"ลอยกระทง 2565" ทำความรู้จักลอยกระทงในจีน และการรับรู้ "ลอยกระทงไทย" ในกลุ่มคนจีน

"ลอยกระทง 2565" ทำความรู้จักลอยกระทงในจีน และการรับรู้ "ลอยกระทงไทย" ในกลุ่มคนจีน

"ลอยกระทง 2565" เป็นเทศกาลสำคัญของคนไทย แต่รู้หรือไม่ว่า "ลอยกระทง" ไม่ใช่มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่พบว่า ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ประเทศแถบตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีเทศกาลลอยกระทงเช่นกัน

"ลอยกระทง 2565" ถือเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนาน จัดขึ้นเพื่อขอขมาและบูชาเทพเจ้าแห่งสายน้ำ และไม่ใช่มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังพบที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ประเทศแถบตะวันออกเฉียงใต้ ก็ปรากฎเทศกาลลอยกระทงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น พม่า กัมพูชา เนื่องจากมีรากความเชื่อที่ใกล้เคียงกัน อย่างการนับถือสิ่งลี้ลับและธรรมชาติ 

เมื่อเขยิบออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปยังประเทศจีน ที่อยู่ไม่ไกลจากไทยและย่านนี้มากนัก พบว่า มีเทศกาลที่เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับวันลอยกระทงของไทย เรียกว่า เทศกาลเซี่ยหยวน (下元节) โดยตรงกับวันที่ 15 เดือน 10 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินไทย โดยเป็นเทศกาลที่มีมาตั้งแต่สมัยจีนโบราณ ตามความเชื่อลัทธิเต๋า ที่ยังส่งผลมาถึงความเชื่อของคนจีนยุคปัจจุบัน แม้จะไม่ได้รับความนิยมเท่ากับเทศกาลอื่นๆ เช่น สารทจีน แต่ก็ยังมีคนที่ยังรู้จักเทศกาลนี้ 

โดยตามคติความเชื่อในลัทธิเต๋า เชื่อกันว่า เทศกาลเซี่ยหยวน เป็นวันถือกำเนิดของเทพเจ้าแห่งสายน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเทพเจ้าที่สำคัญในลัทธิเต๋าของจีน หรือเรียกว่าเป็นเทพเจ้าสามพี่น้อง เทพเจ้าแห่งสายน้ำถือเป็นเทพเจ้าองค์เล็กสุด ดังนั้น เทศกาลเซี่ยหยวน จึงเป็นวันที่คนจีนบูชาและขอขมาเทพเจ้าแห่งสายน้ำ ในวันถือกำเนิดของเทพเจ้าองค์นี้นี่เอง สอดคล้องกับความเชื่อลอยกระทงของคนไทย คือบูชาและขอขมาพระแม่คงคา เทพเจ้าแห่งสายน้ำตามความเชื่อของไทย

เทศกาลเซี่ยหยวนในจีน ณ ปัจจุบัน เป็นอย่างไร?

จากประสบการณ์ของ อ้ายจง ที่เคยใช้ชีวิตในจีนหลายปี ได้สอบถามเพื่อนๆ คนรู้จักและค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า ปัจจุบันนี้ "เทศกาลเซี่ยหยวน" ไม่ได้เป็นเทศกาลหลักของคนจีน แต่ยังคงมีคนจีนบางส่วนบางพื้นที่ที่ยังคงให้ความสำคัญและประกอบพิธีกรรมในเทศกาลนี้

สำหรับคนจีนที่ยังให้ความสำคัญ มักจะบูชาและไหว้เทพเจ้าแห่งสายน้ำที่วัดของลัทธิเต๋า หรือศาลเจ้าประจำเมือง อย่างเช่นที่วัดลัทธิเต๋าในมหานครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งพบว่า มีการเผากระดาษเงินกระดาษทอง และนำสิ่งของใส่ลงในถุงสีแดง พร้อมเขียนชื่อของตน (อาจรวมไปถึงชื่อของคนรักและครอบครัว) เพื่อขอพรจากเทพเจ้าด้วย สาเหตุที่เขียนชื่อ เพราะไม่ต้องการให้เทพเจ้าให้พรผิดคน ส่วนสีแดงนั้นเป็นสีสัญลักษณ์แห่งความโชคดีของคนจีน 

