‘สังคมสูงวัยอยู่ร่วมหนุ่มสาว’โจทย์หินพัฒนาการศึกษา-แก้ยากจน

‘สังคมสูงวัยอยู่ร่วมหนุ่มสาว’โจทย์หินพัฒนาการศึกษา-แก้ยากจน

‘สังคมสูงวัยอยู่ร่วมหนุ่มสาว’โจทย์หินพัฒนาการศึกษา-แก้ยากจน ขณะที่ประชากรโลก 8,000 ล้านคน เป็นสัญญาณการพัฒนาด้านสาธารณสุขที่ช่วยยืดอายุขัย และบ่งชี้ว่าโลกมีความหลากหลายด้านประชากรมากขึ้น

 การเติบโตของประชากรและคนหนุ่มสาวในประเทศเอเชียใต้ทำให้เกิดโอกาสในการพัฒนา และเพิ่มระดับความท้าทายด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การลดปัญหาความยากจนไปจนถึงการพัฒนาการศึกษา

 ปี 2566 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์สำหรับประชากรเอเชีย และเป็นครั้งแรกที่ “อินเดีย” อาจมีประชากรมากกว่าจีน จนกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่า ความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการค้าของอินเดียกับประเทศอื่น ๆ และเมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)คาดการณ์ว่า อินเดียจำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานคิดเป็นมูลค่ามากถึง 840,000 ล้านดอลลาร์ในอีก 15 ปีข้างหน้าเพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายนี้

ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของอินเดีย เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพความซับซ้อนและการเพิ่มขึ้นของประชากร ระหว่างประเทศกำลังพัฒนาที่มีประชาชนอายุน้อยกับประเทศพัฒนาที่กำลังเสื่อมถอยเพราะมีแต่คนสูงวัย

องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประกาศเมื่อวันที่ 15 พ.ย. ปี2565 ว่า ประชากรโลกอาจเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 8,000 ล้านคน และเอเชียเป็นทวีปที่มีประชากรมากกว่า 4,000 ล้านคน 

ข้อมูลของยูเอ็น ระบุด้วยว่า นอกจากจีนที่มีประชากร 1,426 ล้านคน และอินเดียมีประชากร 1,417 ล้านคนแล้ว ยังมีประเทศในเอเชียอีก 5 ประเทศที่มีประชากรมากกว่า 100 ล้านคนในปี 2565 ได้แก่ อินโดนีเซีย 276 ล้านคน, ปากีสถาน 238 ล้านคน, บังกลาเทศ 172 ล้านคน, ญี่ปุ่น 124 ล้านคน และฟิลิปปินส์ 116 ล้านคน ส่วนประเทศเวียดนามมีประชากร 98 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านคน ในเร็ว ๆ นี้

ยูเอ็น ระบุว่า จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 8,000 ล้านคน เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการพัฒนาด้านสาธารณสุขที่ช่วยยืดอายุขัย และบ่งบอกว่าโลกมีความหลากหลายทางประชากรมากขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ ทวีปเอเชียมีประเทศที่ประชากรอายุไม่มากนัก โดยเฉลี่ยคือในช่วง 20 ปีในหลายประเทศ เช่น อินเดีย ประชากรมีอายุเฉลี่ย 27.9 ปี, ปากีสถาน 20.4 ปี, และฟิลิปปินส์ 24.7 ปี ส่วนประชากรในประเทศเศรษฐกิจยุคเก่ามีอายุเฉลี่ยอยู่ในช่วง 40 ปี เช่น  ญี่ปุ่น 48.7 ปี และเกาหลีใต้ 43.9 ปี ทั้งยังมีช่องว่างด้านอายุระหว่างคนหนุ่มสาวและผู้สุูงอายุห่างกันมากตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ข้อมูลจากโครงการของยูเอ็น ระบุว่า ประชากรอินเดียจะเพิ่มขึ้นประมาณ 11 ล้านคนในช่วงปี 2565-2566 เป็น 1,430 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 17% ของประชากรโลก แต่อินเดียมีที่ดินทำกินแค่ 2.4% และมีแหล่งน้ำเพียง 4% ทำให้อินเดียมีทั้งโอกาสและความท้าทายมากมายในอนาคต

