วิจารณ์จุดยืนไทยต่อเมียนมา สะท้อนภาวะเสียงแตกใน‘อาเซียน’

วิจารณ์จุดยืนไทยต่อเมียนมา สะท้อนภาวะเสียงแตกใน‘อาเซียน’

การที่ไทยจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการด้วยการเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเข้าร่วมหารือเรื่องเมียนมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ถูกวิจารณ์ค่อนข้างแรง และถูกมองว่า สร้างความแตกร้าวที่เด่นชัด เพราะหลายชาติไม่ยอมร่วมประชุม หลังรู้ว่าเชิญตัวแทนเมียนมาเข้าร่วมด้วย

จุดยืนไทยต่อเมียนมา กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) หรือ รัฐบาลเงาของเมียนมา, กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน และนักวิเคราะห์หลายคน หลังจากไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือว่าด้วยวิกฤตหลังรัฐประหารในเมียนมา ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เข้าร่วม โดยให้ “รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา” เข้าร่วมหารือด้วย

การประชุมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าชาติสมาชิกอาเซียนเสียงแตกรุนแรงที่สุด เมื่ออินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ บรูไนและสิงคโปร์ ที่วิพากษ์วิจารณ์เมียนมามากที่สุด ไม่ยอมมาเข้าร่วมการประชุมด้วย เหลือเพียงไทย ประเทศเจ้าภาพ, กัมพูชา, ลาวและเวียดนาม ที่หารือกับตัวแทนจากรัฐบาลทหารเมียนมา

นักวิเคราะห์มีความเห็นว่า ความพยายามของไทย กลับยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกในอาเซียนระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมากับประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ในอาเซียน ร้าวลึกยิ่งขึ้น เนื่องจากสมาคมอาเซียนตัดสินใจร่วมกันแล้วว่า “ไม่ยอมให้” ตัวแทนจากทุกภาคส่วนของรัฐบาลทหารเมียนมา เข้าร่วมการประชุม หลังละเมิดฉันทามติ 5 ข้อ ที่นำไปสู่สันติภาพ ที่ออกมาเมื่อเดือนเม.ย.ปี 2564 

ฉันทามติ 5 ข้อ ที่นำไปสู่สันติภาพ ประกอบด้วย

1. ทุกฝ่ายหยุดความรุนแรง

2. ทุกฝ่ายเจรจาอย่างสันติ

3. ให้มีฑูตพิเศษเพื่อให้เกิดกระบวนการเจรจา

4. อาเซียนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

5.ให้ฑูตพิเศษเข้าไปเมียนมาเพื่อพูดคุยกับทุกฝ่าย ซึ่งถือเป็นการ “เริ่มนับหนึ่งในการแก้วิกฤติเมียนมา”

"จ่อ ซอ" โฆษกของเอ็นยูจีให้ความเห็นเมื่อวันศุกร์ (23ธ.ค.) ว่า พลเมือนชาวเมียนมาแสดงออกอย่างชัดเจนและแจ่มชัดว่า พวกเขาไม่ต้องการให้ทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง วิกฤตเมียนมาจะไม่ได้รับการแก้ไขโดยการประชุมกับตัวแทนรัฐบาลทหาร แต่กลับจะยิ่งเพิ่มความไร้เสถียรภาพและความรุนแรงในเมียนมา ประเทศไทยควรรับรู้ไว้ บรรดาผู้นำของรัฐบาลไทย ควรรู้และเข้าใจเช่นกัน

โฆษกเอ็นยูจี บอกด้วยว่า “ผมอยากบอกว่า ถ้าคุณต้องการจะช่วยและแก้ปัญหาวิกฤตในประเทศของเรา ควรรวมเจตจำนงของประชาชนของเรา เพื่อนำมาพิจารณาในการประชุมด้วย”

กองทัพเมียนมา ยึดอำนาจ จากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ปี 2564 และนับตั้งแต่นั้นรัฐบาลทหารได้กวาดล้าง จับกุมและทรมานพลเรือนที่ต่อต้าน โดยข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ระบุว่า มีพลเรือนถูกสังหารไปเกือบ 2,700 คน และถูกจับเกือบ 17,000 คน

นักวิเคราะห์หลายคน มองว่า การที่ไม่มีตัวแทนจากอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์และบรูไน เดินทางมาร่วมการประชุม เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าภายในอาเซียนมีความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกัน 

“ชาร์ลส ซานติเอโก” ประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) วิจารณ์ค่อนข้างแรงว่า การประชุมครั้งนี้ บอกถึงพื้นฐานอยู่แล้วว่า กัมพูชา ประธานอาเซียน ปี 2564 กับไทย ไม่จริงใจที่จะให้บรรลุฉันทามติ 5 ประการ ถ้าไทยจริงจังกับฉันทามติ ก็ควรเชิญเอ็นยูจีเข้าร่วมการประชุมด้วย การที่เอ็นยูจีไม่ได้รับเชิญ แสดงให้เห็นว่า ไทยไม่จริงใจ

ด้านนักวิเคราะห์อีกคน “ซาคารี อาบูซา” ให้ความเห็นว่า การประชุมที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เป็นการการประชุมแบบ ASEAN-minus ที่ชาติสมาชิกเข้าร่วมไม่ครบ  สะท้อนให้เห็นความแตกแยกในองค์กรอย่างชัดเจน ไทยต้องการเห็นรัฐบาลทหารเมียนมาครองอำนาจเป็นอย่างมาก และได้ติดต่อไปยังรัฐเผด็จการ ที่มีแนวคิดเดียวกันในลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อสนับสนุนการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ขัดหลักการอาเซียน ที่สมาชิกในองค์กรเห็นชอบร่วมกันที่จะไม่เชิญผู้นำระดับสูงของรัฐบาลทหารมาเข้าร่วมงานใดๆ ของอาเซียน

อาบูซา ยังบอกด้วยว่า ไทยวิตกอย่างยิ่งว่า อินโดนีเซียที่รับช่วงประธานหมุนเวียนในปี 2566 จะยืนหยัดนโยบายที่หนักหน่วงต่อรัฐบาลทหารเมียนมา พร้อมทั้งกล่าวพาดพิงรัฐบาลไทยว่า ผู้นำอย่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ก้าวขึ้นมาจากการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อเดือนพ.ค. ปี 2557