเดียวกันได้มีทางเดินไปเยี่ยมชมเขื่อนภูมิพลได้พบกับผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพลซึ่งได้มาให้คำแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนแห่งนี้ว่าเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ

มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของการบริหารจัดการน้ำในหน้าแลังและสามารถผลิตไฟฟ้าได้จากพลังงานน้ำ ในอนาคตยังมีการวางแผนผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำหรือที่เรียกว่า Floating Solar อีกด้วย 

นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสเดินทางเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ของเขื่อนภูมิพล มีเรื่องราวต่างๆ ให้น่าศึกษามากมาย โดยเฉพาะเรื่องราวพระราชประวัติที่เกี่ยวข้องกับ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเราหากใครได้เข้ามาในพื้นที่นี้อยากให้เข้ามาเยี่ยมชมด้วยกัน

ในส่วนของการเดินทางข้ามไปถึงฝั่งประเทศลาวผมได้มีโอกาสเดินทางไปทดลองนั่งรถไฟลาว-จีนที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อปีที่ผ่านสิ่งที่รู้สึกประทับใจคือรถไฟวิ่งได้ตรงเวลามีการควบคุมโดย Robot รถออกตัวนิ่มมาก

นอกจากนี้ ได้เข้าเยี่ยมเยือนพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะผู้บริหารรัฐบาลและผู้นำท้องถิ่นของประเทศลาวเพื่อนำแนวคิดมาวางแผนพัฒนาการบริหารโครงการ อมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ ที่แขวนหลวงน้ำทาของประเทศลาวต่อไปอีกด้วย