ความต้องการผู้สืบสกุลพุ่ง หนุนธุรกิจ“อุ้มบุญ”โลกโตไม่หยุด

ความต้องการผู้สืบสกุลพุ่ง หนุนธุรกิจ“อุ้มบุญ”โลกโตไม่หยุด

ความต้องการผู้สืบสกุลพุ่ง หนุนธุรกิจ“อุ้มบุญ”โลกโตไม่หยุด ขณะปี 2565 อุตสาหกรรมการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ทั่วโลกเติบโตประมาณ 14,000 ล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าภายในปี 2575 ธุรกิจนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 129,000 ล้านดอลลาร์

วันนี้เป็นวันสตรีสากล มีหลายประเด็นให้พูดถึง ประกอบกับที่ผ่านมา หลายประเทศมีปัญหาประชากรเกิดใหม่ต่ำมาก โดยเฉพาะประเทศในเอเชียอย่างจีนและเกาหลีใต้จนทำให้ผู้รู้จำนวนมากเกิดความวิตกกังวลว่าปัญหาประชากรเกิดใหม่ต่ำจะส่งผลกระทบไปถึงการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะสังคมจะเต็มไปด้วยผู้สูงวัย ขาดแคลนประชากรชนชั้นแรงงาน

ล่าสุด เว็บไซต์ซีเอ็นบีซี นำเสนอรายงานที่บ่งชี้ว่าตอนนี้ธุรกิจอุ้มบุญ หรือรับจ้างตั้งครรภ์กำลังเฟื่องฟู ผู้หญิงจำนวนมากหันไปทำมาหากินเป็นเรื่องเป็ราาวด้วยการรับจ้างอุ้มท้องให้แก่บรรดาคู่สามีภรรยาที่เป็นทั้งคู่สามี-ภรรยาที่เป็นหญิง-ชายปกติ และคู่รักกลุ่ม LGBT ที่ต้องการมีบุตรสืบสกุล

ธุรกิจนี้เติบโตอย่างมากในประเทศต่างๆรวมถึง จอร์เจีย และเม็กซิโกและตอนนี้มีผู้หญิงที่สุขภาพแข็งแรงมากขึ้นหันมารับจ้างตั้งครรภ์ให้ผู้อื่นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เรียกว่าเป็นการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ก็น่าจะได้ เพราะความต้องการสูงมากประกอบกับได้เงินค่าจ้างที่สูงพอตัว  ซึ่งการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์นี้จะแตกต่างจากการอุ้มบุญการกุศลที่ผู้อุ้มบุญจะไม่ได้เงินหรือค่าตอบแทนใดๆ โดยในปี 2565 อุตสาหกรรมการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ทั่วโลกเติบโตประมาณ 14,000 ล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าภายในปี 2575 ธุรกิจนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 129,000  ล้านดอลลาร์       

อย่างกรณีของ“ดิลารา” ซึ่งอาศัยอยู่ในทบิลิซี ประเทศจอร์เจียมานานหลายเดือนและทำงานมาหลายอย่าง ตั้งแต่ช่างทำผม ช่างทำรองเท้าไปจนถึงพนักงานเสิร์ฟแต่มีงานเดียวเท่านั้นที่เธออยากทำนั่นคือการรับจ้างตั้งครรภ์ให้แก่คู่สามี-ภรรยาที่ต้องการลูก   

ดิลารา แม่ม่ายวัย 34 ปีที่ทิ้งลูกสี่คนไว้ให้พ่อแม่เลี้ยงในอุซเบกิสถานเมื่อปีที่แล้วตั้งความหวังไว้มากว่าจะได้งานรับจ้างตั้งครรภ์ให้ประเทศนี้ที่ถือว่าอุตสาหกรรมอุ้มบุญเชิงพาณิชย์เติบโตสูง

“ฉันเป็นหนี้ธนาคารที่เกิดจากการกู้เงินมาใช้จ่ายและฉันมีลูกสี่คนที่ต้องเลี้ยงดู พวกเขาต้องเข้าโรงเรียน คุณก็รู้ว่าทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายทั้งนั้น ฉันต้องรับผิดชอบสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด จึงทำให้ฉันอยากเป็นคุณแม่อุ้มบุญ”ดิลารา กล่าวแก่ซีเอ็นบีซี

โดยทั่วไป การอุ้มบุญแบ่งเป็น 2ประเภทคือ (1) Traditional Surrogacy หมายถึง แม่อุ้มบุญ ที่ตั้งครรภ์โดยการฉีดสเปิร์มไม่ว่าเป็นของสามีคู่นั้นหรือที่ใช้รับบริจาคมาเข้าไปในมดลูก หรือผสมไข่ของแม่อุ้มบุญกับสเปิร์มในหลอดแก้วก่อนที่จะฉีดเข้าไปในมดลูก ลูกที่ออกมาจะมีพันธุกรรมของแม่อุ้มบุญปนอยู่ด้วย
ความต้องการผู้สืบสกุลพุ่ง หนุนธุรกิจ“อุ้มบุญ”โลกโตไม่หยุด

