"นักท่องเที่ยวจีน" เสริมทัพฟื้นอุตฯ การบินเอเชีย-แปซิฟิก

"นักท่องเที่ยวจีน" เสริมทัพฟื้นอุตฯ การบินเอเชีย-แปซิฟิก

การกลับมาของกองทัพนักท่องเที่ยวจีน จะเป็นทั้งรายได้มหาศาลที่เพิ่มขึ้นและความท้าทายต่ออุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในการสร้างสมดุลหลังผ่านพ้นวิกฤตการณ์โควิด-19 กับเป้าหมายรายได้ในปี 2566

“สเตฟาโน บาครงซี” ผอ.องค์การการบินเอเชีย-แปซิฟิก ชี้ว่า จำนวนผู้โดยสารในภูมิภาคนี้กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอซึ่งได้ส่งสัญญาณบวกต่อการฟื้นตัวอุตสาหกรรมการบินอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ส่งผลต่อนโยบายแต่ละประเทศ ในการกำหนดมาตรการการบินและการเดินทางของประชาชน 

“การฟื้นตัวอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคนี้อาจใช้เวลานาน และปฏิเสธไม่ได้ว่าขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลปักกิ่ง รวมถึงจำนวนนักเดินทางของจีนที่จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อรายได้ในภาคธุรกิจนี้” บาครงซีกล่าวและแนะว่า ผู้มีส่วนได้ผู้เสียต่ออุตสาหกรรมนี้ต้องช่วยกันรักษาระบบนิเวศการบินเพื่อให้นักเดินทางสามารถเดินทางได้อย่างเสรีภาพต่อไป ขณะเดียวกันบรรดาสายการบินและธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็ต้องปรับกลยุทธ์รับกับนักเดินทางเพิ่มขึ้นและเที่ยวบินที่คับคั่งมากขึ้น 

การกลับมาเดินทางอีกครั้งของนักท่องเที่ยวชาวจีน ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป จะเป็นการปลุกอุตสาหกรรมการบินโลกให้คึกคักอีกครั้ง แม้ในระยะเริ่มแรกตั้งแต่เดือน ม.ค.จนถึงเดือน มี.ค.ปีเดียวกัน บรรดาสายการบินต่างๆ ยังไม่พร้อมเท่าไร แต่นับตั้งแต่ฤดูร้อนเดือน เม.ย.เป็นต้นไป ทั้งรายได้และยอดนักเดินทางจะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น

 

\"นักท่องเที่ยวจีน\" เสริมทัพฟื้นอุตฯ การบินเอเชีย-แปซิฟิก

ในประชุมและนิทรรศเทคโนโลยีการบิน (Aviation Festival) เมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2565 จัดขึ้นทางออนไลน์ได้เปิดให้ผู้นำสายการบิน และท่าอากาศยาน ตลอดผู้บริหารระดับสูงธุรกิจซอฟต์แวร์ด้านบริการ การตลาด ความยั่งยืน และเอเจนซี่ขายตั๋วโดยสารรายใหญ่เข้าร่วม ได้พูดคุยเพื่อแสดงความเห็นต่อการปรับกลยุทธ์รับการฟื้นตัวของตลาดการบิน โดยมีเป้าหมายพัฒนาความร่วมมือทางธุรกิจในเอเชีย-แปซิฟิก

“สตรีฟ แซกซ์ซอน” ผู้บริหารบริษัท McKinsey มองว่า นี่คือ “นาทีทอง” การกลับมาของนักเดินทางจีนแสดงให้เห็นถึงอุปสงค์ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมากกว่าอุปทานที่มีในปัจจุบัน โดยเขาชี้ว่า ในช่วง 3 ปีที่มีการระบาดโควิด-19 สายการบินของจีนยังคงรักษาตำแหน่งพนักงานที่เป็นนักบิน และลูกเรือประมาณ 90% รวมถึงเจ้าหน้าที่สนามบินต่างๆ ทั่วประเทศ 

 

\"นักท่องเที่ยวจีน\" เสริมทัพฟื้นอุตฯ การบินเอเชีย-แปซิฟิก

ดังนั้น สายการบินของจีนจะสามารถทำกำไรได้ในระยะสั้นเท่านั้น เพราะมีความพร้อมทั้งเครื่องบิน บุคลากรด้านการบิน และรู้นโยบายล่วงหน้า เพราะในช่วงที่ผ่านมา เครื่องบินพาณิชย์ของจีนจำนวนน้อยกว่า 1 ใน 5 ของทั้งหมดที่มีอยู่ราว 500 ลำถูกจัดเก็บไว้ ถึงแม้จะออกมาใช้ส่วนใหญ่เป็นการบินภายในประเทศและเพื่อขนส่งสินค้าเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อสายการบินต่างประเทศต่างๆ สามารถปรับตัวรับนักท่องเที่ยวจีนที่ต้องการบินเพิ่มขึ้นได้แล้ว คาดว่า อุตสาหกรรมการบินจะกลับมาเฟื่องฟูเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

