ย้อนรอย‘การเมือง’ทะลุสนาม‘เวิลด์คัพ’

ย้อนรอย‘การเมือง’ทะลุสนาม‘เวิลด์คัพ’

การเมืองกับฟุตบอลหลายครั้งที่หนีกันไม่พ้น วันอังคาร (29 พ.ย.) นี้อิหร่านเตรียมดวลแข้งกับคู่อริอย่างสหรัฐในเกมเวิลด์คัพที่กาตาร์ สำนักข่าวเอเอฟพีชวนย้อนรอยความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ลามเข้าสู่สนามฟุตบอลโลกในอดีต

1938: เสื้อดำมุสโสลินี ฝรั่งเศส-อิตาลี

เพียงหนึ่งปีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุ แชมป์เก่าอิตาลีต้องเดินทางมาป้องกันแชมป์ในฝรั่งเศส ขณะที่การเมืองกลายเป็นแกนกลางของแมตช์นี้

อิตาลีในสมัยนั้นอยู่ภายใต้ผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์ “เบนิโต มุสโสลินี” เมื่อทีมมาถึงสนามใกล้กรุงปารีสก็โดนโห่ทันที แต่พวกเขาก็แสดงความเคารพต่อหน้าฝูงชนแบบฟาสซิสต์โดยไม่มีใครขัดขวาง และแข่งโดยสวมเสือสีดำ แบบเดียวกับเครื่องแบบกองกำลัง “เสื้อดำ” ของมุสโสลินี อิตาลีชนะฝรั่งเศสเจ้าภาพ 3-1 ลอยลำเข้ารอบจนรักษาแชมป์เอาไว้ได้อีกสมัย

1974: สงครามเย็นระอุ เยอรมนีตะวันออก-ตะวันตก

ฟุตบอลโลกนัดนี้เป็นเกมระดับนานาชาติเกมเดียวระหว่างเยอรมนีตะวันออกและตะวันตกในช่วงที่เยอรมนีถูกแบ่งแยกเป็นสองประเทศระหว่างปี 1949-1990

แมตช์ที่ได้ชื่อว่า “การต่อสู้เพื่อพี่น้อง” ในช่วงสูงสุดของสงครามเย็น ตึงเครียดถึงขนาดไม่มีการแลกเสื้อกันตามธรรมเนียมหลังจบเกม และด้วยความหวั่นเกรงผู้ก่อการร้ายจะก่อเหตุ การแข่งขันนี้นัดนี้ถูกจัดให้มีความเสี่ยงสูง ต้องวางกำลังเจ้าหน้าที่ติดอาวุธมาคอยประจำการอยู่รอบสนาม

เยอรมนีตะวันออกซึ่งแข่งฟุตบอลโลกครั้งแรก คว้าชัยชนะไปอย่างน่าประทับใจ 1-0 แต่ไม่นานทุกสิ่งทุกอย่างก็เข้ารูปเข้ารอย เยอรมนีตะวันตกคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก

1986: โมเมนต์ของมาราโดนา  อังกฤษ-อาร์เจนตินา 

ศึกศักดิ์ศรีครั้งนี้เกิดขึ้นในเม็กซิโก สี่ปีหลังอาร์เจนตินาพ่ายอังกฤษในสงครามฟอล์คแลนด์  แฟนบอลร่าเริงสุดๆ เมื่ออาร์เจนตินาแก้แค้นเชิงสัญลักษณ์ได้สำเร็จในรอบก่อนรองชนะเลิศด้วยสกอร์ 2-1 ดิเอโก มาราโดนา ฟาดไปสองลูก ลูกแรกคือ “หัตถ์พระเจ้า” อันโด่งดัง จากนั้นบุกเดี่ยวเข้าไปยิงอีกหนึ่งลูก ถือเป็นประตูแห่งศตวรรษประกาศชัยชนะแห่งอาร์เจนตินา

“มันคือนัดชิงชนะเลิศสำหรับเรา ไม่ใช่แค่เอาชนะในเกม แต่มันคือการกำจัดอังกฤษ” มาราโดนากล่าว

 

1998: ดอกไม้ให้คุณ อิหร่าน-สหรัฐ

 การดวลแข้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่านในฟุตบอลโลกปี 1998 ได้ชื่อว่ามีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมากที่สุดแมตช์หนึ่งในประวัติศาสตร์เพราะตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในปี 1979 อิหร่านกับสหรัฐก็เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอด แต่แมตช์นี้เริ่มต้นด้วยท่าทีปรองดองจากผู้เล่นอิหร่านมอบช่อกุหลาบขาวให้คู่แข่งจากสหรัฐ สัมพันธภาพอันดีนี้มาจากแนวคิดจากทีมอิหร่านที่ว่า “สันติภาพไม่ใช่สงคราม”

อย่างไรก็ตามความปรารถนาดีนี้อยู่ได้ไม่นานอิหร่านก็ช็อกแฟนบอลอเมริกัน ด้วยการเอาชนะไป 2-1 เขี่ยสหรัฐตกรอบเวิลด์คัพ

 

2018: ดินแดนอินทรี สวิตเซอร์แลนด์-เซอร์เบีย

การแข่งขันนัดนี้ถูกวิจารณ์อย่างมากในเซอร์เบีย หลังสองนักเตะชาวสวิสผู้ถือกำเนิดในแอลเบเนีย เฉลิมฉลองที่ยิงประตูได้ด้วยการใช้สองมือทำท่านกอินทรีเหมือนกับนกอินทรีดำบนธงแอลเบเนีย ที่เซอร์เบียมองว่า เป็นการกระทำยั่วยุของนักชาตินิยม

สัญลักษณ์อินทรีคู่ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความท้าทายในคอซอวอที่ประกาศเอกราชในปี 2008 แต่เซอร์เบียไม่ยอมรับ

กรานิต ชากา ผู้ถือกำเนิดในคอซอวอทำท่านี้ตอนยิงลูกแรกให้สวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาแชร์ดัน ชาชิรีทำท่าเดียวกันตอนยิงลูกสุดท้ายคว้าชัยไปด้วยสกอร์ 2-1 ทั้งคู่โดนโทษปรับจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) แต่รอดโทษแบน