รายงานของรัฐบาลอินเดีย ระบุว่า “ขณะที่อินเดียประสบกับการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร บวกกับพลวัตทางสังคมและเทคโนโลยีขั้นสูง คนหนุ่มสาวอินเดีย จะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ”

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ติดตามเศรษฐกิจอินเดีย (ซีเอ็มไออี) ระบุว่า แม้นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ของอินเดียอาจขยายตัว 7% ในปีนี้ และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรงจะหมดไป แต่อินเดียยังต้องเผชิญกับอัตราการว่างงานสูงประมาณ 8% บ่งชี้ว่าประเทศนี้ยังสร้างงานรองรับการเพิ่มขึ้นของประชาชนอีกมาก

“โชทาโร คุมากาอิ” นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยแห่งชาติญี่ปุ่น ให้ความเห็นว่า ความท้าทายจากข้อกังวลเรื่องอาหารคือ การผลิตพืชผลเกษตรอาจได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศได้ง่าย

“ในอีกแง่หนึ่ง ความต้องการอาหารในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่การผลิตลดลง อาจทำให้เกิดการระงับส่งออกสินค้าประเภทอาหาร ซึ่งอินเดียเริ่มระงับการส่งออกข้าวในปี 2565 และอาจเกิดปัญหาซัพพลายเชนด้านอาหารในประเทศอื่น ๆ เช่นกัน”

ส่วน “ญี่ปุ่น” ประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วที่สุดในเอเชีย เผชิญกับปัญหาที่แตกต่างกันไป เช่น ประชากรในชนบทลดลงและบ้านเมืองเสื่อมโทรมจากการย้ายถิ่นฐาน

ข้อมูลเชิงสถิติจากรัฐบาลญี่ปุ่นล่าสุดบ่งชี้ว่า อัตราเด็กเกิดใหม่ในญี่ปุ่นลดลงต่ำกว่า 8 แสนคนเป็นครั้งแรกในปี 2565 ซึ่งลดลงเร็วกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้

“ฮิโรคาสึ มัตสึโนะ” ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาว่า เขาเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการโน้มน้าวใจชายหญิงญี่ปุ่น เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เผชิญกับอัตราการเกิดลดลงเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการแต่งงานช้า ส่งผลให้คู่สมรสเลื่อนการมีบุตรออกไป

ส่วนอัตราเด็กเกิดใหม่ในจีนยังคงที่และคาดว่าจะเริ่มลดลงก่อนปี 2568 นอกจากนี้ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเช่นกัน รวมถึงสิงคโปร์และไทย

ยูเอ็นคาดการณ์ว่า ในระยะยาวการเติบโตของประชากรอาจลดลงทั่วโลกเป็นเวลาหลายสิบปี โดยจำนวนประชากรโลกจะแตะ 9,000ล้านคนในปี 2580 ใช้เวลานานกว่าช่วงการเติบโตของประชากรจาก 7,000 ล้านคน สู่ 8,000 ล้านคน และประชากรจะเพิ่มขึ้นถึง 1.04  หมื่นล้านคนในปี 2629

คุมากาอิ ย้ำว่า องค์กรระหว่างประเทศควรทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขความต้องการด้านอาหารและพลังงานที่เพิ่มขึ้น และหลายประเทศควรทำอะไรมากกว่านี้เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน ทั้งยังแนะนำให้ประเทศเอเชียแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาประชากรลดลง ตลอดจนหาแนวทางพัฒนา โดยแบ่งปันประสบการณ์ให้แก่กัน ผ่านภาครัฐและภาคธุรกิจ