ครูสหรัฐแห่กังวล หวั่นนักเรียนใช้ ChatGPT โกงการบ้านเขียนเรียงความ

ครูสหรัฐแห่กังวล หวั่นนักเรียนใช้ ChatGPT โกงการบ้านเขียนเรียงความ

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานเมื่อวานนี้ (19 ม.ค.) ว่า กลุ่มอาจารย์ในสหรัฐร่วมหารือเกี่ยวกับวิธีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเรียนการสอนและการสั่งงานนักเรียน-นักศึกษา เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้งาน ChatGPT เพื่อโกงการบ้านเขียนเรียงความ

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานเมื่อวานนี้ (19 ม.ค.) ว่า กลุ่มอาจารย์ในสหรัฐร่วมหารือในกลุ่มเฟซบุ๊กเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเรียนการสอนและการสั่งงานนักเรียน-นักศึกษา เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้งาน ChatGPT เพื่อโกงการบ้านเขียนเรียงความ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลัง ChatGPT กลายเป็นกระแสไวรัลจากความสามารถในการตอบตั้งแต่คำถามง่าย ๆ เช่น "ใครคือประธานาธิบดีคนที่ 25 ของสหรัฐ" ไปจนถึงคำถามซับซ้อนอย่าง "อะไรคือพัฒนาการทางการเมืองที่นำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน" โดย ChatGPT สามารถเขียนเรียงความจากเรื่องดังกล่าวได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที

"คริสเตน แอสปลิน" ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก หนึ่งในผู้สอนในกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าว เปิดเผยว่าตนได้ตัดสินใจเปลี่ยนวิธีการสั่งงาน โดยให้นักศึกษาทยอยส่งข้อเขียนให้ตรวจทีละขั้นตอนจนจบกระบวนการ แทนที่จะให้ส่งงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้วมาในทีเดียวซึ่งทำได้ง่ายดายผ่านโปรแกรม ChatGPT

"ฉันจะเฝ้าตรวจจับมากขึ้นในขั้นตอนการเขียนแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่จะได้เห็นความคืบหน้าทั้งหมดในงานของนักศึกษา ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้นักศึกษามีความมั่นใจมากขึ้นในการทำข้อเขียน เพื่อลดโอกาสไม่ให้พวกเขาสิ้นหวังจนต้องหันหน้าไปพึ่งวิธีการโกง และยังจะช่วยให้ฉันได้เห็นกระบวนการทำงานของพวกเขาไปพร้อม ๆ กันด้วย ดังนั้นนักศึกษาจะไม่สามารถพิมพ์คำสั่งลงในโปรแกรมและให้คอมพิวเตอร์ทำแทนได้" ศ. แอสปลิน กล่าว

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากที่บริษัทโอเพ่นเอไอ (OpenAI) เปิดตัว ChatGPT ซึ่งได้รับการฝึกฝนผ่านข้อมูลออนไลน์จำนวนมหาศาลเพื่อสร้างคำตอบ โปรแกรมดังกล่าวก็ได้ถูกนำมาใช้ในการเขียนบทความแม้จะให้ข้อมูลผิด ๆ อยู่หลายจุด รวมทั้งสามารถแต่งเพลงตามสไตล์ของศิลปินหลายคน และร่างบทคัดย่องานวิจัยที่ทำได้ดีพอจะตบตานักวิทยาศาสตร์บางคนได้

ในขณะที่หลายคนมองว่าโปรแกรมนี้เป็นของใหม่ที่ยังไม่มีใครทราบถึงผลกระทบในระยะยาว แต่โรงเรียนและครูจำนวนมากต่างกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อนักเรียนในด้านการโกงการบ้าน ดังเช่นกลุ่มเฟซบุ๊กที่ศ. แอสปลินเข้าร่วม ซึ่งมีสมาชิกเพิ่มเป็น 800 คนแล้วภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์