เตรียมดูดาวหางดวงใหม่ด้วยตาเปล่า 'ครั้งเดียวรอบ 5 หมื่นปี'

เตรียมดูดาวหางดวงใหม่ด้วยตาเปล่า 'ครั้งเดียวรอบ 5 หมื่นปี'

นักดาราศาสตร์เผย ดาวหางเพิ่งค้นพบใหม่จะสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าขณะเคลื่อนผ่านโลกและดวงอาทิตย์ภายในไม่กี่สัปดาห์นี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 50,000 ปี

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน ดาวหางดวงใหม่ที่เรียกว่า C/2022 E3 (ZTF) ตามกล้องดูดาวของ Zwicky Transient Facility ที่พบดาวหางดวงนี้ครั้งแรกขณะเคลื่อนผ่านดาวพฤหัสในเดือน มี.ค.2565

หลังออกจากส่วนที่เป็นน้ำแข็งของระบบสุริยจักรวาล ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 12 ม.ค. และเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 1 ก.พ. ซึ่งจะมองเห็นได้ง่ายด้วงกล้องส่องทางไกลดีๆ สักคู่ และแม้แต่มองด้วยตาเปล่า หากท้องฟ้าไม่สว่างเกินไปจากแสงไฟในเมืองหรือจากดวงจันทร์

นายโทมัส พรินซ์ ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย ผู้ทำงานกับ ZTF กล่าวว่า ดาวหางจะสว่างที่สุดเมื่อเข้าใกล้โลกมากที่สุด

ด้านนายนิโคลัส บีเวอร์ นักดาราศาสตร์จาก Paris Observatory เผยว่า ดาวหางประกอบด้วยน้ำแข็งและฝุ่น เปล่งประกายแสงสีเขียว ประเมินว่ามีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 1 กิโลเมตร เล็กกว่ามากเมื่อเทียบกับ NEOWISE ดาวหางดวงล่าสุดที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า เคลื่อนผ่านโลกในเดือน มี.ค.2563 และ Hale–Bopp ที่โคจรมาในปี 2540 ด้วยเส้นผ่าศูนย์กลางที่อาจทำลายล้างชีวิตมนุษย์ได้ ราว 60 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม แม้ดาวหางจะสว่างที่สุดเมื่อเคลื่อนผ่านโลกช่วงต้นเดือน ก.พ. แต่พระจันทร์ข้างขึ้นอาจทำให้มองเห็นได้ยาก

สำหรับซีกโลกเหนือ นายบีเวอร์แนะนำแนะนำให้ชมช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ม.ค. ตอนดาวหางผ่านระหว่างกลุ่มดาวหมีน้อยและกลุ่มดาวหมีใหญ่ ช่วงเดือนมืดระหว่างสุดสัปดาห์วันที่ 21-22 ม.ค. เป็นโอกาสดีที่สุดสำหรับนักดูดาว

“เราอาจเจอเซอร์ไพรส์ ดาวหางใหญ่กว่าที่คาดถึงสองเท่าด้วย” บีเวอร์แนะ

ขณะที่นายพรินซ์แนะนำว่า อีกครั้งหนึ่งที่จะได้เห็นดาวหางดวงนี้บนท้องฟ้าคือวันที่ 10 ก.พ. ขณะเคลื่อนเข้าใกล้ดาวอังคาร

ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ใช้เวลาเกือบทั้งหมดเดินทางไกลกว่าระยะทางจากดวงอาทิตย์ถึงโลกอย่างน้อย 2,500 เท่า เชื่อกันว่า ดาวหางเกิดจากเมฆออร์ต หรือกลุ่มวัตถุที่โคจรรอบดวงอาทิตย์โดยอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ ตั้งแต่เกือบ 1 ปีแสงจนถึง 3 ปีแสง แหล่งกำเนิดวัตถุลึกลับในรูปน้ำแข็ง

ครั้งสุดท้ายที่ดาวหางดวงนี้โคจรผ่านโลกอยู่ระหว่างยุคหิน สมัยที่นีแอนเดอร์ธัลยังคงท่องโลก คาดว่ารอบต่อไปที่ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) จะเข้ามายังระบบสุริยจักรวาลชั้นในต้องรออีก 50,000 ปี แต่ก็เป็นไปได้ที่หลังจากมารอบนี้แล้วดาวหางจะถูกลบออกไปจากระบบสุริยะอย่างถาวร

อย่างไรก็ตาม กล้องโทรทัศน์เจมส์ เว็บบ์ ที่จับตาอย่างใกล้ชิดจะไม่บันทึกภาพแต่จะศึกษาองค์ประกอบของดาวหางแทน เพราะยิ่งเข้าใกล้โลกก็ยิ่งวัดง่ายเนื่องจากดวงอาทิตย์เผาผลาญชั้นนอกของดาวหางไปแล้ว

นักดาราศาสตร์เชื่อว่า ดาวหางที่นานๆมาครั้งหนึ่งดวงนี้ จะให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในระบบสุริยจักรวาลไกลเกินกว่าดาวเคราะห์ดวงที่ไกลสุด