รมต.เอเปคขานรับ “เป้าหมายกรุงเทพฯ” มาถูกช่วงเวลาแล้ว

รมต.เอเปคขานรับ “เป้าหมายกรุงเทพฯ” มาถูกช่วงเวลาแล้ว

ร่างเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ (Bangkok Goals ) ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG นำเสนอโดยรัฐบาลไทย ในฐานะเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค 2022 ได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐมนตรีทุกเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค ระบุเป็นวาระที่เหมาะสมอย่างที่สุดกับช่วงเวลานี้

ในการประชุมรัฐมนตรีเอเปคแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 33 วันนี้ (17 พ.ย.) ซึ่งมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมกับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ช่วงเช้าประเด็นหารือเป็นเรื่องของการเติบโตอย่าง สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน บรรดารัฐมนตรีของทุกเขตเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิกเอเปค ต่างขานรับ และให้การสนับสนุนร่างเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ(Bangkok Goals) ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy : BCG ) ที่ไทยในฐานะเจ้าภาพจัดประชุม ได้นำเสนอ

นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกันแถลงสรุปการประชุมของ AMM ในช่วงเช้าว่า  รัฐมนตรีของทุกเขตเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิกเอเปค ต่างเห็นชอบกับร่างเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นแนวคิดว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเป็นมิตรต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมโลก ( โดย Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG นั้นหมายถึงโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว)

ทุกเขตเศรษฐกิจมองว่า BCG เป็นประเด็นที่เหมาะสมจะขับเคลื่อนในช่วงเวลานี้ที่สุดแล้ว มีหัวใจสำคัญของร่างเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ คือ 4 เป้าหมายที่ประกอบด้วย

การจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์การค้า และการลงทุนที่ยั่งยืนการบริหารจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพการลดและบริหารจัดการของเสีย

“ที่ประชุมใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และร่างเป้าหมายกรุงเทพฯ รัฐมนตรีเอเปคทุกท่านต่างชื่นชม และเห็นชอบ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะยื่นเสนอให้ที่ประชุมระดับผู้นำให้การเห็นชอบเป็นลำดับต่อไปในวันเสาร์ (19 พ.ย.)” อธิบดี เชิดชาย กล่าว และระบุว่า การขับเคลื่อนเรื่องนี้ (เศรษฐกิจ BCG) ต่อไปในอนาคตไม่ใช่เรื่องง่าย และนี่ก็เป็นเพียงการเริ่มต้นก้าวแรก ยังจะต้องไปต่ออีกยาวไกล

ส่วนภาคบ่ายจะเป็นการหารือว่าด้วยเรื่องการค้า และการลงทุนที่เปิดกว้างและยั่งยืน ซึ่งจะมีการพูดถึงเรื่องการขับเคลื่อนการค้า โดยเฉพาะประเด็นการค้าเสรี (FTA) ของเอเปค หรือ FTAAP ซึ่งหากเกิดขึ้นได้ก็จะเป็นความร่วมมือพหุภาคีที่สำคัญของโลก ซึ่งมูลค่า GDP รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 61% ของทั้งโลก และมูลค่าการค้าระหว่างกัน มีสัดส่วน 48% ของการค้าโลก

สำหรับร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Leaders‘ Declaration) และร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีเอเปคนั้น (APEC Ministers’ Statement) ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปค กำลังอยู่ในขั้นของการหาฉันทามติกันอยู่ โดยไล่กันไปทีละข้อจากสิ่งที่การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสได้สรุปมาเรียบร้อยแล้ว และนำเสนอขึ้นมา จะเห็นว่าได้ใช้เวลาหารือกันยาวนาน เพราะเป็นร่างเอกสารที่มีเนื้อหาและรายละเอียดถึง 20 ย่อหน้า และ 49 ย่อหน้า ตามลำดับ

อธิบดี เชิดชาย กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะให้ทุกคนเห็นไปในทิศทางเดียวกัน การตีความถ้อยคำในเนื้อหาร่างเอกสารเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยกตัวอย่างประเด็นยูเครน ภาษาที่ใช้ต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง แต่ก็หวังว่าจะได้ฉันทามติในร่างเอกสารเหล่านี้ในที่สุด

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์