ความสัมพันธ์บนทางสองแพร่ง ‘รัสเซีย - อาเซียน’

ความสัมพันธ์บนทางสองแพร่ง ‘รัสเซีย - อาเซียน’

อีกไม่กี่วันจะมีการประชุมผู้นำโลกสามรายการเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดูเหมือนว่าประเทศแถบนี้จะยังรักษาสัมพันธ์กับรัสเซียไว้ ทั้งๆ ที่ นานาชาตินำโดยสหรัฐพยายามโดดเดี่ยวรัฐบาลมอสโกที่รุกรานยูเครน

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงาน ความขัดแย้งในยูเครน และผลร้ายที่ตามมาทั้งราคาพลังงาน และอาหารพุ่งสูง ซัพพลายเชนปั่นป่วน ดูเหมือนจะเป็นประเด็นพูดคุยสำคัญในการประชุมผู้นำอาเซียนที่กรุงพนมเปญ ผู้นำG20 ที่บาหลี และผู้นำเอเปคที่กรุงเทพฯ

เริ่มต้นจากเวทีอาเซียนที่ส่วนใหญ่ไม่พูดอะไรกรณียูเครน ยกเว้นสิงคโปร์ที่คว่ำบาตรรัสเซียประธานาธิบดีโวโลดิมีร์  เซเลนสกี  ขอส่งคลิปวิดีโอสุนทรพจน์มาแสดงในเวทีอาเซียน และได้รับเชิญให้ไปร่วมประชุมG20 ที่บาหลีหลังจากนั้นด้วยตนเอง เมื่ออินโดนีเซีย เจ้าภาพG20 พยายามแสดงบทบาทสร้างสันติภาพ เชิญประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูตินของรัสเซีย และเซเลนสกีมาร่วมงาน แต่ทั้งคู่ยังไม่ยืนยันการเข้าร่วม

ในการประชุมอาเซียน ยูเครนจะลงนาม “สนธิสัญญามิตรภาพ และความร่วมมือ” ขั้นตอนแรกสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ระดับปกติ แม้มีท่าทีเหล่านี้นักวิเคราะห์มองว่า ชาติอาเซียนยังใช้นโยบายไม่เลือกข้างอย่างที่ใช้มานานต่อไป

“ดิฉันคิดว่าอาเซียนจะร่วมมือกับรัสเซียตามปกติต่อไป สมาชิกหลายรัฐแยกแยะปัญหาเหล่านี้ได้ดี” โจแอน หลิน จากสถาบันยูโซฟ อิชัก ของสิงคโปร์ ให้ความเห็นกับเอเอฟพี

ส่วนปูตินเคยส่งสัญญาณหันเข้าหาเอเชียเมื่อเดือนก.ย.หลังถูกตะวันตกคว่ำบาตรหลายระลอก โดยยกย่องว่า อาเซียน “เปิดโอกาสใหม่มหาศาล”

นักวิเคราะห์ กล่าวว่า รัสเซียหวังใช้โอกาสประเทศอาเซียนมีปัญหาราคาน้ำมันพุ่งด้วยการเสนอน้ำมัน และก๊าซ พร้อมๆ กับผนึกความสัมพันธ์กับพันธมิตรเก่าแก่อย่างเมียนมา และเวียดนามให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ขณะที่ยุโรปพยายามลดพึ่งพาพลังงานรัสเซีย มอสโกจำต้องหาตลาดใหม่พร้อมเสนอส่วนลดมหาศาล

เปอร์ตามินา รัฐวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซกำลังเจรจาซื้อน้ำมันดิบ ขณะที่เมียนมา และลาวก็หวังใช้รัฐบาลมอสโกเป็นที่พึ่งบรรเทาการขาดแคลนพลังงานด้วย

“รัสเซียจะพยายามฉายภาพตนเองเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ และการเมืองที่เป็นกลาง เคารพหน่วยงานอาเซียน และเป็นอิสระ” ฟิลิปป์ อิวานอฟ ประธานบริหารเอเชียโซไซตีออสเตรเลีย กล่าว

