'ท่อส่งก๊าซ'รัสเซียไปยุโรปรั่ว 'วินาศกรรม' หรือ'อุบัติเหตุ'

'ท่อส่งก๊าซ'รัสเซียไปยุโรปรั่ว 'วินาศกรรม' หรือ'อุบัติเหตุ'

'ท่อส่งก๊าซ'รัสเซียไปยุโรปรั่ว 'วินาศกรรม' หรือ'อุบัติเหตุ' โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจัดประชุมในวันศุกร์นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับความเสียหายของท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีมของรัสเซียทั้งสองท่อ

ท่อส่งก๊าซธรรมชาติรัสเซียไปยุโรปเกิดการรั่วไหล จนมีการตั้งคำถามและกล่าวโทษกันไปมาระหว่างชาติตะวันตกและรัสเซียว่าอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ ทั้งยังมีคำถามในทำนองว่าก๊าซรั่วนี้เป็นอุบัติเหตุหรือเป็นการจงใจทำของใครบางคนหรือไม่

ยุโรปเร่งตรวจสอบหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ หลังพบรอยรั่ว 3 จุดบนท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 2 ท่อที่ลำเลียงก๊าซจากรัสเซียไปเยอรมนี ท่ามกลางความคิดเห็นจากหลายฝ่ายที่เชื่อว่าเป็นฝีมือของใครบางคน

ประเด็นท่อส่งก๊าซรั่วเป็นเรื่องใหญ่ที่แม้แต่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เตรียมจัดประชุมในวันศุกร์นี้ (30 ก.ย.) ตามคำเรียกร้องของรัสเซีย เพื่อหารือเกี่ยวกับความเสียหายของท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีมของรัสเซียทั้งสองท่อซึ่งใช้ส่งก๊าซไปยังยุโรป และเป็นเหตุให้ก๊าซรั่วไหลสู่ทะเลบอลติก

'ท่อส่งก๊าซ'รัสเซียไปยุโรปรั่ว 'วินาศกรรม' หรือ'อุบัติเหตุ'
 

คณะทำงานของฝรั่งเศสประจำสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ซึ่งเป็นประธานหมุนเวียนของ UNSC ที่ประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศในเดือนก.ย.ระบุว่า การประชุมในวันศุกร์นี้ จะหารือเกี่ยวกับท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม ซึ่งรัสเซียและประเทศหุ้นส่วนในยุโรปใช้งบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ในการก่อสร้าง

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า การรั่วไหลของก๊าซ ซึ่งคาดว่าเกิดจากการก่อวินาศกรรมท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีมทั้ง 1 และ 2 เมื่อวันอังคาร (27 ก.ย.) ส่งผลกระทบต่อตลาดพลังงาน และเพิ่มความวิตกด้านความปลอดภัย 

ท่อส่งก๊าซทั้งสองเป็นท่อหลักที่ลำเลียงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังคลังรับจ่ายก๊าซในเยอรมนี เพื่อกระจายต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วยุโรป การรั่วที่หาสาเหตุไม่ได้ครั้งนี้จึงทำให้ยุโรปร้อนรนและเร่งสอบสวนสาเหตุท่ามกลางความกลัวว่า นี่อาจเป็นการก่อวินาศกรรม

นอร์ด สตรีม เอจี หน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินงานท่อส่ง ตรวจพบว่า ระดับแรงดันในท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม2 ลดลงในช่วงคืนวันจันทร์ (26 ก.ย.) และพบรอบรั่ว 1 จุด ในเช้าวันต่อมา (27 ก.ย.) ก่อนจะพบระดับแรงดันในท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 1 ลดลงเช่นกัน และตรวจพบรอยรั่ว 2 รอย รวมพบรอยรั่ว 3 จุด

ตำแหน่งของรอยรั่วบนท่อตรงกับบริเวณที่เป็นทะเลบอลติก ขณะเกิดเหตุท่อส่งก๊าซไม่ได้กำลังทำงาน แต่มีก๊าซธรรมชาติคงเหลืออยู่ในท่อ ทำให้ก๊าซธรรมชาติไหลออกสู่บริเวณดังกล่าวซึ่งเป็นน่านน้ำสากล และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของเดนมาร์กและสวีเดน 