นอกจากการประกอบพิธีกรรม บูชาเทพเจ้าในศาลเจ้าหรือวัดของลัทธิเต๋า ในบางพื้นที่ของจีนเรายังสามารถพบเห็นการลอยโคมสู่ท้องฟ้า และลอยประทีปในน้ำ เพื่อลอยสิ่งไม่ดีออกจากชีวิตของผู้ลอย พร้อมกับขอพรจากเทพเจ้า ข้อนี้ก็เหมือนกับความเชื่อของไทยที่ยังคงปฏิบัติกันในยุคปัจจุบัน

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

วันเทศกาลโคมไฟ-บูชาเทพเจ้าแห่งฟ้า และวันสารทจีน-บูชาเทพเจ้าแห่งปฐพี 2 วันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเป็นพี่น้องของเทพเจ้าแห่งสายน้ำ

ในช่วงต้น อ้ายจง ได้เล่าถึง เทพเจ้าสามพี่น้องตามคติความเชื่อลัทธิเต๋าของจีน โดย เทศกาลเซี่ยหยวน เป็นการบูชาเทพเจ้าแห่งสายน้ำ เทพเจ้าองค์เล็กสุด จึงขอเล่ารายละเอียดถึงเทพเจ้าอีกสององค์ซึ่งเกี่ยวข้องกับเทศกาลจีนที่เรายังเห็นได้ในปัจจุบัน

  • 15 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติจีน วันถือกำเนิดเทพเจ้าแห่งฟ้า เทพเจ้าบันดาลพรความมั่งมีศรีสุขตามความเชื่อเต๋า จึงมีเทศกาลบูชาเทพเจ้าแห่งฟ้า เรียกว่าเทศกาลซ่างหยวน (上元节) หรือที่รู้จักในชื่อ 元宵节 เทศกาลโคมไฟ เทศกาลที่เป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน (ปีใหม่ของจีน) บางพื้นที่จะมีการลอยโคมสู่ฟ้า
  • 15 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติจีน วันถือกำเนิดเทพเจ้าแห่งปฐพี เทพเจ้าแห่งการอภัยโทษและปกปักรักษาโลกมนุษย์ ตามคติความเชื่อของลัทธิเต๋า โดยวันบูชาเทพเจ้าปฐพี เรียกว่า เทศกาลจงหยวน (中元节) อ้ายจงเชื่อว่าคนไทยเราก็รู้จักและหลายคนก็ให้ความสำคัญกับวันนี้ด้วย แต่เรียกในชื่อ เทศกาลสารทจีน วันที่คนจีนและคนเชื้อสายจีนไหว้บรรพบุรุษ สาเหตุที่เทพเจ้าแห่งปฐพีเกี่ยวข้องกับการไหว้บรรพบุรุษ โดยเทพเจ้าแห่งปฐพีจะอภัยโทษ และอนุญาตให้วิญญาณกลับสู่โลกมนุษย์เพื่อรับบุญกุศลเป็นเวลา 1 วัน 

คนจีนรู้จักเทศกาล "ลอยกระทงของไทย" หรือไม่?

อ้ายจง เคยได้รับคำถามจากเพื่อนคนไทย และคิดว่าหลายคนที่กำลังอ่านบทความอยู่ ณ ขณะนี้คงสงสัยกัน คำตอบคือ คนจีนรู้จักเทศกาล ลอยกระทง ของไทย โดยเฉพาะคนที่เคยมาเที่ยว มาเรียน มาใช้ชีวิตในไทย หรือรู้จักคนไทย รวมไปถึงชื่นชอบเรื่องราวไทยๆ เช่น ดาราไทย หนังไทย จะต้องเคยได้ยินเกี่ยวกับ "สุ่ยเติงเจี๋ย" (水灯节) คำภาษาจีนที่คนจีนใช้เรียกเทศกาลลอยกระทงของไทย โดย 水 หมายถึง น้ำ ส่วน 灯 แปลเป็นไทยว่า ตะเกียงหรือประทีป รวมกันเลยเป็นประทีปสายน้ำ อันหมายถึง กระทง ที่มีการจุดธูปเทียนปักลงกระทงและลอยในน้ำนั่นเอง

จากการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลบนโลกออนไลน์บน Baidu (เครื่องมือค้นหาข้อมูลออนไลน์ยอดนิยมของจีน) พบว่า ในแต่ละปีคนจีนจะค้นหาข้อมูลคำว่า 水灯节 สูงสุดในวันลอยกระทงของปีนั้นๆ โดยปีที่มีการค้นหาสูงสุดคือปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่คนจีนมาเที่ยวไทยจำนวนมาก โดยค้นหาสูงสุดถึงวันละราว 1,200 ครั้ง โดยถ้าพิจารณาจากแนวโน้มของพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลคำนี้ของคนจีน สามารถวิเคราะห์ได้อีกว่า "กระแสความนิยมและการรับรู้วันลอยกระทงของไทยในกลุ่มคนจีน จะเป็นไปตามความนิยมของการมาเที่ยวไทย"  

\"ลอยกระทง 2565\" ทำความรู้จักลอยกระทงในจีน และการรับรู้ \"ลอยกระทงไทย\" ในกลุ่มคนจีน

จากภาพจะเห็นว่า ช่วงปี 2558 – 2561 (ค.ศ.2014-2018) เป็นช่วงที่คนจีน ค้นหาคำว่า 泰国旅游 เที่ยวไทย (สีเขียวในภาพ) มากที่สุด โดยเป็นช่วงเวลาที่ค้นหาคำ 水灯节 เทศกาลลอยกระทง (สีฟ้าในภาพ) มากที่สุด และเมื่อเข้าสู่ช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 คนจีนไม่สามารถมาเที่ยวเมืองไทยได้ ทำให้ช่วงตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2563 (ค.ศ.2020) ถึงปัจจุบัน ปริมาณการค้นหาทั้งเทศกาลลอยกระทงและเที่ยวไทย ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด 

เมื่อพิจารณา Demographic ประชากรศาสตร์ของกลุ่มผู้คนหาข้อมูลคำว่า "เที่ยวไทย" และ "ลอยกระทง" เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน (ค.ศ.2011-2022) โดย TOP5 มณฑลและเขตการปกครองที่เทียบเท่ามณฑลในจีน ที่มีการค้นหาแต่ละคำมากที่สุด ได้แก่

  • เทศกาลลอยกระทง : กว่างตง (กวางตง) เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง หยุนหนาน (ยูนนาน) เจียงซู
  • เที่ยวไทย : กว่างตง (กวางตง) เจียงซู เจ้อเจียง ปักกิ่ง ซื่อชวน (เสฉวน)

3 ใน 5 เป็นพื้นที่เดียวกัน ซึ่งถ้าขยายไปถึง TOP10 จะพบว่า ทุกพื้นที่ข้างต้น อยู่ใน TOP10 ของทั้งคู่ แต่เมื่อดูช่วงอายุและเพศ "มีความแตกต่างกัน" กลุ่มที่ค้นหาคำ ลอยกระทง มากที่สุด ได้แก่ 20-29 ปี ขณะที่ของฝั่ง เที่ยวไทย คือ 30-39 ปี (30-39 ปี คือกลุ่มอันดับสองของ ลอยกระทง และ 20-29 ปี คืออันดับสองของ เที่ยวไทย (เรียกได้ว่า สลับกัน) ขณะที่เพศก็สลับเช่นกัน เพศหญิง ค้นหาคำ เทศกาลลอยกระทง มากที่สุด ขณะที่ฝั่ง เที่ยวไทย เป็นเพศชายมากที่สุด

ทั้งนี้ เมื่อค้นหาข้อมูลในโลกออนไลน์จีน เช่น บน Baidu และโลกสังคมออนไลน์จีนที่คนจีนนิยมใช้เวลาโพสต์ไลฟ์สไตล์และท่องเที่ยว อย่าง "เสี่ยวหงซู – Xiaohongshu" (小红书) ด้วยคำว่า เทศกาลลอยกระทง (水灯节) จะพบข้อมูลทั้งเนื้อหาความรู้และรีวิวการท่องเที่ยวในวัน ลอยกระทง ของไทย แม้แต่เว็บไซต์สำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรีจีน (中国国务院新闻办公 The State Council Information Office of the People's Republic of China) ก็มีการเผยแพร่ข้อมูลวันลอยกระทงของไทย (泰国水灯节) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2553 (ค.ศ.2010) 

\"ลอยกระทง 2565\" ทำความรู้จักลอยกระทงในจีน และการรับรู้ \"ลอยกระทงไทย\" ในกลุ่มคนจีน

ผู้เขียน : ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่