‘อัสตานา’ คาซัคสถาน ที่เก่า ชื่อเก่า เล่าใหม่

‘อัสตานา’ คาซัคสถาน   ที่เก่า ชื่อเก่า เล่าใหม่

เอ่ยชื่อ “คาซัคสถาน” ประเทศใหญ่สุดในเอเชียกลาง ใครๆ ก็ต้องบอกว่าอยากไป การได้ไปเยือนประเทศนี้แบบไม่คาดฝันถือว่าโชคดี และยิ่งเป็นโชคสองชั้นเมื่อได้กลับไปเยือนซ้ำแบบไม่คาดฝันอีกเช่นกัน

แม้เป็นภารกิจสั้นๆ ในคณะสื่อมวลชนนานาชาติที่ได้เข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 พ.ย. แต่ “อัสตานา” เมืองหลวงของคาซัคสถานยังมีมนต์เสน่ห์เหมือนเช่นเดิม 

เมื่อสามปีก่อน World Pulse ได้ไปเยือนกรุงอัสตานาครั้งแรก ระหว่างวันที่ 4-6 ก.ย.2562 ในงานประชุมนักเขียนเอเชีย (The First Forum of Asian Countries’ Writers) ที่คาซัคสถานจัดขึ้นเป็นครั้งแรก และตอนนั้นกรุงอัสตานาเพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็น “นูร์ซุลตัน” เพื่อเป็นเกียรติแด่ “นูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ” ประธานาธิบดีคนแรกของรัฐเอกราชคาซัคสถานหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แต่กลับไปรอบนี้ เมืองหลวงกลับมาใช้ชื่อ “อัสตานา” เหมือนเดิม! เห็นชื่อเมืองในตั๋วเครื่องบินถึงกับงง จำต้องค้นข้อมูลเพิ่มเติมว่าสรุปแล้วเมืองหลวงคาซัคสถานตอนนี้ชื่ออะไรกันแน่ 

เรื่องนี้ต้องย้อนประวัติกันสักหน่อย เดิมที คาซัคสถานมีเมืองหลวงอยู่ที่อัลมาตี ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาในปี 1997 ประธานาธิบดีนูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ ในสมัยนั้นมีดำริอยากมีเมืองหลวงอยู่ใจกลางประเทศอันใหญ่โต จึงย้ายมาอยู่ ณ ทำเลปัจจุบันที่ยุคโซเวียตชื่อว่าเมืองเซลิโนกราด ปีรุ่งขึ้นเปลี่ยนชื่อเป็นอัสตานา รัฐบาลทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากเปลี่ยนแปลงให้เป็นเมืองหลวงที่โอ่อ่า ใครได้ไปเยือนต้องประทับใจในสถาปัตยกรรมอันสวยงาม มีกลิ่นอายของความแข็งแกร่งแบบอาคารยุคโซเวียตผสมผสานกับอัตลักษณ์อาคารแบบชาวทุ่งหญ้าสเตปป์ 

ปี 2562 ประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟที่อยู่ในอำนาจมาสามทศวรรษลาออก ประธานาธิบดีคัสซิม โจมาร์ท โตกาเยฟ เปลี่ยนชื่ออัสตานาเป็นนูร์ซุลตันเพื่อเป็นเกียรติแด่อดีตผู้นำ

จนกระทั่งวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา รัฐสภาคาซัคสถานมีมติเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงกลับมาเป็นอัสตานาอีกครั้ง ส่วนหนึ่งของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมืองซึ่งนำมาสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด ที่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีเหลือเพียงหนึ่งสมัยวาระ 7 ปี ซึ่งนานพอสำหรับสร้างการเปลี่ยนแปลง  

นอกจากชื่อที่เปลี่ยนไปแแล้ว  การเยือนคราวนี้อัสตานายังมีสถาปัตยกรรมสวยงามแห่งใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ นั่นคือมัสยิดใหญ่ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือน ส.ค. เป็นมัสยิดใหญ่สุดแห่งเอเชียกลางและใหญ่ติดอันดับท็อปเท็นของโลก พื้นที่รวม 68,062 ตารางเมตร รองรับประชาชนละหมาดได้พร้อมกัน 2.35 แสนคน มีหออะซานสี่เสา ความสูง 130 เมตร โดมใหญ่ยาว 83.2 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 62 เมตร  การตกแต่งภายในใช้พรมทอมือทำจากขนแกะแท้ใหญ่ที่สุดในโลก โมเสกแก้วทำมือ 25 ล้านชิ้น จารึกพระนามอัลเลาะห์ 99 พระนาม ประตูทางเข้าแกะสลักจากไม้เนื้อแข็งแอฟริกา ถือเป็นประตูไม้สูงที่สุดบานหนึ่งของโลก 

มัสยิดแห่งนี้ไม่เพียงเป็นแหล่งปฏิบัติศาสนกิจ แต่ยังเป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับกิจกรรมอื่นๆ ทั้งศูนย์การเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์หรือสนามเด็กเล่น เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ของชีวิต แต่ที่แน่ๆ สวนกว้างใหญ่นอกมัสยิดกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ชนิดที่ใครมาเยือนต้องไม่พลาด น่าเสียดายที่การไปเยี่ยมชมมัสยิดของคณะสื่อมวลชนนานาชาติเกิดขึ้นท่ามกลางความหนาวเหน็บของอุณหภูมิติดลบเกือบสิบองศาเซลเซียส ระหว่างเดินจากลานจอดรถเข้าอาคารนักข่าวฝรั่งเดินกับแบบสบายๆ แต่นักข่าวไทยผู้คุ้นเคยกับอากาศร้อนตับแตกตลอดปีของกรุงเทพฯ เกือบเอาชีวิตไม่รอดกับความหนาว จึงได้ปรายตาชื่นชมกับความงามยามค่ำนอกมัสยิดเพียงน้อยนิด ได้แต่สัญญากับตัวเองว่าจะหาทางกลับไปมัสยิดใหญ่แห่งอัสตานาอีกครั้งในฤดูอื่น  เชื่อแน่ว่าในอนาคตอัสตานาจะมีสิ่งแปลกใหม่ไว้คอยต้อนรับผู้มาเยือนให้ตราตรึงใจอยากกลับไปซ้ำๆ ไม่รู้เบื่อ และกระบวนการปฏิรูปการเมืองของคาซัคสถานน่าจะผลิดอกออกผลให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเวลาผ่านพ้นไป