อินโดฯพึ่งเทคโนโลยี พัฒนาการแพทย์ทางไกล

อินโดฯพึ่งเทคโนโลยี พัฒนาการแพทย์ทางไกล

อินโดฯพึ่งเทคโนโลยี พัฒนาการแพทย์ทางไกล ขณะที่การแพทย์ทางไกลช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในบางประเทศที่ความต้องการรับบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างมากได้

 การขยายตัวของเมืองแบบกระจัดกระจายในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงอินโดนีเซียและภูมิประเทศที่เป็นเกาะของประเทศ ซึ่งมีประชากร 270 ล้านคน ทำให้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก

แต่สองสามปีมานี้ การเปิดบริการแพทย์ทางไกลของบริษัทหลายแห่ง ช่วยบรรเทาปัญหาท้าทายดังกล่าวได้ รวมถึงแอปอโลด็อกเตอร์ให้บริการด้วยแพทย์ในเครือกว่า 80,000 คน

“อาหมัด ฟารีซา” กราฟิกดีไซน์เนอร์อิสระ วัย 27 ปี รู้จักแอปอโลด็อกเตอร์ (Alodokter) หลังจากบริษัทร่วมงานกับรัฐบาลในปี 2564 เพื่อให้บริการแพทย์ทางไกล เพราะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในอินโดนีเซีย

อาหมัด ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองเบอร์กาซี จังหวัดชวาตะวันตก ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิกเคอิว่า “แอปนี้ทำให้เราสะดวกมากขึ้น เมื่อผมเป็นไข้ ผมจะใช้แอป การได้รับคำปรึกษาทางออนไลน์ แทนการเดินทางไปโรงพยาบาลหรือคลินิกเมื่อผมป่วย ช่วยประหยัดค่าเดินทางและพลังงาน”

แอปให้คำปรึกษาด้านสุขภาพได้รับความนิยมในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ ด้วยเหมือนกัน โดยได้แรงหนุนจากความต้องการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นและการขาดแคลนแพทย์ในภูมิภาคที่มีประชากรเกือบ 700 ล้านคน

นอกจากนี้ การใช้สมาร์ตโฟนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้บริการแอปได้อย่างสะดวกสบาย ทั้งบริการเรียกรถโดยสาร, บริการส่งอาหาร, อีคอมเมิร์ซและธุรกิจบริการอื่น ๆ ซึ่งกระแสความนิยมใช้แอปที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการให้บริการทางแพทย์ ที่จำเป็นต้องพึ่งแอปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะนี้เพื่อนร่วมงานทางการแพทย์ในภูมิภาค ต่างทำงานก้าวหน้าไปไกลกว่าบริการขั้นพื้นฐาน และมีบริการส่งยารวมอยู่ด้วย ส่งผลให้ธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ในตลาดนี้เติบโตมากขึ้น

เริ่มจากเว็บไซต์ด็อกเตอร์เอนนีเวย์ (Doctor Anywhere) ของสิงคโปร์ระดมทุนได้ 38.8 ล้านดอลลาร์ จากโนโวโฮลดิงส์ บริษัทลงทุนวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวจะช่วยเร่งให้ธุรกิจเติบโต และเงินทุนส่วนหนึ่งนำไปซื้อบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในเอเชีย (เอเอชเอส) ซึ่งเป็นธุรกิจให้บริการรักษาจากกลุ่มแพทย์หลายสาขา ให้บริการด้านสุขภาพมากกว่า 10 ด้าน รวมถึงเรื่องยาสลบ, โรคผิวหนัง,เวชศาสตร์ครอบครัวและระบบทางเดินทางอาหาร

อินโดฯพึ่งเทคโนโลยี พัฒนาการแพทย์ทางไกล

หลังจากให้คำปรึกษาทางไกลแล้ว ด็อกเตอร์เอนนิแวร์ยังสามารถส่งผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ไปยังสถานพยาบาลของเอเอชเอสได้  โดยด็อกเตอร์เอนนิแวร์ ยังมีผู้ใช้บริการกว่า 2.5 ล้านคน จากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

“ลิม วายมุน” ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารด็อกเตอร์เอนนิแวร์ เผยว่า “บริการดังกล่าวเป็นเป้าหมายระยะยาวของบริษัทในการสร้างระบบนิเวศด้านสุขภาพแบบดิจิทัล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับผลลัพธ์ที่ดีขึ้น และช่วยกำหนดอนาคตด้านสุขภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

“เราเห็นโอกาสในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานตระหนักถึงสุขภาพองค์รวม โดยเฉพาะความพยายามในการป้องกันสุขภาพ เพื่อให้สุขภาพดีขึ้น” ลิม ระบุ

ส่วนบริษัทอื่น ๆ เช่น กลุ่มบริษัท “อยาลา” ของฟิลิปปินส์ประกาศเมื่อปีที่แล้ว ว่า เตรียมรวบรวมธุรกิจด้านสุขภาพ 3 แห่ง ได้แก่

KonsultaMD, HealthNow และ AIDE ไว้ในซุปเปอร์แอปเทคโนโลยีด้านสุขภาพสำหรับฟิลิปปินส์ ซึ่งแอปใหม่นี้จะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปี 2566

ขณะที่อินโดนีเซีย ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ เกิดปัญหาด้านสุขภาพที่แตกต่างกันหลายอย่าง “โจนาธาน สุดาร์ทา” ประธานบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งฮาโลด็อก (Halodoc) เว็บไซต์ให้คำปรึกษาทางไกลให้สัมภาษณ์กับกับนิกเคอิ เมื่อเดือน พ.ย. ว่า บริษัทประเภทเดียวกันกับตน สามารถแก้ไขปัญหาการบริการสุขภาพได้ดีขึ้น

