"Climate Change"จุดชนวนสงครามการค้าโลก"

"Climate Change"จุดชนวนสงครามการค้าโลก"

"Climate Change"จุดชนวนสงครามการค้าโลก" ขณะที่สหรัฐและยุโรปเร่งออกนโยบายต่างๆเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมรวดเร็วขึ้น

ความพยายามบรรเทาผลกระทบจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง กระตุ้นให้หลายประเทศทั่วโลกปรับนโยบายด้านอุตสาหกรรมและการค้าในรูปแบบต่างๆ จนทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งกันในหลายประเทศ และความขัดแย้งที่ว่า กำลังสร้างความตึงเครียดแก่ระบบการค้าโลกโดยรวม จนท้ายที่สุดปมนี้อาจพัฒนาไปเป็นสงครามการค้าข้ามพรมแดน

เว็บไซต์นิวยอร์ก ไทม์ รายงานว่า ช่วงไม่กี่เดือนมานี้ สหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู)ออกมาตรการสนับสนุนด้านต่างๆ รวมทั้งให้เงินอุดหนุน กำหนดอัตราภาษีศุลกากรใหม่ที่ถูกลง พร้อมทั้งออกนโยบายต่างๆที่มีเป้าหมายเร่งให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมดำเนินไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น 

บรรดาผู้สนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน มีความเห็นว่า รัฐบาลแต่ละประเทศต้องเคลื่อนไหวเชิงรุกเพื่อขยายแหล่งพลังงานสะอาด พร้อมทั้งลงโทษผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่สุดหากรัฐบาลเหล่านี้อยากหลีกเลี่ยงหายนะที่เป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างแท้จริง

แต่บรรดานักวิจารณ์ ก็มีความเห็นว่า นโยบายพวกนี้ มักทำให้ต่างชาติ - บริษัทต่างชาติเสียเปรียบ เพราะรัฐบาลอุดหนุนอุตสาหกรรมของตัวเอง หรือ เก็บภาษีอัตราใหม่ กับสินค้าต่างประเทศ นโยบายเหล่านี้ แตกต่างจากการให้โควตาการค้า เหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่สหรัฐและยุโรป มักร่วมมือกันผ่านทางองค์การการค้าโลก(WTO) เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะขจัดกำแพงการค้า และกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ปฏิบัติต่อสินค้าของแต่ละฝ่ายอย่างเท่าเทียมมากขึ้น เพื่อหนุนการค้าโลก
 

ขณะนี้ นโยบายใหม่ ๆกำลังสร้างหลุมพรางให้กับตัวเอง และบั่นทอนความสัมพันธ์ในกลุ่มพันธมิตรการค้ากันเอง ทั้งยังสร้างความแตกแยกเป็นวงกว้างในระบบการค้าที่มีความเปราะบางอยู่แล้วทั่วโลก ในขณะที่หลายประเทศพยายามต่อสู้กับความท้าทายจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

“วิกฤตด้านสภาพอากาศกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเศรษฐกิจในวงกว้างและในเวลาอันรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ 5,000 ปีของเรา จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่รัฐบาลแต่ละประเทศต้องหาเครื่องมือใหม่ๆมาช่วยทำให้ภารกิจนี้ดำเนินต่อไป”ท็อดด์ เอ็น.ทักเกอร์ ผู้อำนวยการด้านนโยบายอุตสาหกรรมและการค้าจากสถาบันรูสเวลท์ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนมาตรการบางอย่างกล่าว

ระบบการค้าโลกในปัจจุบันที่มีการจัดส่งตู้คอนเทนเนอร์หลายสิบล้านตู้ ที่อัดแน่นไปด้วยสินค้ามากมายทั้งโซฟา เสื้อผ้า และรถยนต์จากโรงงานต่างประเทศไปยังสหรัฐในแต่ละปี มีราคาถูกอย่างน่าประหลาดใจ แต่ราคาที่ผู้บริโภคจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าเหล่านี้ ไม่ได้นับรวมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มาจากโรงงานผลิตสินค้านั้น ๆ หรือมาจากเรือขนส่งคอนเทนเนอร์และเครื่องบินขนส่งสินค้า ที่บรรทุกสินค้าข้ามมหาสมุทรเอาไว้ด้วย

เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐและยุโรปบอกว่า รัฐบาลจำเป็นต้องทำมากกว่านี้ เพื่อกีดกันผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยมลพิษ หรือก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในปริมาณสูง และต้องลดการพึ่งพาที่เป็นอันตรายจากจีน โดยเฉพาะวัสดุที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสีเขียว เช่น แผงโซลาร์เซลล์ และแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า

รัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้เงินอุดหนุนจำนวนมาก เพื่อกระตุ้นเทคโนโลยีพลังงานสะอาดในสหรัฐ เช่น ให้เงินลดหย่อนภาษีสำหรับลูกค้าที่ซื้อรถยนต์พลังงานสะอาดของสหรัฐ รวมถึงบริษัทที่สร้างโรงงานใหม่เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และคาดว่า สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอาจเป็นโอกาสอันดีต่อการร่วมมือกับพันธมิตร แต่ความคิดริเริ่มดังกล่าว อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง

ความขัดแย้งที่ใหญ่ที่สุดคือ การลดหย่อนภาษีอุปกรณ์และยานยนต์พลังงานสะอาดที่ผลิตในอเมริกาเหนือ เป็นส่วนหนึ่งของร่างนโยบายบรรเทาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และส่งเสริมสุขภาพที่ประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐลงนามร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อปี 2565

ด้านรัฐบาลยุโรป เรียกขานร่างกฎหมายดังกล่าวว่าเป็นมือพิฆาตตำแหน่งงานและกังวลว่า พวกเขาอาจสูญเสียผลประโยชน์ให้กับสหรัฐในการลงทุนด้านแบตเตอรี พลังงานไฮโดรเจน เหล็กกล้า และอุตสาหกรรมอื่น ๆ 

เพื่อรับมือกับมาตรการดังกล่าว (อียู)จึงเริ่มร่างแผนในเดือน ม.ค. ปีนี้ เพื่อให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียว ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่นักวิจารณ์กังวลว่า อาจทำให้โลกเกิดสงครามการให้เงินอุดหนุนที่สูงขึ้นจากเดิมมาและหาประสิทธิภาพไม่ได้

สหรัฐและยุโรปพยายามค้นหาแนวทางต่างๆ ที่อาจช่วยลดปัญหาสภาพอากาศและสงครามเงินอุดหนุน ก่อนที่การลดหย่อนภาษีของสหรัฐจะเริ่มขึ้นในเดือน มี.ค. ปีนี้ แต่รัฐบาลไบเดนมีสิทธิแก้ไขบทบัญญัติทางกฎหมายได้อย่างจำกัดมาก 

นอกจากนี้ รัฐบาลไบเดนยังพยายามสร้างกลุ่มพันธมิตรที่เปิดโอกาสให้สหรัฐกำหนดอัตราภาษีศุลกากรเหล็กกล้าและอลูมิเนียมด้วยนโยบายบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยในเดือน ธ.ค. สหรัฐส่งข้อเสนอเบื้องต้นให้ยุโรปเพื่อจัดการกับเหล็กกล้า แต่ปมเรื่องนี้อาจสร้างความขัดแย้งต่อมิตรประเทศหลายชาติ ทั้งแคนาดา เม็กซิโก บราซิล และเกาหลีใต้ ซึ่งจัดหาเหล็กกล้ารวมกันได้ในปริมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งในการจัดหาเหล็กต่างประเทศของสหรัฐ

“แอนน์ ครูเกอร์” อดีตเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิชาการประจำวิทยาลัยศึกษาขั้นสูงนานาชาติ สังกัดมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ กล่าวถึงความเจ็บปวดของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และพันธมิตรในยุโรปต่อนโยบายการให้เงินอุดหนุนของสหรัฐว่า “นี่เป็นความเจ็บปวดที่มากเกินจะรับได้ เมื่อสหรัฐเลือกปฏิบัติ ยกเว้นเฉพาะบริษัทอเมริกัน และเข้มงวดกับบริษัทอื่นทั่วโลก การทำแบบนี้เท่ากับสหรัฐกำลังทำร้ายตนเอง และทำลายบริษัทอื่น ๆด้วย”