“เงินปอนด์” มาถึงจุดนี้ ได้อย่างไร? | บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ 

“เงินปอนด์” มาถึงจุดนี้ ได้อย่างไร? | บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ 

เหตุการณ์ฝั่งยุโรปที่ถือเป็นไฮไลต์ในสัปดาห์นี้ คือ ค่าเงินปอนด์กำลังเข้าใกล้จุดที่อ่อนค่าสุดในรอบประวัติศาสตร์ บทความนี้ จะขอตอบว่าสถานการณ์ของอังกฤษได้มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

เมื่อปี 2010 ควาซิ ควาเทง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เคยเขียนหนังสือว่าด้วยสิ่งที่ควรเป็นไปของเศรษฐกิจอังกฤษ ร่วมกับ ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และสมาชิกเจอเรชั่นใหม่ของพรรคอนุรักษ์นิยม โดยเนื้อหาในหนังสือเน้นถึงการปล่อยให้เศรษฐกิจอังกฤษขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาด

ส่วนหน้าที่ของรัฐบาลคือ การลดอัตราภาษีกับทุกภาคส่วน และผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆในทางธุรกิจ พร้อมกับสนับสนุนการวิจัยในเทคโนโลยีที่อังกฤษมีความได้เปรียบ อาทิ Life Science และ ซอฟต์พาวเวอร์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจอังกฤษให้มีอัตราการเติบโตที่สูงสุด

จะได้สามารถจัดเก็บภาษีกับประชาชนและภาคเอกชนให้ได้มากขึ้นแม้อัตราภาษีจะลดลง หรือ ที่เรียกกันในยุค 80 ว่า Reaganomics หรือ Thatcherism ที่ออกมาเป็นแนวทางเศรษฐศาสตร์สไตล์ Supply-side

เมื่อ ลิซ ทรัสส์ ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำอังกฤษ ในเดือนกันยายน 2022 โดยที่ควาเทงมารับหน้าที่เป็นขุนคลัง แนวทาง Thatcherism ก็ถูกนำมาใช้ประยุกต์เป็นแนวคิด Trussonomics โดยตั้งเป้าหมายของอัตราการเติบโตของจีดีพีอังกฤษไว้ที่ร้อยละ 2.5

อย่างไรก็ดี จังหวะนี้ที่ควาเทงเริ่มต้นประกาศนโยบายการผ่อนคลายนโยบายการคลังผ่าน mini-budget หรือมาตรการลดภาษีต่อผู้เสียภาษีและภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงการยกเลิกอัตราสูงสุดของโบนัสของผู้บริหารสถาบันการการเงิน รวมถึงงบประมาณช่วยเหลือด้านบิลค่าไฟฟ้าในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อชาวอังกฤษ โดยงบประมาณทั้งหมดดังกล่าวคิดเป็นประมาณร้อยละ 2 ของจีดีพี

“เงินปอนด์” มาถึงจุดนี้ ได้อย่างไร? | บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ 

ทันทีที่มาตรการดังกล่าวประกาศออกมา ความกังวลว่าเม็ดเงินมหาศาลที่รัฐบาลอังกฤษจะทุ่มใช้จ่ายนี้จะไปซ้ำเติมต่อภาวะอัตราเงินเฟ้อที่ได้ขึ้นมาสูงถึงระดับตัวเลขสองหลัก รวมถึงเศรษฐกิจอังกฤษที่ตอนนี้ทั้งธนาคารอังกฤษและสถาบันวิจัยหลายแห่งต่างยอมรับว่าได้เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปเรียบร้อยแล้ว

ซึ่งจะเห็นได้ว่า ธนาคารกลางอังกฤษจะใช้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นหนทางแก้ไข ซึ่ง แอนดริว ไบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษหรือบีโออี ได้ประกาศ ในวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมาว่าจะขึ้นดอกเบี้ยแบบไม่อั้นสำหรับการประชุมนโยบายการเงินครั้งต่อไป เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้ออังกฤษกลับมาอยู่ในระดับที่เป็นเป้าหมายของบีโออี 

คำถามคือ ทำไมควาเทงไม่รู้เลยเชียวหรือที่ตลาดจะตอบรับในเชิงลบต่อนโยบายของเขาหากประกาศออกไป? แล้วเพราะเหตุใด ควาเทงถึงเชื่อมั่นในแนวทางการผ่อนคลายนโยบายการคลังว่าจะนำพาอังกฤษกลับมารุ่งโรจน์ ในขณะที่ได้รับการคัดค้านในเรื่องนี้จากเกือบทุกฝ่าย?

