จับตา! ใครคือนายกอังกฤษคนต่อไป หลัง 'ลิซ ทรัสส์' ลาออก

จับตา! ใครคือนายกอังกฤษคนต่อไป หลัง 'ลิซ ทรัสส์' ลาออก

การประกาศลาออกของนางลิซ ทรัสส์ จากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแกนนำรัฐบาล ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า แล้วใครจะเป็นนายกฯ คนใหม่ของอังกฤษ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่รุมเร้าเช่นนี้ กระบวนการคัดสรรนายกฯคนใหม่เป็นอย่างไร มาหาคำตอบกัน

ทันทีที่ นางลิซ ทรัสส์ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม และการเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมาทั้งที่เพิ่งดำรงตำแหน่งได้เพียง 44 วัน เธอก็กลายเป็น นายกรัฐมนตรีอังกฤษที่ครองตำแหน่ง “สั้นที่สุด” ในประวัติศาสตร์การเมืองของ ประเทศอังกฤษ และคำถามที่ตามมาคือ ใครจะเข้ามารับตำแหน่งแทนต่อจากนี้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ประวัติศาสตร์จะจารึกว่า เขาคนนั้นจะเป็น นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนแรกในรัชสมัยของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม

ย้อนกลับไปดูบริบทของการลาออก นางทรัสส์ ประกาศลาออกที่หน้าทำเนียบรัฐบาลต่อหน้าผู้สื่อข่าวหลายสิบชีวิตเมื่อวันพฤหัสฯ (20 ต.ค.) โดยระบุว่า เธอเข้ามารับตำแหน่งในภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญกับความไร้เสถียรภาพครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจและการต่างประเทศ

นั่นหมายถึงเธอได้รับเลือกจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟให้เข้ามาเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ ซึ่งภายใต้การบริหารงานช่วงระยะเวลาสั้นๆของเธอ รัฐบาลได้แก้ปัญหาราคาพลังงาน และลดเงินนำส่งประกันสังคม จากนั้น รัฐบาลยังมีแผนจะสร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการเก็บภาษีอัตราต่ำ แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้

ดังนั้น จึงตัดสินใจลาออกหลังจากที่ได้เข้าเฝ้าฯ กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม เพื่อถวายรายงานในเรื่องนี้ การแถลงข่าวลาออกดังกล่าวใช้เวลาเพียง 90 วินาที โดยไม่เปิดให้ผู้สื่อข่าวซักถาม

อย่างไรก็ตาม เธอกล่าวว่าจะดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปจนกว่าทางพรรคจะได้ผู้นำพรรคคนใหม่ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นฝ่ายค้านที่ระบุว่า ควรมีการประกาศยุบสภาเพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ได้แล้ว เพราะพรรคอนุรักษ์นิยมที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนธ.ค.2562 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไร้น้ำยาในการบริหารประเทศ

ทั้งนี้ การลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมของนางทรัสส์ หมายความว่า เธอได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยโดยอัตโนมัติ หลังจากนี้ ทางพรรคจะจัดการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ภายในสัปดาห์หน้า และผู้ชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ก็จะได้เป็น นายกรัฐมนตรีอังกฤษ คนต่อไป

สำนักข่าวบีบีซี สื่อใหญ่ของอังกฤษรายงานว่า หนึ่งในผู้ที่ถูกคาดหวังว่าจะเข้าร่วมสังเวียนชิงตำแหน่งผู้นำคนใหม่ครั้งนี้คือ บอริส จอห์นสัน อดีตหัวหน้าพรรคและอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษนั่นเอง แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ได้รับการยืนยัน เพราะเขากำลังพักผ่อนอยู่ในแถบทะเลแคริบเบียน

คนต่อไปคือ ริชี ซูแนค อดีตรัฐมนตรีคลัง และเป็นผู้ที่เพิ่งพ่ายแพ้ให้กับนางทรัสส์ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคฯแทนนายจอห์นสัน เมื่อครั้งล่าสุด  มีการรายงานว่า เขาพร้อมที่จะเข้าร่วมการชิงตำแหน่งนี้อีกครั้ง แต่ยังไม่ประกาศตัวลงแข่งขันอย่างเป็นทางการ

อีกคนที่มีแนวโน้มว่าอาจจะลงสมัครชิงตำแหน่งผู้นำในครั้งนี้ แม้จะยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการก็คือ เพนนี มอร์เดินท์ ซึ่งได้คะแนนโหวตมากเป็นอันดับสามในการชิงตำแหน่งผู้นำพรรคฯ เมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา

ส่วนคนอื่นๆ ที่ถูกพูดถึง ได้แก่ เบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหม ,เคมี บาเดนอค รัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศ,เจมส์ เคลเวอร์ลี รัฐมนตรีต่างประเทศ และซูเอลลา เบรเวอร์แมน รัฐมนตรีมหาดไทยที่เพิ่งลาออกเมื่อ 19 ต.ค.ที่ผ่านมานี้เอง

ขณะที่เจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีคลัง รีบปฎิเสธ กันตัวเองออกจากการแข่งขันอย่างรวดเร็ว ซึ่งบางคนวิเคราะห์ว่า ท่าทีนี้อาจถือเป็นการสนับสนุนซูแนค ของนายฮันต์ก็เป็นได้
บีบีซีระบุด้วยว่า มีรายงานที่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า อดีตสมาชิกพรรค 2 คนที่เคยลงชิงชัยครั้งก่อน คือไมเคิล โกฟ และทอม ​​ทูเกนด์แฮต ปฏิเสธที่จะลงแข่งขันเลือกตั้งผู้นำพรรคคนใหม่แล้วเช่นกัน