งดออกเสียงยูเอ็น

ในปีที่ผ่านมา ทำเนียบเครมลินติดต่อกับพันธมิตรเก่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามและเมียนมาที่ทหารปกครอง ลูกค้าอาวุธรัสเซียรายใหญ่นำมาต่อสู้กับกองกำลังสนับสนุนประชาธิปไตย

เดือนก่อนปูตินต้อนรับมิน อ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ในฐานะแขกเกียรติยศ ณ เวทีประชุมเศรษฐกิจที่วลาดิวอสต็อก มีการทาบทามประเทศไทยด้วย ให้รัฐมนตรีต่างประเทศไปเยือนมอสโกเมื่อเดือนที่ผ่านมาเพื่อหารือเรื่องการค้า

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย และหาทางฟื้นตัวหลังโควิด กำลังมองไปที่รัสเซียที่ถูกคว่ำบาตรทำให้ชาวรัสเซียเดินทางไปยุโรปลำบาก

เดือนต.ค. สายการบินแอโรฟลอตกลับมาเปิดเที่ยวบินตรงสู่ภูเก็ตอีกครั้งหลังระงับไปนานกว่าหกเดือนเพราะการรุกรานยูเครน

 ไทยกับเวียดนาม และลาวพันธมิตรเก่าของมอสโกอีกรายหนึ่ง ร่วมกับจีน และอินเดียงดออกเสียงประณามการผนวกดินแดนยูเครนบางส่วนของรัสเซียในการลงมติของสมัชชาสหประชาชาติ

ด้วยการชักจูงของมอสโก ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐหรือกระตุ้นให้สหรัฐโกรธ

ก่อนหน้านี้มาเลเซียจำเป็นต้องรีบปฏิเสธหลังทูตในกรุงมอสโกพูดในทำนองที่ว่า มาเลเซียยินดีขายเซมิคอนดักเตอร์ให้รัสเซีย ซึ่งคำขู่คว่ำบาตรของสหรัฐคว่ำข้อตกลงซื้ออาวุธสองฉบับในภูมิภาค

เดือนก.ค. ฟิลิปปินส์ยกเลิกข้อตกลงซื้อเฮลิคอปเตอร์ Mi-17 ของรัสเซียจำนวน 16 ลำ มูลค่า 216 ล้านดอลลาร์ ปีก่อนอินโดนีเซียเผยว่า ยกเลิกข้อตกลงซื้อเครื่องบิน Su-35 จำนวน 11 ลำ

ไม่ได้คบแค่จีน

เมื่อการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกส่งผล มอสโกจำเป็นต้องเพิ่มอุปทานวัตถุดิบ อะไหล่ยานยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และสินค้าอุปโภคบริโภคจำพวกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเสื้อผ้า

รัสเซียผู้จัดหาอาวุธให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายใหญ่สุดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สิ้นหวังในการค้ำจุนอุตสาหกรรมการส่งออกอาวุธของตนเองที่ตกอยู่ใต้แรงกดดันอย่างหนัก

รายงานจากสถาบันยูโซฟ อิชัก ระบุ “บริษัทอาวุธรัสเซียยินดียอมรับการชำระหนี้บางส่วนด้วยสินค้าโภคภัณฑ์ และทำการผลิตร่วมกัน”

และขณะที่จีนมีท่าทีอบอุ่นขึ้น เรียกร้องสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ไม่วิจารณ์รัสเซียที่รุกรานยูเครน รัฐบาลมอสโกถูกมองว่า ระวังที่จะพึ่งพาปักกิ่งมากเกินไป

อิวานอฟ จากเอเชียโซไซตีกล่าวว่า การหันมาหาเอเชีย “ไม่ใช่ทางเลือกนโยบายอีกต่อไป แต่เป็นความจำเป็น” สำหรับรัสเซีย และสัมพันธ์อันหลากหลายจะช่วยรัสเซียไม่ให้ “กลายเป็นรัฐบริวารของจีน”

“รัสเซียมีงานให้ทำอีกมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มความข้องเกี่ยวด้านเศรษฐกิจ และการทูต และเราจะได้เห็นรัสเซียเข้ามาในภูมิภาคนี้มากขึ้น”

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์