เริ่มจากคำถามแรก ผมมองว่าควาเทงทราบดีถึงการที่จะตลาดในเชิงลบต่อมาตรการการคลังของเขา ทว่าควาเทงอาจคาดไม่ถึงว่าความรุนแรงของการตอบรับเชิงลบจะมีมากมายถึงขนาดนี้ โดยไม่มีใครคิดว่าค่าเงินปอนด์จะดิ่งลงด้วยขนาดมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4

นับจากเหตุการณ์ Black Wednesday ที่มีการโจมตีค่าเงินปอนด์ ในปี  1992 รวมถึงระดับค่าเงินปอนด์จะมีค่าใกล้เคียงกับ 1 ดอลลาร์เข้าไปทุกที โดยเสียงตอบรับของตลาดถือว่าแตกต่างจากยุคหลังวิกฤตซับไพร์มที่มีการผ่อนคลายนโยบายการคลังแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

“เงินปอนด์” มาถึงจุดนี้ ได้อย่างไร? | บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ 

มาถึงคำถามที่ว่า เพราะเหตุใดควาเทงถึงเชื่อแบบสุดตัว ว่ามาตรการลดภาษีของทั้งในส่วนนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ทางธุรกิจ

รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อสนับสนุนภาระบิลค่าไฟและการสนับสนุนงบประมาณเพื่อก่อสร้างโปรเจคต์ต่างที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน จะสามารถนำพาเศรษฐกิจอังกฤษกลับไปสู่ความรุ่งเรืองได้

คำตอบ คือ ควาเทงมีความเชื่อในแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ของเคนส์ ที่เชื่อว่า In the long run, We are all dead นั่นคือหากเศรษฐกิจยังไม่ได้รับการกระตุ้นให้เกิดแรงผลักต่อเซกเตอร์ต่างๆ จะมีโอกาสยากมากที่ระดับผลิตภาพของเศรษฐกิจอังกฤษจะสูงขึ้นได้

นั่นคือ ถ้ายังขืนปล่อยให้เศรษฐกิจอังกฤษดำเนินไปตามยถากรรม เศรษฐกิจอังกฤษจะพากันตายไปหมด นอกจากนี้ เขายังเชื่อว่าระบบกลไกตลาดเสรีจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้มาตรการผ่อนคลายด้านการคลังเป็นตัวจุดไฟของเศรษฐกิจอังกฤษให้กลับมาเติบโตแบบยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองได้

อย่างไรก็ดี ควาเทงอาจจะไม่ได้ทันมองว่า ณ จังหวะเวลานี้ สภาพของเศรษฐกิจของอังกฤษยังไม่ได้อยู่ในจุดที่เหมาะสมสำหรับการรองรับมาตรการที่กล้าหาญของเขา เนื่องจากมาตรการกระตุ้นทางการคลังย่อมจะนำมาซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

นั่นก็จะทำให้บีโออีต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแบบรุนแรงขึ้นกว่าที่วางแผนไว้ก่อนหน้า จากนั้นภาคครัวเรือนก็ยังจะต้องมาแบกภาระดอกเบี้ยจากหนี้บ้านและหนี้ประเภทอื่นๆแบบหนักขึ้น ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมชาวอังกฤษที่ต้องแบกรับค่าพลังงานที่สูงมากอยู่แล้วในขณะนี้

หากจะมองแบบง่ายๆ คือ แบงก์ชาติตุรกีทำการลดดอกเบี้ย ส่วนรัฐบาลอังกฤษหันมากระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการด้านการคลัง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของทั้งสองประเทศและของทั่วโลกยังสูงอยู่ ซึ่งถือว่าดูแล้วสวนทางกับแนวทางเศรษฐศาสตร์แบบที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันอย่างจังทั้งคู่เลย.