ส.ส.กบฎทำแผน‘ปาปาดัม’!โค่นอำนาจ‘ลิซ ทรัสส์’นายกฯหญิงอังกฤษ

ส.ส.กบฎทำแผน‘ปาปาดัม’!โค่นอำนาจ‘ลิซ ทรัสส์’นายกฯหญิงอังกฤษ

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษของ ‘ลิซ ทรัสส์’ กำลังสั่นคลอนอย่างหนัก หลังมีรายงานว่า ส.ส.กบฎในพรรคอนุรักษ์นิยม แอบซ่องสุมวางแผนโค่นเธอ หลังแผนกระตุ้นเศรษฐกิจถูกกระแสตีกลับทำให้ต้องปลด รมต.คลัง เซ่นความล้มเหลวในการบริหารประเทศ 40 วัน

สื่ออังกฤษพากันตั้งฉายาแผนโค่นนายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ ของอังกฤษว่า ‘แผนปาปาดัม’ (Poppadom) ที่หมายถึง ‘ข้าวเกรียบอินเดีย’ ซึ่งเป็นอาหารที่ถูกส่งพร้อมกับแกงไปที่ ‘พอร์ต คัลลิส เฮาส์’ (Portcullis House) หรืออาคารสำนักงานของที่อยู่ไม่ไกลจากหอนาฬิกาบิ๊กเบน (Big Ben) ที่พวก ส.ส.กบฎในพรรคอนุรักษ์นิยมหรือทอรี่ จำนวน 20 คน ในจำนวนนี้บางคนเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลทรัสส์ แต่สนับสนุนริชชี ซูนัค อดีตรัฐมนตรีคลัง ที่ หารือกันอย่างคร่ำเคร่งถึงยุทธวิธีที่จะเอาทรัสส์ออกจากตำแหน่ง ในขณะที่พรรคทอรีมีกฎห้ามท้าทายนายกรัฐมนตรีในระยะเวลาอย่างน้อย 12 เดือน

การรวมตัวของ ส.ส.กบฎ เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์(10ต.ค.) เวลา 21.00 น. ซึ่งแหล่งข่าวคนหนึ่งในพรรคฯบอกว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ใช่แค่เพื่อความอยู่รอดของรัฐบาลแต่เพื่อความอยู่รอดของพรรคด้วย ผู้คนกำลังทนทุกข์อยู่ในโลกแห่งความเจ็บปวดที่แท้จริงจาก ‘การไร้ความสามารถ’ อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน หลายคนไม่สามารถเอาบ้านเข้าจำนองเพื่อขอสินเชื่อใหม่ได้ และนี่คือหน้าที่ของพวกเราที่จะต้องหยุดยั้งวิกฤตนี้ และกอบกู้ระดับความสามารถขั้นพื้นฐานขึ้นมาใหม่ ส่วนอีกคนบอกว่า“เรากำลังดิ่งลง แต่ยังพอมีโอกาสที่จะกอบกู้บางสิ่งบางอย่างจากซากปรักหักพัง ถ้าขืนปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปแบบนี้ จะต้องใช้เวลานานนับ 10 ปี ในการสร้างขึ้นใหม่ ซึ่งเรายอมไม่ได้”

การเคลื่อนไหวของ ส.ส.กบฎเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การที่นางทรัสส์ตัดสินใจปลด “ควาซี ควาร์เทง” รัฐมนตรีคลังคู่บุญ ที่สนิทสนมกันมานานนับสิบปี และยอมให้ถูกประณามว่า ‘ทรยศเพื่อน’ ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ของเธอดีขึ้น

 ขณะที่ควาร์เทงที่เพิ่งอยู่ในตำแหน่งได้ 38 วัน ต้องกลายเป็น ‘แพะรับบาป’ จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ-ลดภาษี ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “งบประมาณแผ่นดินฉบับย่อ” (mini-budget) มูลค่า 45,000 ล้านปอนด์ เพราะเป็นแนวคิดของเขากับนางทรัสส์ และถูกมองว่าไม่มีรายละเอียดว่าจะนำเงินมาจากไหน ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ผันผวน อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านพุ่ง ราคาพันธบัตรรัฐบาลทรุดหนัก จนธนาคารกลางต้องทำในสิ่งที่ธนาคารกลางประเทศอื่นไม่ทำนั่นคือการเข้าไปแทรกแซง

ตำแหน่งของนางทรัสส์ถูกมองว่ากำลังสั่นคลอนอย่างหนัก ทั้งที่เพิ่งผ่านมาได้ไม่ถึง 40 วัน เช่นเดียวกับควาร์เทงที่กลายเป็นรัฐมนตรีคลังที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุด เป็นอันดับ 2 รองจากเอียน แม็กลอยด์ ที่เสียชีวิตเพราะหัวใจวายหลังอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 30 วัน เมื่อปี 2513