“ฝรั่งเศส”มองไทย โอกาสลงทุน‘ชิป - เทคโนโลยีชั้นสูง’

“ฝรั่งเศส”มองไทย โอกาสลงทุน‘ชิป - เทคโนโลยีชั้นสูง’

“ฝรั่งเศส”มองไทย โอกาสลงทุน‘ชิป - เทคโนโลยีชั้นสูง’ โดยการเยือนไทยของรมช.ด้านการค้าของฝรั่งเศสเป็นการยืนยันความมุ่งมั่นของฝรั่งเศสที่ต้องการกระชับความร่วมมือกับไทย และตอกย้ำความมุ่งมั่นของฝรั่งเศสที่มีต่อภูมิภาคนี้

เอเชียมีอิทธิพลสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลก ท่ามกลางการแข่งขัน ชิงไหวชิงพริบในอุตสาหกรรมนี้ โดยฝรั่งเศสหนึ่งในประเทศผู้นำเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (อียู) ที่กำลังมองหาความร่วมมือด้านการค้าและลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น รวมถึงไทย  ซึ่ง“ออลีวีเย แบ็ชต์”รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศของฝรั่งเศสได้ให้มุมมองเกี่ยวกับความพยายามของฝรั่งเศสในเรื่องนี้

แบ็ชต์ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการช่วงสองเดือนหลังจากประธานาธิบดีฝรั่งเศส"เอมมานูเอล มาครง"เยือนกรุงเทพฯ เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ถือเป็นการยืนยันความมุ่งมั่นของฝรั่งเศสที่ต้องการกระชับความร่วมมือกับไทยและตอกย้ำความมุ่งมั่นของฝรั่งเศสที่มีต่อภูมิภาคนี้  รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของโรดแมปการดำเนินความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-ไทยที่ได้ลงนามเมื่อปี 2565 ณ กรุงปารีส เพื่อผลักดันให้นำไปสู่การยกระดับสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
 

 แบ็ชต์ กล่าวว่า "ในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีชั้นสูงที่มีเซมิคอนดักเตอร์เป็นเครื่องมือช่วงชิงโอกาสทางการค้าที่สำคัญนั้น ทุกประเทศทั่วโลกต่างรับผลกระทบจากการขาดแคลนชิประดับวิกฤต ขณะเดียวกัน เราต่างก็เผชิญความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์กับจีน

เมื่อปีก่อน สหภาพยุโรปตัดสินใจออกกฎหมายที่จะเปิดโอกาสให้มีการเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมชิป เพิ่มส่วนแบ่งของยุโรปต่อการค้าผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ให้มากขึ้น หรือให้ได้ประมาณ 25% ของโลก (ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ของจีนเติบโตมากกว่า 30%) เราต้องการเพิ่มการลงทุนด้านไมโครชิปให้ทั่วอียู ซึ่งรวมถึงฝรั่งเศส

“ฝรั่งเศส”มองไทย โอกาสลงทุน‘ชิป - เทคโนโลยีชั้นสูง’

“จีน”เป็นทั้งคู่แข่งและพันธมิตรการค้า

ปัญหาซัพพลายเชนเป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจ ซึ่งแบ็ชต์ บอกว่า " ผมไม่ได้บอกว่าฝรั่งเศสและอียูไม่ต้องการเป็นพันธมิตรกับจีน แต่เราคิดว่าจีนเป็นทั้งหุ้นส่วน และคู่แข่งทางการค้า ซึ่งจีนควรรักษาตำแหน่งนี้ไว้ เพื่อเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งกับอียู เพราะในความเป็นจริงไม่ควรมีแหล่งผลิตสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่งไว้ในประเทศเดียว จำเป็นต้องกระจายซัพพลายเชนไปยังประเทศต่างๆ  โดยส่วนตัวผมมองว่า อาเซียนสามารถตอบโจทย์นี้ได้ และคิดว่ามีโอกาสมากมายสำหรับประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางของอาเซียนที่จะเป็นหนึ่งในประเทศที่เราสามารถลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ได้