แซกซ์ซอนอ้างข้อมูลของ ForwardKeys ระบุในปี 2562 จำนวนตั๋วไปและกลับจีนที่จำหน่ายโดยสายการบินจีนสูงประมาณ 62% และสายการบินต่างชาติประมาณ 38% สะท้อนถึงตลาดขาออกประเทศจีนที่เติบโตแข็งแกร่ง โดยชี้ว่าสถานการณ์ในลักษณะนี้จะกลับมาอีกครั้งในอนาคตอันใกล้

 

\"นักท่องเที่ยวจีน\" เสริมทัพฟื้นอุตฯ การบินเอเชีย-แปซิฟิก

ขณะเดียวกัน ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินปี 2565 จะส่งต่อแรงขับเคลื่อนในปีนี้ ซึ่งสมาคมสายการบินเอเชียแปซิฟิก (AAPA) เปิดเผยรายงานจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศ เดิมปี 2562 มีอยู่ที่ 375.5 ล้านคน และเพิ่มขึ้น 4% จากปี 2561 ขณะที่ในปี 2563 นั้นลดลงเหลือ 70 ล้านคน ก่อนที่จะลดจำนวนลงในปี 2564 มีจำนวนเพียง 16.7 ล้านคน และปี 2565 (ม.ค. - ต.ค.) 7.44 หมื่นล้านคน

หากเปรียบเทียบยอดผู้โดยสารระหว่างประเทศในปี 2562 กับปี 2564 จะเห็นภาพการสูญเสียรายได้ในอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคนี้อย่างรุนแรง และต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะฟื้นตัวเต็มที่

สายการบินและสนามบินต่างๆ ตอบสนองต่อการผ่อนปรนข้อจำกัดด้านพรมแดนได้อย่างดี แม้บางประเทศอาจกำหนดกฎระเบียบที่มีเฉพาะนักเดินทางชาวจีน แต่บางสายการบินก็ปรับแนวทางการปฏิบัติงานให้รวดเร็วที่จะทำให้เห็นว่าไม่ได้เป็นอุปสรรคกับการเดินทาง เช่น สิงคโปร์แอร์ไลน์ รวมถึงเพิ่มเที่ยวบินรับกับการเปลี่ยนแปลงกับจำนวนผู้โดยสารในช่วง 6-8 เดือนที่ผ่านมาได้ทันเวลา

และสอดคล้องกับการยกเลิกข้อจำกัดการเดินทาง และการเปิดประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ในญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และฮ่องกง สิ่งนี้เป็นเครื่องยืนยันถึงความสามารถของสายการบินนั้นๆ

 

\"นักท่องเที่ยวจีน\" เสริมทัพฟื้นอุตฯ การบินเอเชีย-แปซิฟิก

ขณะนี้ ดูเหมือนอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจะทิ้งความโกลาหลจากระบาดโควิดไว้เบื้องหลังและทะยานขึ้นท้องฟ้าสู่ธุรกิจการบินที่คึกคักขึ้น สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือไออาตาระบุว่า แม้สายการบินหลายแห่งจะลดการขาดทุนได้ในปี 2565 และคาดจะกลับมาทำกำไรได้ในปี 2566 

ไออาตาได้ประเมินการสูญเสียรายได้ของสายการบินทั่วโลกอยู่ที่ 6.9 พันล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา เดิมในปี 2564 สูญเสียรายได้ที่ 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ และปี 2563 อยู่ที่ 1.37 ล้านล้านดอลลาร์ โดยไออาตาคาดว่าในปีนี้ภาคการบินจะกลับมาทำกำไรได้ แม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด ซึ่งกำไรจะสูงถึง 4.7 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับ 2.64 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2562 เมื่อพิจารณาอัตรากำไรที่คาดไว้ในปี 2567 อยู่ที่ - 0.6% แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 3.1%

นี่เป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้จะเกิดขึ้น ถือเป็นความท้าทายของสายการบินต่างๆ ต้องเผชิญในปี 2566 แม้จะซับซ้อน แต่ก็เกินกว่าประสบการณ์ของทุกสายการบิน ที่สำคัญคือการปรับตัวให้เข้ากับความผันผวนทางเศรษฐกิจ รายการต้นทุนที่สำคัญ เช่น ราคาเชื้อเพลิง และความพึงพอใจของผู้โดยสาร