ยอดผู้เสียชีวิตเหตุเหยียบกันตายในสนามฟุตบอลอินโดนีเซียขั้นต่ำ 125 ราย

ยอดผู้เสียชีวิตเหตุเหยียบกันตายในสนามฟุตบอลอินโดนีเซียขั้นต่ำ 125 ราย

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า เอมิล ดาร์ดัก รองผู้ว่าราชการจังหวัดชวาตะวันออก อินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุเหยียบกันตายในสนามฟุตบอลอย่างน้อย 125 คน ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจคาดว่ายอดผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้จะเพิ่มขึ้นอีก

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย กล่าวว่า "ผมเสียใจกับโศกนาฏกรรมครั้งนี้ และหวังว่าจะเป็นโศกนาฏกรรมครั้งสุดท้ายของการแข่งขันฟุตบอลในประเทศ อย่าให้โศกนาฏกรรมด้านมนุษยธรรมแบบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต"

"อุสมาน ฮามิด" กรรมการบริหารขององค์กรสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินโดนีเซีย กล่าวว่า "การสูญเสียชีวิตในครั้งนี้ต้องมีคำตอบ แก๊สน้ำตาควรใช้เพื่อสลายฝูงชนเมื่อเกิดความรุนแรงในวงกว้างและเมื่อวิธีการอื่นใช้ไม่ได้ผลเท่านั้น"

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้สั่งการให้ตำรวจสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และสั่งการให้ตำรวจประเมินมาตรการรักษาความปลอดภัยในการแข่งขันฟุตบอลทั้งหมด พร้อมกับสั่งให้สมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย (พีเอสเอสไอ) ระงับการแข่งขันฟุตบอลทั้งหมดในประเทศ จนกว่าการสืบสวนจะเสร็จสิ้น

หนึ่งในโศกนาฏกรรมในสนามกีฬาครั้งเลวร้ายที่สุดในโลก เกิดขึ้นเมื่อคืนวันเสาร์ (1 ต.ค.) ที่สนามกีฬากันจูรูฮัน (Kanjuruhan) ในเมืองมาลัง จังหวัดชวาตะวันออก หลังจากทีมอารีมา มาลัง (Arema Malang) พ่ายให้กับทีมเปอร์เซบายา สุราบายา (Persebaya Surabaya) จากนั้นแฟนบอลทีมอารีมาที่พ่ายคาบ้านได้ปีนข้ามรั้วเข้าไปในสนามฟุตบอล โดยพยายามวิ่งไล่นักฟุตบอลและเจ้าหน้าที่ของทีมเปอร์เซบายา เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงตัดสินใจยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายฝูงชน จนทำให้ฝูงชนแตกตื่นและแย่งกันออกจากสนามกีฬาจนเหยียบกันตายบริเวณประตูทางออก

 "มาห์ฟัด เอ็มดี" รัฐมนตรีประสานงานด้านการเมือง กฎหมาย และความมั่นคงของอินโดนีเซีย เปิดเผยผ่านบัญชีโซเชียลมีเดียอย่างเป็นทางการว่า ไม่มีการปะทะกันระหว่างแฟนบอลของทั้งสองทีม เพราะแฟนบอลของทีมเปอร์เซบายาไม่ได้เข้าชมการแข่งขันในสนาม

เขาระบุว่า "เหยื่อส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการถูกเหยียบ การขาดอากาศหายใจ และการเบียดเสียด" พร้อมกับเสริมว่ามีการขายตั๋วมากถึง 42,000 ใบ ในขณะที่สนามกีฬาดังกล่าวมีความจุเพียง 38,000 คนเท่านั้น