‘คุมราคาน้ำมันรัสเซีย’ บททดสอบเขี้ยวเล็บตะวันตก

‘คุมราคาน้ำมันรัสเซีย’ บททดสอบเขี้ยวเล็บตะวันตก

รัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับสองของโลก ถ้าไม่มีการควบคุมราคา รัสเซียย่อมหาลูกค้าใหม่ซื้อน้ำมันในราคาตลาดได้ไม่ยาก

การควบคุมราคาน้ำมันรัสเซียตามที่สหภาพยุโรป กลุ่มประเทศจี7 และออสเตรเลีย เห็นชอบร่วมกันมีผลบังคับใช้เมื่อวันจันทร์ (5 ธ.ค.) มีจุดมุ่งหมายจำกัดรายได้รัสเซีย พร้อมๆ กับทำให้มั่นใจได้ว่า รัสเซียยังมีน้ำมันป้อนตลาดโลก ถือเป็นบทพิสูจน์ต่อทั้งฝ่ายตะวันตกและรัสเซียว่าจะยืนหยัดกันไปได้นานแค่ไหน 

การควบคุมราคา คืออะไร

ข้อตกลงของจี7 อนุญาตให้ประเทศที่ 3 ใช้เรือบรรทุกน้ำมัน บริษัทประกันภัย และผู้ให้สินเชื่อจากจี7 และอียูขนส่งน้ำมันได้หากราคาน้ำมันซื้อมาในราคาไม่เกิน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

การควบคุมราคาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ควบคู่กับการที่สหภาพยุโรป (อียู) ห้ามซื้อขายน้ำมันดิบรัสเซียส่งมอบทางทะเล หลังจากที่สหรัฐและแคนาดาห้ามไปแล้วหลายเดือน

รัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับสองของโลก ถ้าไม่มีการควบคุมราคา รัสเซียย่อมหาลูกค้าใหม่ซื้อน้ำมันในราคาตลาดได้ไม่ยาก

มาตรการที่ออกมาหมายความว่า เฉพาะน้ำมันที่ขายกันในราคาไม่เกิน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้นจึงจะส่งมอบต่อไปได้

บริษัทที่มีฐานปฏิบัติการในอียู จี7 และออสเตรเลีย จะถูกห้ามไม่ให้บริการต่อการขนส่งทางทะเล เช่น การประกันภัยกับน้ำมันที่สูงกว่าราคาควบคุม

ทั้งนี้ ชาติสมาชิกจี7 อันได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐ ให้บริการประกันภัย 90% ของการขนส่งสินค้าโลก และอียูเป็นผู้เล่นรายสำคัญในการขนส่งสินค้าทางทะเล

นี่หมายความว่า พวกเขาจะสามารถส่งผ่านราคาควบคุมไปยังลูกค้าส่วนใหญ่ของรัสเซียที่มีอยู่ทั่วโลก ทำให้การกำหนดราคามีความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม ยังมีช่วงเปลี่ยนผ่านราคาควบคุมจะไม่ใช้กับเรือที่บรรทุกสินค้าก่อนวันที่ 5 ธ.ค. และการควบคุมเพดานราคาสินค้าน้ำมันรอบต่อไปจะมีผลในวันที่ 5 ก.พ.

ผลกระทบต่อตลาด

ตะวันตก ยอมรับราคาควบคุมที่ 60 ดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าต้นทุนการผลิตน้ำมันในรัสเซียมาก ดังนั้นรัฐบาลมอสโกจะเดินหน้าผลิตน้ำมันดิบต่อไป และมีรายได้ต่อไปแม้ลดลงบ้างก็ตาม

‘คุมราคาน้ำมันรัสเซีย’ บททดสอบเขี้ยวเล็บตะวันตก

เจ้าหน้าที่อียูคนหนึ่งมองว่ารัสเซียต้องรักษาผลประโยชน์ในการขายน้ำมันหรือเสี่ยงลดซัพพลายน้ำมันโลกซึ่งเป็นเหตุให้ราคาพุ่งสูง

เจ้าหน้าที่รายนี้ไม่เชื่อคำขู่ของทำเนียบเครมลินที่จะหยุดส่งมอบน้ำมันให้กับประเทศที่ร่วมกำหนดเพดานราคา และกล่าวเสริมว่า รัสเซียยังคงกังวลเรื่องสภาพโครงสร้างพื้นฐานของตน ซึ่งจะเสียหายถ้าการผลิตถูกระงับ รวมถึงการรักษาความเชื่อมั่นของลูกค้า เช่น จีนและอินเดีย

ผู้เชี่ยวชาญเองก็กังวลเรื่องการกระโดดเข้าสู่สถานการณ์ที่ไม่รู้จัก จึงจับตาปฏิกริยาจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ในนามโอเปกพลัสอย่างใกล้ชิด

อเล็กซานเดอร์ โนวัก รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย กล่าวในการประชุมทางไกลของกลุ่มโอเปกพลัสเมื่อวันอาทิตย์ (4 ธ.ค.)