ด้านกองกำลังเดนมาร์ก ได้เผยแพร่ภาพที่แสดงให้เห็นสิ่งที่เป็นเหมือนกับฟองสบู่ลอยฟ่องอยู่บริเวณพื้นผิวทะเลบอลติกเหนือท่อส่งก๊าซ กินพื้นที่ขนาดกว้างเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 1 กิโลเมตร

ขณะที่องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(นาโต) และสหภาพยุโรป (อียู) เตือนถึงความจำเป็นในการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญจากการก่อวินาศกรรม แม้ไม่ได้ระบุว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นฝีมือของใคร 

ที่ผ่านมา รัสเซียปิดท่อส่งที่ลำเลียงก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรปเป็นระยะๆ โดยมักให้เหตุผลว่า “เพื่อการซ่อมบำรุง” หรือ “ปัญหาขัดข้องทางเทคนิค” ทำให้ยุโรปพยายามควานหาแหล่งพลังงานอื่นเพื่อลดการพึ่งพารัสเซีย

ท่อส่งก๊าซทั้งสองเป็นท่อหลักที่ลำเลียงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังคลังรับจ่ายก๊าซในเยอรมนีเพื่อกระจายต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วยุโรป การรั่วที่หาสาเหตุไม่ได้ครั้งนี้ทำให้ยุโรปร้อนรนและเร่งสอบสวนสาเหตุท่ามกลางความกลัวว่า นี่อาจเป็น “การก่อวินาศกรรม”

ด้านนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญ มีความเห็นว่า การรั่วไหลลักษณะนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก ส่วนผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า สาเหตุที่เป็นไปได้ของการรั่วไหลนี้มีตั้งแต่ การทำงานผิดพลาดทางเทคนิค หรือการขาดการบำรุงรักษา ไปจนถึงการก่อวินาศกรรม

“ปีเตอร์ ชมิดต์” ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวจากมหาวิทยาลัยอุปซาลาในสวีเดน ให้ความเห็นว่า ก่อนเกิดเหตุรั่วไหล เครือข่ายแผ่นดินไหวแห่งชาติของสวีเดนสามารถบันทึกแรงสั่นสะเทือนหรือการระเบิดได้ 2 ครั้ง โดยตำแหน่งใกล้กับจุดที่ก๊าซรั่ว แต่ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร

ส่วนศูนย์วิจัยธรณีวิทยาเยอรมัน (จีเอฟซี) บอกว่า เครื่องวัดแผ่นดินไหวบริเวณเกาะบอร์นโฮล์มของเดนมาร์ก ตรวจจับแรงสั่นสะเทือนได้ในเวลา 00:03 GMT และ 17:00 GMT ของวันจันทร์ (26ก.ย.)

ด้าน“บียอนด์ ลุนด์” ผู้อำนวยการเครือข่ายแผ่นดินไหวแห่งชาติของสวีเดน บอกว่า การระเบิดครั้งแรกถูกบันทึกทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะบอร์นโฮล์มของเดนมาร์ก ส่วนการระเบิดครั้งที่สองมีขนาดรุนแรงขึ้น บริเวณทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเดียวกัน ความรุนแรงเทียบเท่ากับแผ่นดินไหวขนาด 2.3 แมกนิจูด โดยสถานีเฝ้าระวังแผ่นดินไหวในเดนมาร์ก นอร์เวย์ และฟินแลนด์ สามารถบันทึกแรงสั่นสะเทือนเหล่านี้ไว้ได้เช่นกัน

“แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่แผ่นดินไหว” ลุนด์กล่าว ซึ่งความเห็นของลุนด์สอดคล้องกับบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของชาติยุโรปและผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ

ขณะที่ “มักดาเลนา แอนเดอร์สสัน” นายกรัฐมนตรีสวีเดน และ“ทารี ออสลันด์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงปิโตรเลียมและพลังงานของนอร์เวย์ ให้ข้อสรุปเดียวกับเดนมาร์ก ว่า เป็นความจงใจของใครบางคน แต่ไม่สามารถระบุตัวได้ และเชื่อว่าไม่ได้เจาะจงประเทศของพวกเขาเป็นพิเศษ

“แคธริน พอร์เตอร์” ที่ปรึกษาด้านพลังงานจากวัตต์-ลอจิก ที่ปรึกษาด้านพลังงานอิสระในสหราชอาณาจักรกล่าวว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมากที่จะเกิดการรั่วไหลหลายรอยในพื้นที่เดียวกัน และนี่เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทุกคนต่างงงในการทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น และอะไรคือแรงจูงใจเบื้องหลัง