“ฮาโลด็อก” ที่เปิดตัวในปี 2559 มีผู้ใช้งานมากกว่า 20 ล้านบัญชีต่อเดือนในอินโดนีเซีย และจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ซึ่งฮาโลด็อกตั้งเป้าเพิ่มผู้ใช้งานให้ได้ 100 ล้านบัญชีในปีต่อๆไป และเตรียมขยายยุทธศาสตร์ไปยังประเทศไทย เวียดนามและมาเลเซีย

ธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ของฮาโลด็อกในอินโดนีเซียเมื่อเดือน ธ.ค. จัดส่งใบสั่งยาไป 400 เมือง ในจำนวนนี้ ผู้ป่วยใน 120 เมือง สามารถรับยาได้ภายใน 15 นาทีหลังยื่นใบสั่งซื้อ

การแพทย์ทางไกลยังช่วยระบบดูแลสุขภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้รับมือกับจำนวนแพทย์ในบางประเทศที่ไม่สามารถเพิ่มทันจำนวนประชากรและความต้องการบริการทางการแพทย์ในภูมิภาคนี้ที่พุ่งสูงได้

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ในปี 2564 ระบุว่า อินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก มีแพทย์เพียง 6.95 คนต่อประชากร 10,000 คนเท่านั้น ต่ำกว่าไทยที่มีแพทย์ 9.28 คนในปี 2563 และเมียนมาที่มีแพทย์ 7.51 คนในปี 2562 

ในด้านหนึ่งของอัตราส่วน พบว่า ในปี 2563 สหรัฐมีแพทย์มากถึง 35.55 คนต่อประชากร 10,000 คน ขณะที่ญี่ปุ่นมีแพทย์ 26.14 คน และจีนแพทย์ 23.87 คน

 ดับเบิลยูเอชโอ ยังระบุว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในอินโดนีเซียในปี 2563 สูงถึง 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 71% จากปี 2553 ขณะที่ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นสองเท่าสู่ระดับ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนการใช้จ่ายทางการแพทย์ของประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นอย่างมากด้วยเช่นกัน

แต่ความต้องการรับบริการทางการแพทย์ในแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน เช่น บริษัทคลินิกพินทาร์ ธุรกิจเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่ให้บริการปรึกษาสุขภาพของอินโดนีเซีย มีการดำเนินงานแบบผสมผสาน ขณะที่สตาร์ตอัปให้บริการการแพทย์ทางไกลอย่าง“ฮาร์ยา บิโม” ซึ่งประธานบริหารบริษัท บอกว่า การมีคลินิกกายภาพยังคงเป็นสิ่งสำคัญ

ฮาร์ยา ให้สัมภาษณ์ว่า ชาวอินโดนีเซียส่วนมากในเมืองขนาดใหญ่มักปรึกษาทางไกลกับแพทย์ผ่านแชทออนไลน์ ขณะที่ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงบริการได้น้อย แต่ผู้ป่วยชนชั้นแรงงานจำนวนมากก็ยังไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีและบริการผ่านเว็บไซต์

“เราดำเนินงานทั้งสองแบบ เพราะต้องการอุดช่องว่างระหว่างบริการสุขภาพออนไลน์และออฟไลน์ จึงพัฒนาคอนเซปต์แบบไฮบริดหรือลูกผสมแบบนี้ขึ้น” ฮาร์ยา กล่าว

ขณะที่“อภัย บางี” หัวหน้าแผนกวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตและการดูแลสุขภาพแห่งอาเซียน จากบริษัทที่ปรึกษาอีวาย กล่าวว่า แม้ประโยชน์ของบริการสุขภาพทางระบบดิจิทัล เช่น ช่วยรัฐบาลวิเคราะห์ข้อมูลและทำให้การเข้าถึงบริการการแพทย์ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพียงใช้งานผ่านแอปโทรศัพท์ แต่ความสะดวกสบายของบริการเหล่านี้มาพร้อมกับข้อมูลความเสี่ยง

“มีข้อมูลมากมายถูกสร้างขึ้นและรวบรวมเป็นรายบุคคล แม้ผู้ให้บริการและระบบสร้างข้อมูลได้ง่าย แต่ความเสี่ยงทางเทคโนโลยี หน่วยงานกำกับดูแล และความท้าทายทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับเจ้าของข้อมูล การแชร์ข้อมูล และการใช้ข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข” อภัย กล่าว

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทต่าง ๆ ทำงานร่วมกันมากขึ้นเพื่อยกระดับประสบการณ์ผู้ใช้ และบางแห่งต้องทำข้อตกลงการแบ่งปันข้อมูล ที่ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวและปกป้องความเสี่ยงของลูกค้า

อภัย บอกด้วยว่า หลายบริษัทจำเป็นต้องลงทุนด้านโครงสร้างไอทีและเทคโนโลยีที่สำคัญเพื่อจัดการและปกป้องข้อมูล รวมถึงปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์และข้อมูลรั่วไหลอื่น ๆ ซึ่งอภัย คาดว่า ความต้องการบริการด้านสุขภาพผ่านระบบดิจิทัลยังคงแข็งแกร่งในอนาคต

“ผู้ใช้งานที่มีประสบการณ์ใช้แอปและชอบความสะดวกสบายของการแพทย์ทางไกล อาจพึงพอใจใช้บริการปรึกษาแบบเสมือนจริงต่อไป” อภัย กล่าว และเสริมว่า “แต่ผู้ที่ไม่สามารถพบแพทย์เนื่องจากปัญหาการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและด้อยโอกาสหรือเผชิญกับปัญหาอื่น ๆ ถือเป็นลูกค้าคนสำคัญด้วยเหมือนกัน”