โดรนพิฆาต‘ซาเฮด’เขี้ยวเล็บรัสเซียในศึกยูเครน

โดรนพิฆาต‘ซาเฮด’เขี้ยวเล็บรัสเซียในศึกยูเครน

‘โดรนชาเฮด’ โดรนราคาถูกผลิตในอิหร่าน กลายมาเป็นอาวุธสำคัญชนิดหนึ่งที่รัสเซียใช้ในการทำสงครามรุกรานยูเครน ซึ่งโดรนนี้อาจเป็นตัวแปรกำหนดความได้เปรียบในการรบที่กำลังดำเนินอย่างดุเดือด

‘ชาเฮด’ โดรนทางการทหาร ที่ผลิตในอิหร่าน เป็นโดรนราคาถูก แต่ติดตั้งเทคโนโลยีนำทางเพื่อความแม่นยำ อาวุธชนิดนี้จึงถูกรัสเซีย นำมาใช้ และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘เกอราน-2’ เพื่อการทิ้งตัวทำลายเป้าหมายจากทางอากาศในสงครามที่รัสเซียเริ่มเปิดฉากกับยูเครน

โดรนชาเฮด มีจุดเด่นคือสามารถนำมาใช้ในปริมาณมาก และได้ชื่อว่า “ขีปนาวุธร่อนของคนจน” หมายความว่ามีราคาถูกมาก

โดรนชาเฮดรุ่น 136 ที่รัสเซียนำมาใช้ในการจู่โจมเป้าหมายในยูเครนเมื่อเร็วๆนี้ มีราคาลำละประมาณ 20,000 ดอลลาร์ ซึ่งถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับโดรน TB2 ที่ผลิตในตุรกี ราคาอยู่ที่ระหว่าง 1-5 ล้านดอลลาร์ ขณะที่โดรนทางการทหาร MQ-9 Reaper ของสหรัฐ มีราคาไม่ต่ำกว่า 14 ล้านดอลลาร์

เมื่อเทียบกับขีปนาวุธเต็มรูปเเบบอย่าง ขีปนาวุธร่อน รุ่น คาลิเบอร์ (Kalibr) ของกองทัพรัสเซียที่มีราคา 1 ล้านดอลลาร์ต่อลูก ถือว่าการหันมาใช้โดรนชาเฮด ทำให้รัสเซียสามารถประหยัดต้นทุนการจู่โจมได้มาก ซึ่งก่อนหน้านี้ รัสเซียใช้ ขีปนาวุธร่อนคาลิเบอร์ โจมตียูเครนอย่างกว้างขวางในช่วง 8 เดือนเเรกของสงคราม
 

โดรนชาเฮด ที่ติดระเบิดเพื่อการทิ้งตัวทำลายเป้าหมาย มีความคล้ายคลึงกับการโจมตีแบบ “กามิกาเซ่” ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่2 หรือการพุ่งชนเป้าหมายเพื่อให้เกิดการระเบิดเสียหาย มันจึงถูกเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กามิกาเซ่ โดรน”

สำนักข่าวเอพีรายงานโดยอ้างข้อมูลของสื่อออนไลน์ยูเครนชื่อ“ดีเฟนส์ เอ็กซ์เพรสส์” ที่ระบุว่า ชาเฮด เป็นโดรนรูปสามเหลี่ยม มีความยาว 3.5 เมตร กว้าง 2.5 เมตร น้ำหนักประมาณ 200 กิโลกรัม และโดรนชนิดนี้ติดเครื่องยนต์ 50 แรงม้า มีความเร็วสูงสุด 114 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

การนำ “โดรนพิฆาต” ชนิดนี้มาใช้ในการทำสงครามในยูเครน มีลักษณะน่าสนใจคือ แม้โดรนชาเฮดจะบินได้ไกล 1,000 กิโลเมตร แต่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโดรนอย่าง“แซเมล เบนเด็ตต์” จากองค์กรวิจัยด้านนโยบายซีเอ็นเอ บอกว่า ระยะบินของโดรนในสงครามยูเครนสั้นกว่านั้น

