เนปาลกับโศกนาฎกรรมทางอากาศซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เนปาลกับโศกนาฎกรรมทางอากาศซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เมื่อวันอาทิตย์(15ม.ค.)ที่ผ่านมา เนปาลกลายเป็นข่าวใหญ่(อีกครั้ง)เมื่อเครื่องบินโดยสารสายการบินเยติ แอร์ไลน์สประสบเหตุตกในเขตหุบเขา ถือเป็นโศกนาฏกรรมทางอากาศครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษของประเทศ

เครื่องบินรุ่น ATR72 ซึ่งเดินทางออกจากกรุงกาฐมาณฑุไปยังโพคารา ขาดการติดต่อกับสนามบินโพคาราเมื่อเวลาราว 10.50 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันอาทิตย์ หรือ เพียง 18 นาทีหลังทะยานขึ้นจากสนามบิน และขณะเกิดเหตุท้องฟ้าก็แจ่มใส จุดที่เครื่องบินตกอยู่ในหุบเขาระหว่างเนินเขา 2 ลูกใกล้สนามบิน

ในเที่ยวบินนี้ มีผู้โดยสาร 68 คน เป็นชาวต่างชาติอย่างน้อย 15 คน ซึ่งมีทั้งชาวอินเดีย รัสเซีย เกาหลีใต้ ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา และฝรั่งเศส และเป็นชาวเนปาล 53 คน ลูกเรืออีก 4 คน

ตอนนี้ทหารเนปาลกว่าร้อยนายกำลังปฏิบัติการกู้ภัยในจุดเกิดเหตุเครื่องบินตก บริเวณหุบเขาแม่น้ำเซติ ซึ่งอยู่ห่างจากสนามบินโพคาราแค่ 1.5 กิโลเมตรเท่านั้น

ข้อมูลเชิงสถิติระบุว่าอุบัติเหตุทางการบินในเนปาลเกิดขึ้นบ่อยมาก ด้วยสาเหตุหลายประการ ทั้งสภาพของรันเวย์สนามบินที่ไม่เอื้อต่อการนำเครื่องบินลงจอดเท่าที่ควร หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างฉับพลันที่ทำให้เป็นอันตรายต่อการบินของอากาศยานและวันนี้ (16ม.ค.)ทางการเนปาลประกาศไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตทั้งหมดจากโศกนาฎกรรมครั้งนี้
 

ขณะที่เว็บไซต์ Flightradar24.com ระบุว่า เครื่องบินลำที่ประสบเหตุมีอายุการใช้งานผ่านมาแล้ว 15 ปี และยังติดตั้งระบบแบบเก่า 

ส่วนสายการบินเยติ แอร์ไลน์ส ซึ่งมีเครื่องบิน เอทีอาร์-72 อยู่ในฝูงบินรวม 6 ลำ และให้บริการเฉพาะภายในประเทศ แถลงระงับให้บริการทุกเที่ยวบินตลอดทั้งวันนี้ เพื่อไว้อาลัยให้แก่ผู้เสียชีวิตทั้งหมด

นอกจากประกาศไว้อาลัยทั่วประเทศแล้ว รัฐบาลเนปาลยังตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อสอบสวนโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ที่ถือว่าเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 2535 ที่เครื่องบินโดยสารแอร์บัส เอ-300 ของสายการบินปากีสถาน อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ส ตกในเขตกรุงกาฐมาณฑุ  ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 167 คน และเมื่อเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว ก็เกิดเหตุเครื่องบินโดยสารทารา แอร์ ตกกลางหุบเขาทางตอนเหนือของประเทศ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 22 คน

หากนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตเกือบ 350 คนจากเหตุเครื่องบินตกหรือเฮลิคอปเตอร์ตกในเนปาล

โศกนาฎกรรมครั้งนี้กลายเป็นข่าวร้ายของบริษัทเอทีอาร์ แอโรสเปซ ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินรุ่นเอทีอาร์ บริษัทจึงรีบออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการบอกว่าพร้อมร่วมให้การสอบสวน 

น่าจะถึงเวลาแล้วที่อุตสาหกรรมการบินพลเรือนของเนปาลควรยกเครื่องมาตรฐานด้านความปลอดภัยครั้งใหญ่เสียที  เนื่องจากมาตรฐานการบินพลเรือนของเนปาลอยู่ในระดับที่ต่ำมาก จนส่งผลให้สหภาพยุโรป ( อียู ) แบนสายการบินพาณิชย์ทุกแห่งของเนปาลมาตั้งแต่ปี 2556