สัปดาห์แห่ง ‘เอเปค’ และการกลับมาของ ‘โควิด’

สัปดาห์แห่ง ‘เอเปค’ และการกลับมาของ ‘โควิด’

16-18 พ.ย. 2565 เป็นการประชุมที่มีความสำคัญระดับโลก มีผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เข้าร่วมประชุม ขณะที่สถานการณ์โรคระบาด “โควิด” ก็ยังไม่จางหายไปเสียทีเดียว โลกและประเทศไทยยังต้องเจอความท้าทายอีกมากมายหลายเรื่อง

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ของงานใหญ่ประเทศ ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก APEC 2022 (Asia-Pacific Economic Cooperation) ระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย. 2565 เป็นการประชุมที่มีความสำคัญระดับโลก มีผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เข้าร่วมประชุม เขตเศรษฐกิจเอเปค มีประชากรรวมกันเกือบ 3,000 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก มีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก

คาดการณ์ว่าผลเจรจา หรือข้อตกลงในเวทีนี้ จะส่งผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ยังไม่นับรวมการประชุมที่เกี่ยวเนื่องและคู่ขนานอีกจำนวนมากที่จัดขึ้นในประเทศไทยช่วงก่อนหน้านี้ และดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยควรใช้เวทีนี้ โชว์ศักยภาพ และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และในเขตการค้าฯ อย่างน้อยผลของการประชุม ควรมีส่วนช่วยสนับสนุนตลาดการค้าการส่งออกของไทยให้เตะตาต้องใจชาวโลก

เวลานี้นับเป็นห้วงเวลาสำคัญ ที่ทุกประเทศเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางระบบเศรษฐกิจการค้าที่ยังเจ็บหนักจากพิษโรคระบาด เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) บอกว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มซบเซามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ มาจากการที่ธนาคารทั่วโลกใช้นโยบายคุมเข้มการเงิน เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเป็นวงกว้าง เศรษฐกิจจีนชะลอ ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ความไม่มั่นคงด้านอาหารจากศึกสงครามรัสเซียยูเครน เดือนต.ค. ที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟ ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจโลกปี 2566 ลงสู่ระดับ 2.7% จากเดิมที่ระดับ 2.9%

ขณะที่สถานการณ์โรคระบาด “โควิด” ก็ยังไม่จางหายไปเสียทีเดียว รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีจำนวนคนติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังจับตามอง “โควิด-19” สายพันธุ์ “เดลทาครอน XBC” ซึ่งกำลังจะเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาด เป็นลูกผสมระหว่าง “เดลตา” และ “โอมิครอน BA.2” ตอนนี้ระบาดในฟิลิปปินส์มากกว่า 193 ราย กลายพันธุ์ได้และแพร่เร็วเหมือนโอมิครอน ดังนั้น โควิด ก็ยังประมาทไม่ได้เลย

โลกและประเทศไทยยังต้องเจอความท้าทายอีกมากมายหลายเรื่อง หากไม่มีแผนการบริหารจัดการที่ดี ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศในภาพรวม การบริหารเศรษฐกิจในยุคนี้ มีความท้าทายมากกว่ายุคก่อนๆ เพราะปัญหาและสิ่งที่นโยบายต้องให้ความสำคัญมีมากและหลายมิติ เศรษฐกิจโลกปีนี้ ก็ไม่มีความไม่แน่นอน ปัญหาเงินเฟ้อและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น และปัญหาอื่นๆ ล้วนเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทย จึงต้องตั้งรับและวางแผนให้ดี