และ(2) คือการอุ้มบุญประเภท Gestational Surrogacy หมายถึงแม่อุ้มบุญ’ ที่ตั้งครรภ์โดยนำไข่กับสเปิร์มที่ผสมแล้วใส่เข้าไปในมดลูก ลูกที่ออกมาจะไม่มีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับแม่อุ้มบุญแต่อย่างใด

ส่วนประเด็นว่าการทำแบบนี้ถูกกฏหมายหรือไม่นั้น ในสหรัฐมีบางรัฐที่มีกฎหมายอนุญาตให้มีดำเนินการได้อย่างเสรี เช่น รัฐอาคันซอ รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐอิลลินอยส์ รัฐเท็กซัส รัฐแมสซาชูเซตส์ ส่วนรัฐนิวยอร์ก รัฐนิวเจอร์ซี รัฐอลาสกา และรัฐนิวเม็กซิโก รัฐโอเรกอน รัฐวอชิงตัน มีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้เฉพาะเพื่อมนุษยธรรมเท่านั้น

ขณะที่ในแคนาดาและสหราชอาณาจักรอนุญาติให้เฉพาะที่เป็นการอุ้มบุญเพื่อมนุษยธรรมเท่านั้น ส่วนในจอร์เจีย ก็เหมือนกับในยูเครนและรัสเซียที่อนุญาตให้ทำได้อย่างถูกกฏหมายจึงทำให้อุตสาหกรรมการอุ้มบุญในประเทศเหล่านี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ดิลารา เป็นหนึ่งในผู้หญิงจำนวนมากที่หันมาทำมาหากินด้วยการรับอุ้มบุญอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในฐานะที่อาชีพนี้สร้างรายได้ให้เธอมากพอและคุ้มค่ากับการรับตั้งครรภ์ท่ามกลางความต้องการแม่อุ้มบุญที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในตลาดโลก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาการมีบุตรยากของคู่สามี-ภรรยา ที่มีมากขึ้น การแต่งงานของคนเพศเดียวกันที่เพิ่มมากขึ้น และผู้คนยุคใหม่ที่นิยมอยู่เป็นโสดแต่อยากมีผู้สืบทอดก็มีจำนวนมากขึ้น

พ่อแม่ หรือคู่สามี-ภรรยาที่มีฐานะดี ก็เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญให้อุตสาหกรรมอุ้มบุญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประชากรในซีกโลกตะวันตก ที่นิยมเดินทางไปใช้บริการนี้ในประเทศอื่นๆเพราะไม่ต้องการรอคิวนานหรือการบริการนี้ในประเทศตัวเองสูงเกินไป หรือเป็นเพราะกฏหมายในประเทศที่ห้ามการอุ้มบุญ หรือไม่อนุญาติให้กลุ่มบุคคลเฉพาะ เช่น กลุ่มคู่สามี-ภรรยาที่เป็นเกย์ใช้บริการอุ้มบุญ    

ขณะที่การเลิกใช้มาตรการเข้มงวดเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว ก็มีส่วนสนับสนุนให้ผู้คนที่ต้องการใช้บริการในธุรกิจอุ้มบุญเดินทางไปยังแหล่งที่มีบริการแบบนี้ในราคาที่พวกเขารับได้กันมากขึ้น  

“ช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดจะเห็นว่าธุรกิจบริการอุ้มบุญในตลาดโลกซบเซาไปเยอะ แต่ตอนนี้เราจะเห็นว่ามีความต้องการเพิ่มขึ้นและธุรกิจนี้ก็กลับมาบูมอีกครั้ง”แซม อีเวอร์ริงแฮม ผู้เชี่ยวชาญด้านการอุ้มบุญ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ Growing Families กลุ่มสนับสนุนการอุ้มบุญ มีฐานดำเนินงานอยู่ในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าว

ส่วนสงครามการสู้รบในยูเครนก็ทำให้ธุรกิจอุ้มบุญระส่ำระสายพอสมควรแต่ก็ไม่มาก  โดยก่อนหน้าที่รัสเซียจะเปิดฉากบุกยูเครน เมื่อปีที่แล้ว ยูเครนเป็นตลาดอุ้มบุญขนาดใหญ่สุดอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกให้เข้ามาใช้บริการ เนื่องจากค่าธรรมเนียมถูกและกรอบกฏหมายที่เอื้อต่อการใช้บริการอุ้มบุญ