ชู“ไทย” เป็นฮับเทคโนฯชั้นสูง

“ฝรั่งเศสมีความร่วมมือในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ไมโครชิป และชิ้นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กับหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงบริษัทเอกชนหลายแห่งของฝรั่งเศสก็เข้าไปตั้งโรงงานในจีน ขณะที่เราต้องการจะร่วมมือกับไทยให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ผมหวังว่าจะมีการกระจายการผลิตไปยังประเทศที่มีศักยภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก เพราะฝรั่งเศสรู้เสมอว่า ปัจจุบันความต้องการใช้เทคโนโลยีเพิ่มสูงขึ้น และเพื่อความต่อเนื่อง จึงไม่ควรมีอุปสรรคใดๆมาทำให้สะดุด” รมช.กระทรวงกิจการยุโรปฯ ระบุ และกล่าวว่า "แม้ผมจะไม่รู้ว่า แนวโน้มการผลิตในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในไทยเป็นอย่างไร แต่เชื่อมั่นว่าประเทศไทยเป็นโอกาสที่ดีของเรา"

 

“ฝรั่งเศส”มองไทย โอกาสลงทุน‘ชิป - เทคโนโลยีชั้นสูง’

“เซมิคอนดักเตอร์”หัวใจแห่งเทคโนฯ

ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าเซมิคอนดักเตอร์เป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยี ซึ่งการแข่งขันระหว่างสหรัฐ และจีนด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) เทคโนโลยีการสอดแนม (Surveillance technology) และเครือข่ายโทรคมนาคมระบบ 5G ล้วนมีชิ้นส่วนสำคัญที่เปรียบเสมือนสมองและหัวใจของเทคโนโลยี ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) หรือไมโครชิป (หรือชิป) ซึ่งเป็นวัสดุหลักที่ใช้ในการประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ตั้งแต่เครื่องมือสื่อสาร คอมพิวเตอร์ ยานยนต์ จนถึงการผลิตดาวเทียม

เซมิคอนดักเตอร์จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการชิงความได้เปรียบภายใต้สงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐ และจีน โดยทั้งสองประเทศต่างก็พยายามเข้าครอบครองห่วงโซ่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้ได้โดยเร็ว เพื่อขึ้นเป็นผู้นำและควบคุมทิศทางของเทคโนโลยีในอนาคต

รมช.กระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศของฝรั่งเศส กล่าวทิ้งท้ายว่า "อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ผมไม่แน่ใจว่าทิศทางจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ที่แน่ๆ มีความเป็นไปได้ที่ฝรั่งเศสจะมีความร่วมมือกับไทยที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

“ฝรั่งเศส”กระชับความร่วมมือเอกชนไทย

แบ็ชต์ได้พบและหารือกับรัฐมนตรีของไทยหลายกระทรวง รวมถึงภาคธุรกิจฝรั่งเศสในไทย และนักลงทุนไทย ทั้งยังมีกำหนดร่วมพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการดาวเทียมธีออส-2 ซึ่งพัฒนาโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ร่วมกับเครือแอร์บัส ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างฝรั่งเศสกับไทยในสาขาอวกาศ

 

“ฝรั่งเศส”มองไทย โอกาสลงทุน‘ชิป - เทคโนโลยีชั้นสูง’

รมช.กระทรวงกิจการยุโรปฯ และตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังร่วมกันเปิดงาน “ปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย 2023” ที่เป็นความริเริ่มระหว่างฝรั่งเศสและไทยที่ให้ความสำคัญกับ "นวัตกรรม" สู่การพัฒนาความสัมพันธ์สองประเทศ ซึ่งจะเป็นหมุดหมายความร่วมมือสาขาที่มีศักยภาพ อาทิ อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและสร้างสรรค์ต่อไป