‘ความยุติธรรม’ ตัวช่วยฝ่าวิกฤติโลกยุคแบ่งขั้ว

‘ความยุติธรรม’ ตัวช่วยฝ่าวิกฤติโลกยุคแบ่งขั้ว

"ความยุติธรรม" ตัวช่วยฝ่าวิกฤติโลกยุคแบ่งขั้ว ขณะที่ในปี 2564 การค้าทวิภาคีระหว่างสหรัฐและเม็กซิโกเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.6 แสนล้านดอลลาร์

โลกาภิวัฒน์” หยุดนิ่งอยู่กับที่ขณะที่ความขัดแย้งของคู่กรณีต่างๆ ที่รวมถึง ความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างสหรัฐและจีน การรุกรานยูเครนของรัสเซีย การแบ่งฝีกแบ่งฝ่ายของโลกที่มีมากขึ้นแต่ภาคธุรกิจและประชาชนยังคงหาทางบรรเทาความคิดเห็นที่แตกแยกเหล่านี้พร้อมๆกับแสวงหาการเติบโตทางธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้ในยุคที่แบ่งเป็นขั้ว โลกจำเป็นต้องใช้ “ความยุติธรรม” หรือความถูกต้องเป็นเข็มทิศนำทางเพื่อให้ฝ่าอุปสรรคต่างๆไปได้

บริเวณชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก มีถนนที่จัดเตรียมไว้สำหรับ“รถบรรทุกเปล่า”พร้อมกับป้ายเขียนว่า“เทสลา” ติดตั้งตรงจุดข้ามพรมแดนในเมืองโคลอมเบีย ในรัฐนูโว ลีออนที่อยู่ทางตอนเหนือ  ซึ่งเป็นปากประตูสู่โรงงานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ในเมืองออสติน รัฐเท็กซัสของบริษัทเทสลา 

ถนนสายพิเศษนี้สร้างขึ้นเมื่อฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้ว ช่วยให้การทำการค้าบริเวณชายแดนที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์พยายามจะปิด  รัฐบาลบริหารของทรัมป์ไม่ได้แค่ก่อสร้างกำแพงขึ้นมากั้นเท่านั้นแต่ยังทำให้เป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับสหรัฐที่จะจัดเก็บภาษีชิ้นส่วนรถยนต์จากเม็กซิโกในอัตรา 2.5% ด้วยการแทนที่ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือด้วยข้อตกลงการค้าอเมริกาเหนือฉบับใหม่ ที่ชื่อว่า USMCA (United States-Mexico-Canada Agreement) ระหว่างประเทศสหรัฐ เม็กซิโก และแคนาดา

รัฐบาลสหรัฐและแคนาดาเห็นพ้องต้องกันว่าการใช้ USMCA จะเพิ่มความเสรีให้ตลาด เพิ่มความยุติธรรมให้การค้า และช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีขึ้น ส่วนเม็กซิโก  ก็เห็นด้วยว่าข้อตกลงฉบับใหม่นี้จะนำมาซึ่งผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้ง 3 ประเทศ

ข้อกำหนดหลักๆ ที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงแล้วจากทั้งสามประเทศ เช่น การกำหนดให้เพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผลิตจากกลุ่มประเทศในอเมริกาเหนือ การกำหนดมาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ด้านภาษี การกำหนดระยะเวลาของข้อตกลงอยู่ที่ 16 ปีหากไม่มีการต่ออายุ การเปิดตลาดผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมของประเทศแคนาดา ฯลฯ

MCA ซึ่งจะเข้ามาแทนที่ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ โดยจะมีการทบทวนข้อตกลงทุกๆ 6 ปี และในแง่ของภาคธุรกิจผลิตภัณฑ์นมนั้น เกษตรกรสหรัฐจะสามารถเข้าถึงตลาดผลิตภัณฑ์นมของแคนาดาที่มีมูลค่าถึง 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีได้ในสัดส่วน 3.5%

แม้จะมีข้อกีดกันต่างๆ ชิ้นส่วนราคาถูกและดีจากเม็กซิกันก็เป็นสิ่งสำคัญต่อกระบวนการผลิตรถไฟฟ้า ถนนสายเทสลา เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงการพึ่งพาอาศัยกันของสองเศรษฐกิจ โดยในปี 2564 การค้าทวิภาคีระหว่างสหรัฐและเม็กซิโกเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.6 แสนล้านดอลลาร์ เท่านั้นยังไม่พอ สะพานสำหรับระบบรางอันใหม่ที่มีกำหนดสร้างข้ามชายแดนเท็กซัสในปี 2567 จะทำให้กำแพงของทรัมป์ที่มีอยู่ในตอนนี้กลายเป็นอดีต 

