‘เมียนมาปี 2566’ภารกิจท้าทายประธานอาเซียน

‘เมียนมาปี 2566’ภารกิจท้าทายประธานอาเซียน

‘เมียนมาปี 2566’ภารกิจท้าทายประธานอาเซียน โดยอินโดนีเซียจะทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาใช้ข้อตกลงฉันทามติ 5 ข้อ หรือแผนสันติภาพอาเซียนได้หรือไม่

กองทัพเมียนมา ซึ่งยึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน กำลังเป็นปัญหาหนักใจของอินโดนีเซีย ที่ปีนี้ ทำหน้าที่เป็นประธานหมุนเวียนของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า อินโดนีเซียจะทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาใช้ข้อตกลงฉันทามติ 5 ข้อ หรือแผนสันติภาพอาเซียนได้หรือไม่

ที่ผ่านมา เมียนมา ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนประจำปีในปี2564 ที่บรูไนเป็นประธานหมุนเวียน และในปี 2565 ที่กัมพูชาเป็นเจ้าภาพ เพราะล้มเหลวในการปฏิบัติตามข้อตกลงฉันทามติ 5 ข้อ

ทั้งสองประเทศไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจากับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร ทั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (National Unity Government - NUG) และกองกำลังประชาชนเพื่อการป้องกันตนเอง (People’s Defense Forces - PDF)

รัฐบาลกัมพูชา พยายามทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้นำทหารและอาเซียนดำเนินไปเป็นปกติ แต่ก็ทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจ และสุดท้ายก็จบลงด้วยความล้มเหลว ส่วนสถานการณ์ในเมียนมารุนแรงต่อเนื่องจนมีผู้เสียชีวิตไปแล้วจำนวนกว่า 2,700 คน และอย่างน้อย 13,600 คนถูกคุมขัง  และพลเรือนกว่า 1 ล้านคนกลายเป็นคนพลัดถิ่น

"รอสส์ มิโลเซวิช" ผู้อำนวยการองค์กร Risk Analysis & Resources International ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมียนมาพยายามหยั่งเชิงบรรดาชาติสมาชิกอาเซียนมาโดยตลอด โดยเฉพาะเสียงเรียกร้องจากกลุ่มอาเซียน ที่นำโดยบรูไนและกัมพูชา แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้นจนทุกวันนี้

มิโลเซวิช บอกด้วยว่า “อาเซียนดำเนินนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกมาโดยตลอด แต่ความจริงก็ยังคงเป็นความจริง ซึ่งนโยบายนี้เป็นหายนะ และ ผมคิดว่าอาเซียนกำลังรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาได้อย่างไม่ถูกต้อง”

ส่วน“ชาร์ลส ซานติอาโก” จากกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights) เห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดยบอกว่า ไม่มีการหารือกันตามที่มีการระบุในฉันทามติ 5 ข้อ หลังจากผ่านไป 2 ปี และแผนสันติภาพอาเซียนก็ตายไปนานแล้ว

ซานติอาโก ยังกล่าวอีกว่า การตัดสินใจของรัฐบาลทหารเมียนมาที่ว่าจะจัดการเลือกตั้งตามที่สัญญาไว้ภายในเดือนส.ค. พิสูจน์ให้เห็นแล้วเป็นเรื่องน่าขบขัน เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งห้ามพรรค NUG และพรรคการเมืองอื่น ๆ เข้าร่วม และเรื่องนี้ยิ่งเสี่ยงมากขึ้นที่จะทำให้ความแตกแยกในอาเซียนร้าวลึกมากกว่าที่เป็นอยู่
 

"ภายในอาเซียน ไทย กัมพูชาและลาว พร้อมสนับสนุนผลการเลือกตั้งที่ทำให้การที่กองทัพควบคุมรัฐบาลพลเรือนเป็นเรื่องชอบธรรมด้วยกฎหมาย" ซานติอาโก กล่าว

สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน เสนอแนะว่า อินโดนีเซียควรพูดคุยกับมาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่กับบรูไน เพื่อบอกกับรัฐบาลทหารเมียนมาว่า การเลือกตั้งในรูปแบบของเมียนมาไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะจะทำให้ภาพลักษณ์อาเซียนดูไม่ดี และอาเซียนจะกลายเป็นภูมิภาคที่ผู้คนทั่วโลกรังเกียจ