เศรษฐกิจไทยต้องเดินต่อได้ ใน ‘โลกที่ไม่เหมือนเดิม’

เศรษฐกิจไทยต้องเดินต่อได้  ใน ‘โลกที่ไม่เหมือนเดิม’

น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่า จากนี้บทบาทของจีนกับเศรษฐกิจโลกจะไปทิศทางไหน แรงกระเพื่อมใดๆ จากจีน ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยด้วย เป็นหน้าที่ของผู้บริหารนโยบายประเทศ ต้องประเมินและมองให้ทุกมิติ เพื่อให้ทุกความร่วมมือเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุด

วันหยุดยาวที่ผ่านมา ตามสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งในเมือง ต่างจังหวัด ตามห้างสรรพสินค้า คลาคล่ำไปด้วยผู้คนออกมาพักผ่อนหย่อนใจ ทำกิจกรรมต่างๆ กันอย่างคึกคัก กระตุ้นภาพรวมจับจ่ายในระบบเศรษฐกิจไทยได้ไม่น้อย เป็นภาพที่ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าวิกฤติโควิดที่ล็อกดาวน์ประเทศมายาวนานเกือบ 3 ปีจบลงแล้ว ผู้คนออกมาใช้ชีวิต ทำกิจกรรมเหมือนช่วงก่อนโควิดแบบ 100% ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวนต่อไป ผลพวงจากวิกฤติโรคระบาด ซัพพลายเชนที่เป็นคอขวด กลายเป็นบาดแผลฉกรรจ์ต่อระบบเศรษฐกิจโลก เป็นเรื่องใหญ่และยังน่าวิตกกังวล

รวมถึงความเคลื่อนไหวทางด้านการเมืองของประเทศมหาอำนาจอย่าง “จีน” เมื่อ “สี จิ้นผิง” ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 พร้อมประกาศตัวทีมเจ้าหน้าที่ผู้บริหารชุดใหม่ “หลี่ เฉียง” เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครเซี่ยงไฮ้ ได้รับแต่งตั้งเตรียมขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และถูกวางตัวให้ดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของจีน

ภายหลังการประกาศส่งมอบวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 3 “สี จิ้นผิง” แถลงแนะนำสมาชิกของคณะผู้บริหารระดับสูง สะท้อนนัยสำคัญที่บ่งบอกทิศทางจีนภายใต้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สมัยที่ 3 ท่ามกลางความกังวลว่าจีนจะปิดระบบเศรษฐกิจของตัวเองจากเศรษฐกิจโลก ซึ่ง สี จิ้นผิง กล่าวว่า “จีนไม่สามารถพัฒนาได้หากปราศจากโลก และโลกก็ต้องการจีนเช่นกัน” น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่า จากนี้บทบาทของจีนกับเศรษฐกิจโลกจะไปทิศทางไหน และแน่นอนว่า แรงกระเพื่อมใดๆ จากจีน ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยด้วย เป็นหน้าที่ของผู้บริหารนโยบายประเทศ ต้องประเมินและมองให้ทุกมิติ เพื่อให้ทุกความร่วมมือเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุด

เมื่อเดือนที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยแพร่ประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีหน้าที่ 2.7% ต่อปี ลดลงจากประมาณการการขยายตัวในปีนี้ที่ 3.2% ต่อปี ในรายงานฉบับเดียวกัน ไอเอ็มเอฟให้ความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะขยายตัวต่ำกว่า 2% ต่อปีไว้ที่ 25% หรือโอกาส 1 ใน 4 และโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะหดตัวไว้ที่ 10% หรือ 1 ใน 10 หมายความว่าไอเอ็มเอฟประเมินความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะถดถอยรุนแรงไว้สูงพอสมควร

ดังนั้น การเดินนโยบายเศรษฐกิจของไทย ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่เปลี่ยน จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง ไม่ควรมีนโยบายเศรษฐกิจใดที่ตึงเกินไป หรือหย่อนเกินไป ศึกษาผลกระทบของมาตรการกระตุ้นให้ชัดเจน มองให้ขาดถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไม่ควรมีเพียงแค่ส่งออกและท่องเที่ยวอีกแล้ว เราต้องหาเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ให้ได้ เพื่อเพิ่มการต่อรองในเวทีเศรษฐกิจโลกที่กำลังผันผวนและเปลี่ยนแปลง...