ขณะที่ธุรกิจในอเมริกาเหนือกำลังได้รับการแก้ไขปรับปรุงผ่านการดำเนินนโยบายที่เห็นต่างเพราะแรงผลักดันทางการเมือง ในภูมิภาคยุโรปตอนนี้กำลังเจ็บปวดรวดร้าวจากความคิดเห็นที่แตกต่างที่เป็นผลพวงของสงครามการสู้รบในยูเครน

ตัวอย่างที่ดีที่พอจะหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในตอนนี้คือช็อปปิงมอลล์ชื่อ ซาร์ หมายถึง จักรพรรดิ ในภาษารัสเซีย อยู่ทางตอนใต้ของฟินแลนด์ ห่างจากชายแดนรัสเซีย 2 กิโลเมตร ห้างอายุ 4 ปีแห่งนี้ยื่นขอให้ศาลพิทักษ์ทรัพย์เมื่อเดือนต.ค. ปีที่แล้ว หลังจากรัฐบาลฟินแลนด์ห้ามรัสเซียเข้ามาลงทุนด้วยความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคง ส่งผลให้ไม่มีผู้คนเดินทางข้ามพรมแดนเข้ามาซื้อหาสิ่งของต่างๆในที่สุด

แต่ห้างสรรพสินค้าในฟินแลนด์แห่งนี้ก็ไม่ใช่แห่งเดียวที่เจอชะตากรรมแบบนี้ การลงโทษรัสเซียด้วยมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกส่งผลให้รัสเซียและชาวรัสเซียไม่สามารถดำเนินธุรกิจหรือซื้อหาสิ่งของต่างๆจากประเทศเพื่อนบ้านได้เหมือนเคย เมื่อไม่นานมานี้ รัสเซียตัดสินใจระงับการส่งออกก๊าซไปยังเยอรมนีผ่านท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม ส่งผลให้ราคาก๊าซในยุโรปทะยานขึ้นในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพิ่มความยากลำบากแก่การดำเนินชีวิตของผู้คนและเศรษฐกิจของหลายประเทศในยุโรป

นิกเคอิได้จัดทำดัชนีความยุติธรรม โดยประเมินจาก  84 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลกพร้อมให้คะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 100 โดยใช้ตัวบ่งชี้ 10 ตัวที่อิงข้อมูลจากกลุ่มนักคิดและองค์กรอื่นๆ แยกเป็นหัวข้อการเมืองและเสถียรภาพด้านกฏหมาย3หัวข้อ หัวข้อด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมสามหัวข้อและหัวข้อด้านเสรีภา่พด้านเศรษฐกิจสี่หัวข้อ    

กลุ่มประเทศนอร์ดิกสามประเทศและสวิตเซอร์แลนด์ติด 4 อันดับชั้นนำ ตามมาด้วยญี่ปุ่น อันดับที่11 และสหรัฐอันดับที่17 ส่วนจีน รัสเซียและอิหร่านอยู่อันดับรั้งท้ายสุด  

สึเนโอะ วาตานาเบะ เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสจากมูลนิธิสันติภาพซาซากาวา มีฐานดำเนินงานอยู่ในกรุงโตเกียว ให้ความเห็นว่า การจัดทำดัชนีนี้มีประโยชน์มากเพราะบรรดาสำนักงานวิจัยสหรัฐมีแนวโน้มที่จะประเมินประเทศอื่นๆ โดยยึดเกณฑ์ที่ว่าประเทศเหล่านั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แต่โลกโดยรวมไม่ได้ปกครองโดยแกนของประชาธิปไตยที่อยู่ตรงข้ามกับลัทธิเผด็จการ      

แบนริ  อิโตะ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโอยามา กาคูอินของญี่ปุ่น กล่าวว่า กลุ่มประเทศเครือจักรภพที่มีกฏระเบียบการค้าและการเงินชัดเจนจะได้คะแนนสูง ซึ่งก็สมเหตุสมผล เพราะแนวคิดเรื่องความยุติธรรมตอกย้ำปรัชญาของกฏระเบียบ