“เราจะขายน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันให้กับประเทศที่จะทำงานกับเราในแง่ของตลาด แม้ว่าเราต้องลดผลผลิตไปบ้างก็ตาม ขณะนี้เรากำลังใช้กลไกป้องกันการใช้เครื่องมือการควบคุมราคาในทุกระดับ” และเตือนว่า การควบคุมราคามีแต่จะเป็นเหตุให้ “ตลาดปั่นป่วนมากขึ้น” เท่านั้น

ขณะที่อียูยืนยันว่า การควบคุมราคาน้ำมันรัสเซียจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับตลาด และ “ให้ประโยชน์โดยตรงต่อเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา” ให้สามารถได้น้ำมันรัสเซียในราคาที่ต่ำลง

ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบอูราลของรัสเซียโฉบเฉี่ยวอยู่ราว 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล บ่งชี้ว่ามาตรการดังกล่าวอาจให้ผลจำกัดแค่ในระยะสั้นเท่านั้น

ด้านยูเครนกล่าวในวันเสาร์ (3 ธ.ค.) ว่า การควบคุมควรกำหนดให้ต่ำกว่านี้ โดยโต้แย้งว่า ราคา 60 ดอลลาร์ไม่มากพอลงโทษทำเนียบเครมลิน

ทบทวนการควบคุมได้

การควบคุมราคาน้ำมันรัสเซียจะมีการทบทวนตั้งแต่กลางเดือน ม.ค. และทุกๆ สองเดือน เพื่อเปิดโอกาสให้ปรับเปลี่ยนสอดรับกับราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้หลักการควบคุมให้ต่ำกว่าราคาเฉลี่ยในตลาดอย่างน้อย 5%

การทบทวนใดๆ จำเป็นต้องได้รับความเห็นพ้องจากจี7 ออสเตรเลีย และอียู

ประสิทธิผล

ทุกประเทศได้รับเชิญให้ร่วมมาตรการอย่างเป็นทางการ รัฐที่ไม่ใช้มาตรการดังกล่าวสามารถซื้อน้ำมันรัสเซียได้ในระดับที่สูงกว่าราคาควบคุม แต่ต้องไม่ใช้บริการชาติตะวันตกเพื่อให้ได้มา ประกัน หรือขนส่งน้ำมันรัสเซีย

“เรามีสัญญาณชัดเจนถึงจำนวนเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่โดยเฉพาะในเอเชีย ที่จะปฏิบัติตามหลักการควบคุมราคา” เจ้าหน้าที่อียูรายเดิมกล่าวและว่า รัสเซียกำลังถูกลูกค้ากดดันให้ลดราคา

ส่วนการจะหาบริการทางเลือกอื่นนอกเหนือจากบริษัทยุโรปก็ยุ่งยากมาก เพราะบริษัทยุโรปเป็นเจ้าตลาดการขนส่งน้ำมันและประกันภัย การที่จู่ๆ จะหาอย่างอื่นมาทดแทนรวมถึงประกันภัยน้ำมันรั่ว “ย่อมเป็นเรื่องที่เสี่ยงสุดๆ” เจ้าหน้าที่อียูย้ำ

ความเสี่ยง

รัฐสมาชิกอียูและจี7 จะต้องจับตาบริษัทในดินแดนของตน หากพบว่า มีเรือชักธงประเทศที่ 3 บรรทุกน้ำมันรัสเซียในราคาแพงกว่าราคาควบคุม ผู้ปฏิบัติการตะวันตกจะถูกห้ามไม่ให้ประกันและจัดหาเงินทุนเป็นเวลา 90 วัน

ขณะเดียวกันรัสเซียอาจถูกกระตุ้นให้สร้างกองเรือบรรทุกน้ำมัน ดำเนินการ และทำประกันภัยด้วยตนเอง แต่อียูเชื่อว่า “การสร้างระบบนิเวศขนส่งทางทะเลเพียงชั่วข้ามคืนเป็นเรื่องยุ่งยากมาก” อีกทั้งมาตรการดังกล่าวยังยากจะจูงใจลูกค้าให้เกิดความเชื่อมั่นได้