พร้อมอธิบายว่า สาเหตุที่โดรนบินในระยะใกล้กว่าศักยภาพจริง เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการถูกใช้คลื่นก่อกวนระบบนำทางจีพีเอส
 

รัสเซียใช้โดรนชนิดนี้หลายลำระดมโจมตียูเครน เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงถูกโต้กลับรุนเเรงต่อเครื่องบินรบล้ำสมัย และลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตนักบินด้วย วิธีการนี้ ทำให้รัสเซียสามารถเก็บขีปนาวุธพิสัยไกลความเเม่นยำสูงที่มีอยู่อย่างจำกัด ไว้ใช้เมื่อถึงเวลาจำเป็น

อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดหรือจุดด้อยในการใช้โดรนชาเฮด เกี่ยวกับเรื่องนี้“มิโคลา เบไลสคอฟ” นักวิจัยแห่งสถาบันยุทธศาสตร์ศึกษาของยูเครน เปิดเผยว่า ระเบิดที่จะนำขึ้นไปติดตั้งกับโดรน จะมีน้ำหนักสูงสุดได้เพียง 40 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งปริมาณดังกล่าวถือว่าน้อยมากหากเทียบกับขีปนาวุธแบบปกติ ที่บินได้ไกลกว่ามากและสามารถติดระเบิดได้หนักถึง 480 กิโลกรัม

แต่โดรนชาเฮดยังคงสามารถสร้างความเสียหายที่รุนเเรงและส่งผลต่อขวัญกำลังใจของทหารยูเครนได้ โดยในการโจมตีเมื่อวันจันทร์ (17 ต.ค.) โดรนลำหนึ่งทิ้งตัวลงใส่อาคารที่พักอาศัยและทำลายห้องพัก 3 ห้อง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน

เบไลสคอฟ กล่าวว่า การโจมตีด้วยโดรนชาเฮด สร้างความหวั่นเกรงและความไม่มั่นใจในศักยภาพของระบบป้องกันทางอากาศของยูเครน

"แม้รัสเซียจะใช้โดรนชนิดนี้จำนวนมาก แต่สิ่งที่รัสเซียไม่ได้กลับคืนมา คือดินแดนบางส่วนที่ยูเครนสามารถรุกคืบเข้าไปยึดคืนมาได้ในช่วงที่ผ่านมา"  เบไลสคอฟ กล่าว

อย่างไรก็ตาม “อามีร์ ซาอิด อิราวานี” เอกอัครราชทูตของอิหร่านประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ปฏิเสธข้อกล่าวหาจากชาติตะวันตกว่า อิหร่านจัดหาโดรนให้กับรัสเซียเพื่อใช้ในสงครามยูเครน

อิราวานี กล่าวว่า “อิหร่านมีจุดยืนที่ชัดเจนและมั่นคงต่อสถานการณ์ในยูเครนตามที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้น โดยอิหร่านสนับสนุนสันติภาพและการยุติความขัดแย้งในยูเครนทันที”

อิราวานี เสริมว่า ข้อกล่าวหาว่าอิหร่านส่งโดรนให้รัสเซียไม่มีหลักฐานและเลื่อนลอย พร้อมระบุว่า ชาติตะวันตกกำลังบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับอิหร่าน และยังกล่าวด้วยว่า การกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐานนั้นเป็นสิ่งที่น่าผิดหวัง

คำกล่าวของอิราวานีมีขึ้นหลังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ได้จัดการประชุมแบบปิดซึ่งสหรัฐ, อังกฤษ และฝรั่งเศสได้หยิบยกประเด็นที่ว่าอิหร่านส่งอาวุธให้กับรัสเซีย

ทั้ง 3 ประเทศข้างต้น ซึ่งเป็นสมาชิกของข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2558 ระบุว่า การที่อิหร่านส่งโดรนให้รัสเซียเป็นการละเมิดมติของยูเอ็นเอสซีที่เรียกกันว่ามติ 2231 ซึ่งห้ามส่ง “สิ่งของ วัสดุ อุปกรณ์ สินค้า และเทคโนโลยีทุกอย่าง” จากอิหร่านไปยังประเทศอื่น เว้นแต่จะได้รับอนุมัติล่วงหน้าจากยูเอ็นเอสซีเป็นรายกรณี